ทนายเมย์เสียดาย นิรโทษปชช. ง่ายสุด แต่นักการเมืองไม่สน เผยตอนนี้ ขนุน อดอาหารในคุก

ทนายเมย์เสียดาย นิรโทษปชช. ง่ายสุด แต่นักการเมืองไม่สน เผยตอนนี้ ขนุน อดอาหารในคุก

‘ทนายเมย์’ ย้ำ ‘นิรโทษกรรมปชช.’ ไม่ใช่แก้กฎหมาย – เสียดาย ง่ายสุดแต่นักการเมืองไม่สนใจ พ้อ ‘ขนุน’ อดอาหารประท้วงวันแรก ด้าน ณัฐชนน ลั่น ‘ศึกษา รอเวลา ปัดตก’ ส.ส.เท้ง ร่วมฟัง

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ห้อง 102 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน (6 องค์กร) จัดงาน ‘1 ปีนิรโทษกรรมประชาชน’ เพื่ออัพเดตความคืบหน้า หลังผ่านมาเป็นระยะเวลากว่าหนึ่งปี ที่ได้มีการมีการยื่นเสนอร่างกฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาคดีทางการเมือง ซึ่งในปัจจุบันยังมีผู้ถูกคุมขังโดยไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวเป็นจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศภายในงาน มีการออกบูธจากเครือข่ายต่างๆ อาทิ โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw, สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, Freedom bridge, พิพิธภัณฑ์สามัญชน, แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย เป็นต้น ทั้งนี้มีนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ตัวแทนพรรค นักวิชาการ อาทิ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ตลอดจนประชาชนทั่วไป ร่วมฟังอย่างคับคั่ง

ADVERTISMENT

ซึ่งไฮไลต์คือเวที ‘Exclusive Talk’ แลกเปลี่ยนมุมมองความคืบหน้าของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน โดย น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ หรือ ทนายเมย์ จากศูนย์ทนายฯ ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน, ณัฐฐา อัชฌานุเคราะห์ จากศูนย์ทนาย ร่วมอัพเดตสถานการณ์คดีทางการเมือง, ธี ถิระนัย และ มายด์ ชัยพร อดีตผู้ต้องขังทางการเมือง เล่าเรื่องนิรโทษกรรมกับชีวิตของผู้ดำเนินคดีทางการเมือง, นายณธกร นิธิศจรูญเดช จาก แอมเนสตี้ ประเทศไทย กับหัวข้อ ‘ความหวังผ่านจดหมาย’, นัสรี พุ่มเกื้อ ผู้อำนวยการจากเครือข่ายประชาชนเพื่อสิทธิทางการเมือง หรือ ThumbRights กล่าวในหัวข้อ ‘ทางเลือกอื่นๆ นอกจากการนิรโทษกรรม ?’

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ยังมี นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หรือ เท้ง ผู้นำฝ่ายค้าน หัวหน้าพรรคประชาชน มาร่วมกล่าวในหัวข้อ ‘ฝ่ายค้านและคดีการเมือง’ อีกด้วย

ในตอนหนึ่ง น.ส.พูนสุข กล่าวย้ำว่า การนิรโทษกรรม เป็นการลบล้างผลพวงทางการเมือง เพียงช่วงหนึ่งเท่านั้น ไมใช่การแก้ไขกฎหมาย เป็นเรื่องเล็กๆ ที่นักการเมืองอาจจะไม่สนใจ แต่ทำได้ง่ายที่สุด โดยไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง หรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใด ซึ่งถ้าทำ เราจะมีโอกาสกลับมาค่อยๆ คุยกันได้

“น่าเสียดาย ที่วาระการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าเราไม่ได้ถกเถียงในเรื่องเดียวกัน ง่ายที่สุด อยากให้คุยทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน ซึ่งการนิรโทษกรรมประชาชน เป็นข้อเรียกร้องที่มีมาตั้งแต่ปี 2563”

“เป็นไปได้ว่าจะเข้าสภาฯ ได้อีกทีกลางปีนี้ แต่ว่า บรรยากาศผู้ต้องขัง วันนี้ ขนุน สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ ประกาศอดอาหารวันแรก มีคนป่วยไม่ได้รับการรักษา แค่สิ่งที่เห็นคือการซัพพอร์ตของประชาชนไม่ได้หายไปไหน เรายังเห็นการช่วยเหลือผู้ต้องขัง หวังว่าเราจะค่อยๆ จับมือ หาโอกาสแก้ปัญหานี้ร่วมกันต่อไป” น.ส.พูนสุขกล่าว

จากนั้น นายณัฐชนน ไพโรจน์ อดีตสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ชวนผู้ร่วมงาน ตอบคำถาม ลุ้นรับของรางวัล อาทิ ประเทศไทย มีกฎหมายนิรโทษกรรมมาแล้วกี่ฉบับ ? โดยคำตอบที่ถูกต้องคือ 23 ฉบับ โดยมีผู้ตอบถูก 9 คน

รวมถึงคำถาม อาทิ ‘นิรโทษกรรมในอดีตฉบับใดบ้างที่ไม่นิรโทษกรรมคดี ม.112’ คำตอบคือ นิรโทษกรรมสุดซอย

‘ภาคประชาชนรวบรวมชื่อได้กี่ชื่อ เพื่อเสนอร่างนิรโทษกรรมเข้าสู่สภาฯ?’ โดยคำตอบคือ 36,723 รายชื่อ

‘ปัจจุบันมีผู้ต้องขังทางการเมืองอยู่ในเรือนจำกี่คน?’ โดยคำตอบคือ 44 คน

รวมถึง ‘จริงหรือไม่ เพื่อไทยกำลังจะเสนอร่างนิรโทษกรรมของตัวเอง’ ซึ่งคำตอบคือ ‘จริง’

โดยในตอนหนึ่ง นายณัฐชนนยังกล่าวถึงการยื่น ร่างกฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ด้วยว่า

“1 ปีเหมือนนาน แต่จริงๆ ไม่นาน หลายคนคิดว่าคงมีอะไรอัพเดตเยอะ แต่ความจริงคือ ‘ศึกษา รอเวลา ปัดตก’ ก็อยากจะชวนพวกเราคุยถึงทิศทางในอนาคต”

มีแนวโน้มที่จำนวนคนที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ มากขึ้น รวมถึงผม บางคน 40-50 ปีบ้าง เอาจริงๆ เข้าไป แค่ 4-5 ปีออกมายังไม่รู้โลกภายนอก ดังนั้น เป็นสิบปีไม่ต้องพูดถึง” นายณัฐชนนกล่าว

่ก่อนชวนผู้ร่วมงาน ชู 3 นิ่ว เพื่อแสดงความนึกถึงผู้ที่อยู่ในเรือนจำ

นายณัฐชนนกล่าวด้วยว่า เราต้องคิดหาทางออกเพื่อแก้ไขเรื่องนี้

“อยากชวนทุกคนร่วมกันนั่งคิด ว่ามีทางไหนที่เราจะเอาเพื่อนๆ ออกจากเรือนจำ ให้เขากลับมามีชีวิตที่ปกติ” นายณัฐชนนกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image