หมายเหตุ – รายละเอียดเอกสารที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 ส่งถึงประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่อง แจ้งความคืบหน้าผลการสืบสวน และขอความเห็นการดำเนินคดี รวมถึงอ้างถึงหนังสือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ลับ ด่วนที่สุด ที่ ลต… ลงวันที่22 มกราคม 2568 กรณีการตรวจสอบคำร้องขอความเป็นธรรม เกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567
ตามหนังสือที่อ้างถึงสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคำร้องแต่ละคำร้องที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรับไว้ดำเนินการ รวมทั้งขอทราบว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว โดยขอให้ส่งข้อมูลภายในวันที่ 24 ม.ค.2568 ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น
กรมสอบสวนคดีพิเศษขอแจ้งข้อมูล ดังต่อไปนี้
1.กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับคำร้องขอความเป็นธรรม จำนวน 3 คำร้อง โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.1 กรณี พล.ต.ต. … ผู้ร้อง มีหนังสือฉบับลงวันที่ 18 มิ.ย.2567 ขอความเป็นธรรม จากการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2567 ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาจังหวัดปทุมธานี จากการที่มีกระบวนการหรือพฤติการณ์ที่ไม่ชอบธรรม และฉบับลงวันที่ 24 มิ.ย.2567 กรณีพบเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (คำร้องที่ 1099/2567)
1.2 กรณี นายภัทรพงษ์ … ผู้ร้อง มีหนังสือฉบับลงวันที่ 9 ก.ค.2567 ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2567 และได้สมาชิกวุฒิสภา จำนวน 200 คนพบข้อพิรุธในกระบวนการในการเลือก (คำร้องที่ 1193/2567)
1.3 กรณีนายทินกร … ผู้ร้อง มีหนังสือฉบับลงวันที่17 ก.ค.2567 ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา สาย ข กลุ่มที่ 1และกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่อาจมีกรณีความผิดต่อกฎหมาย (คำร้องที่ 1268/2567) และฉบับลงวันที่ 17 ก.ค.2567 ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา กลุ่มที่ 18 และคัดค้านการประกาศรับรองผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (คำร้องที่ 1269/2567)
2.เมื่อวันที่ 4 ก.ย.2567 อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมีข้อสั่งการท้ายหนังสือกองกิจการอำนวยความยุติธรรมที่ ยธ. … ลงวันที่ 14 ส.ค.2567 อนุมัติให้กองกิจการอำนวยความยุติธรรมดำเนินการสืบสวน ตามมาตรา 23/3 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวน คดีพิเศษ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กรณี การคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่มีกระบวนการหรือพฤติการณ์ที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ซึ่งมีพฤติการณ์อันอาจเป็นความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 และประมวลกฎหมายอาญา และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ลงนามในคำสั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ …ลงวันที่4 ก.ย.2567 แต่งตั้งคณะพนักงาน สืบสวน ตามมาตรา 23/1 วรรคสอง เป็นเรื่องสืบสวนที่ …
3.เลขสืบสวนที่ … ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสืบสวน และกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ทำการสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน กล่าวคือ การบันทึกถ้อยคำพยานบุคคล การตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานทางดิจิทัล การตรวจสถานที่เกิดเหตุ สถานที่จัดฮั้วสมาชิกวุฒิสภา การตรวจสอบพยานหลักฐานที่เป็นเอกสารเกี่ยวกับโพยสมาชิกวุฒิสภา และการตรวจสอบบุคคลที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ฮั้วสมาชิกวุฒิสภา และผลการสืบสวนปรากฏข้อเท็จจริง ดังนี้
การสืบสวนเลขสืบสวนที่… พิจารณาจากพยานหลักฐานในชั้นนี้ ปรากฏข้อเท็จจริง เชื่อได้ว่ามีขบวนการในรูปแบบคณะบุคคล มีการจัดตั้งเครือข่ายขบวนการซึ่งปกปิดวิธีการ มีวัตถุประสงค์เพื่อฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 เพื่อได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
โดยมีการวางแผนสลับซับซ้อน ทราบเฉพาะในกลุ่มขบวนการ กล่าวคือ ขบวนการได้จัดการให้มีผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาในระดับอำเภอ โดยสมัครกลุ่มละ 5 คน รวม 100 คน ในระดับอำเภอ 928 อำเภอ (หลักเกณฑ์รอบเข้าเลือกได้ 5 คน) จึงทำให้บางจังหวัดมีผู้สมัครจำนวนมาก สำหรับค่าตอบแทนนั้น ระดับอำเภอ จำนวน 5,000 บาท ระดับจังหวัด จำนวน 10,000 บาท และระดับประเทศ จำนวน 40,000-100,000 บาท และถ้าได้สมาชิกวุฒิสภามากกว่า 120 คน จะได้เพิ่ม จำนวน 100,000 บาท
