อังคณา ดึงสติ เพื่อนส.ว.สีน้ำเงิน ฟ้องปิดปากรมว.ยุติธรรม แนะควรใช้โอกาสนี้พิสูจน์ตัวเอง
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรณี นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา นำทีม ส.ว.สายสีน้ำเงิน ตั้งโต๊ะแถลงข่าวตอบโต้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จ่อนำคดีโพยฮั้วเลือก ส.ว.เป็นคดีพิเศษว่า กรณีข่าว ส.ว.จะล่ารายชื่อถอดถอนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะเปิดอภิปรายในสภา และจะฟ้องร้องดำเนินคดีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมนั้น ส่วนตัวไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะการโต้กลับลักษณะเช่นนี้อาจถูกมองว่าเป็นการแก้แค้น หรือตอบโต้ (reprisal) เพื่อไม่ให้มีการตรวจสอบ อีกทั้งที่ผ่านมาสังคมได้มีการตั้งคำถามถึงการเลือกและการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ว.มาโดยตลอด การตรวจสอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงอาจเป็นหนทางหนึ่งที่สมาชิกวุฒิสภาทุกคนจะได้พิสูจน์ตัวเองเพื่อให้สังคมได้ทราบข้อเท็จจริง ซึ่งหากไม่เป็นความจริงตามที่ถูกกล่าวหา ผู้กล่าวหาก็จำเป็นต้องชดใช้เยียวยาความเสียหาย และคืนศักดิ์ศรีให้ ส.ว.ทุกท่านที่ถูกกล่าวหา
ส่วนเรื่องที่ ส.ว.ต้องการฟ้องร้องดำเนินคดีผู้กล่าวหานั้น ส.ว.ที่จะฟ้องคดีจำเป็นต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง เนื่องจากการขู่จะดำเนินคดีกับผู้กล่าวหา อาจเข้าข่ายเป็นการฟ้องเพื่อปิดปาก หรือการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ (SLAPP) เนื่องจากกรณีนี้สังคมให้ความสนใจอย่างมาก และ ส.ว.เองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นนี้มาโดยตลอด ส่วนตัวมีความเห็นว่าสิ่งที่ ส.ว.ควรทำ คือ การชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมกับยอมรับการตรวจสอบจากทุกฝ่ายเพื่อแสดงความบริสุทธิ์
ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมต้องเป็นกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็เพราะ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ให้อำนาจ DSI ในการทำคดีที่ซับซ้อน คดีที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล หรือคดีที่มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก นอกจากนั้น DSI ยังมีอำนาจในการให้ความคุ้มครองพยาน เพื่อให้พยานรู้สึกปลอดภัยและสามารถให้การเป็นพยานในชั้นศาลได้ … เรื่องนี้ ส.ว.ที่จะลงชื่อฟ้องคดีกับผู้กล่าวหา จึงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการป้องกันตนเอง กับประโยชน์ที่สาธารณะจะพึงได้รับ เนื่องจากสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของสมาชิกวุฒิสภาทุกบาททุกสตางค์ล้วนมาจากภาษีของประชาชน ประชาชนจึงต้องสามารถตรวจสอบการทำหน้าที่ของ ส.ว.ผ่านกลไกต่างๆ ได้ อีกทั้งเรื่องนี้ก็ได้มีผู้ไปร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษและ กกต.แล้ว จึงควรทำความจริงให้ปรากฏ การปกป้องศักดิ์ศรีของตนเอง กับการปิดกั้นประโยชน์สาธารณะ จึงเป็นคนละเรื่อง และในฐานะที่ ส.ว.ได้ชื่อว่า ส.ว.ของประชาชน จึงควรถ่อมตน ใจกว้าง และยอมรับการตรวจสอบ เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส และเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย และอย่างที่ได้พูดไปแล้วคือ หากสุดท้ายข้อกล่าวหาดังกล่าวพิสูจน์แล้วไม่เป็นความจริง ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็จะต้องชดใช้เยียวยา และคืนศักดิ์ศรีให้กับวุฒิสมาชิกที่ถูกกล่าวหาทุกคน
เรื่องนี้ถือเป็นหลักการพื้นฐานของหลักนิติธรรมที่ทุกคนต้องเคารพ