หลังจากวันที่ 16 มิ.ย.2567 ภายหลังผ่านการคัดเลือกระดับจังหวัด ขบวนการได้นัดหมายผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา ระดับประเทศ ไปจัดทำโพยฮั้วสมาชิกวุฒิสภาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดนครนายก ในวันที่ 24 มิ.ย.2567 เวลา 16.00 น. ซึ่งมีการจ่ายเงินสดเป็นมัดจำ จำนวน 20,000 บาท ส่วนที่เหลือได้รับภายหลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งรับรองผลเลือกแล้ว
จากการสืบสวนพบว่า โพยฮั้วสมาชิกวุฒิสภามีหมายเลข จำนวน 2 ชุด กลุ่มละ 7 คน รวม 140 คนและในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ระดับประเทศ พบว่าขบวนการจัดตั้งมีจำนวนผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งอยู่ในขบวนการ จำนวนประมาณ 1,200 คน
ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2567 เวลา 05.00 น. ขบวนการได้แจกเสื้อสีเหลือง ให้กับผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา ระดับประเทศ และขบวนการได้อำนวยความสะดวกโดยจัดหารถตู้โดยสารส่งผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา ระดับประเทศ เดินทางไปเมืองทองธานีเพื่อเลือกสมาชิกวุฒิสภา ระดับประเทศ และผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภาในรอบเช้าและรอบไขว้ เป็นไปตามโพยฮั้วสมาชิกวุฒิสภาทุกประการ
สำหรับโพยฮั้วสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 2 ชุด กลุ่มละ 7 คนนั้น พบว่าเป็นผู้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 138 คน และอยู่ในลำดับสำรอง 2 คน
กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2563 มาตรา 977 (3) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 (ความผิดฐานอั้งยี่) และความผิดฐานฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ.2542
เนื่องจากการกระทำความผิดของกลุ่มขบวนการในครั้งนี้ มุ่งหวังเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ กระทำผิดต่างกรรมต่างวาระ กระทำผิดต่อกฎหมายหลายฉบับ โดยทราบว่ามีการวางแผนมาตั้งแต่ก่อนเริ่มกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ต่อเนื่องมาจนถึงภายหลังจากการเลือกสมาชิกวุฒิสภาเสร็จสิ้นแล้ว มีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรม มีการแบ่งแยกหน้าที่ มีฝ่ายไอทีเตรียมโปรแกรมคำนวณการลงคะแนน ออกเป็นโพยฮั้วเพื่อให้ได้ผลลัพธ์จำนวนสมาชิกวุฒิสภาตามที่ต้องการ เตรียมบุคคลที่มาลงคะแนนที่เรียกว่ากลุ่ม “พลีชีพ” ดังนั้น ในการดำเนินการกับขบวนการดังกล่าว จึงต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนเป็นพิเศษ ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขตามกฎหมายที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะรับดำเนินการสอบสวนเป็นคดีพิเศษได้
กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงประสงค์ที่จะรับดำเนินการสอบสวนในส่วนที่พบการกระทำผิดทางอาญาไว้ดำเนินการ เนื่องจากกลุ่มขบวนการมีการวางแผนที่สลับซับซ้อน กระทำการอุกอาจมิได้เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง มีความเกี่ยวข้องกับบุคคลที่ยังไม่ได้พิสูจน์ทราบอีกจำนวนมาก จำเป็นต้องใช้วิธีการรวบรวม หลักฐานเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบร่องรอยการติดต่อสื่อสาร เส้นทางการเงิน สถานที่จัดประชุม วางแผน สถานที่พบปะติดต่อ พิสูจน์ทราบกลุ่มบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านไอที ที่เข้ามาร่วมสนับสนุนการกระทำความผิดของกลุ่มขบวนการ
ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษมีความพร้อมด้านบุคลากรและเครื่องมือทางด้านเทคโนโลยีที่จะใช้ในการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ทราบเครือข่าย และองคาพยพของกลุ่มขบวนการทั้งหมด นอกจากนี้ พยานสำคัญอาจจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการให้ความคุ้มครองพยาน เพราะเหตุที่พยานอาจเกรงกลัวต่ออันตรายแก่ชีวิตร่างกาย ประกอบกับการกระทำผิดทางอาญาดังกล่าวกระทำต่อบทกฎหมายอื่น นอกจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ที่อยู่ในอำนาจ หน้าที่โดยตรงของ กกต. จึงควรให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนดำเนินคดีอาญา ตามความผิดที่พบดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
ทั้งนี้ หาก กกต.พิจารณาแล้วมีความเห็นประการใด กรมสอบสวนคดีพิเศษขอความอนุเคราะห์ให้ กกต.ได้กรุณาแจ้งยืนยันมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ภายในวันที่ 10 ก.พ.2568 ว่ามีความผิดทางอาญาใดบ้างที่ กกต.ประสงค์จะรับไว้ดำเนินการสอบสวนเอง และความผิดทางอาญาใดบ้างที่ กกต.ประสงค์จะให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้ดำเนินการสอบสวน หรือ กกต.จะรับดำเนินการสอบสวนเองในการกระทำความผิดทางอาญาทุกข้อกล่าวหาทุกฉบับกฎหมาย หรือประสงค์จะให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนในการกระทำความผิดทางอาญาทุกข้อกล่าวหาและทุกฉบับกฎหมาย เพื่อที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจักได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป