เปิดเส้นทาง คดีโพยฮั้วเลือกตั้งส.ว. ดีเอสไอชงเป็น คดีพิเศษ บอร์ดกคพ. โหวต ‘รับ -ไม่รับ’
กำลังกายเป็นวาระร้อน กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเรื่องร้องเรียนการทุจริตเลือกตั้งวุฒิสภา หรือคดีโพยฮั้วเลือกตั้ง ส.ว.ซึ่งดีเอสไอได้ตั้งคดีสืบสวนไว้แล้ว ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ นั้นระบุว่าถ้าลักษณะหรือพฤติการณ์ คดีนั้นไม่เข้าข่ายความผิดตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ก็จะต้องนำเข้าเป็นคดีพิเศษในฐานความผิดอาญาอื่น ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547
สำหรับขั้นตอนการรับคดีพิเศษ มาตรา 21 (2) นั้น ผู้สื่อข่าว มติชนออนไลน์ ได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่า การเสนอคดีดังกล่าวนั้นทางหน่วยงานของดีเอสไอที่รับผิดชอบในคดีนั้น จะประมวลเรื่องการสืบสวนข้อเท็จจริง เสนอมายังเลขานุการคณะกรรมการคดีพิเศษ ซึ่งเป็นโดยตำแหน่ง คือ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
จากนั้น ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการคดีพิเศษ จะบรรจุวาระ เข้าที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) เมื่อถึงเวลาพิจารณาจะมีการนำเสนอ พฤติการณ์ และข้อกล่าวหา เพื่อให้ที่ประชุมลงมติ ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการ นั้นก็คือ 15 เสียง
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการประชุม อาจจะมีซักถามจากคณะกรรมการ หากมีข้อท้วงติง หรือหากยังไม่สามารถหาพยานหลักฐานมานำเสนอได้เพียงพอ ในที่ประชุมฝ่ายเลขา สามารถถอนวาระดังกล่าวออกจากการพิจารณา เพื่อให้เจ้าของเรื่องไปดำเนินการหาข้อมูลเพิ่ม หรือหากมีบุคคลใดเห็นว่าเรื่องดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องเสนอ คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) เนื่องจากเข้าข่ายความผิดตามบัญชีแนบท้ายอยู่แล้ว พนักงานสอบสวนสามารถทำได้ทันทีตามขั้นตอนตามมาตรา 21 (1)
ทั้งนี้ หากที่ประชุมลงมติโหวต ลงคะแนนเสียง ตามกฎหมายกำหนด ต้องได้เสียงโหวต 2 ใน 3 ของทั้งหมด คือคณะกรรมการคดีพิเศษ 15 คน จาก 22 คน
ต่อมา ในวันรุ่งขึ้น จะต้องประกาศในราชกิจจานุเษกษา ตามขั้นตอนการรับคดีพิเศษ ของ พ.ร.บ.สอบสวนคีพิเศษ มาตรา 21 (2) พร้อมทั้งแจ้งไปยัง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อรับทราบว่าคดีดังกล่าว ดีเอสไอได้รับเป็นคดีพิเศษ จากนั้นให้ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการพิจารณา ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 ว่ามีความเห็นอย่างไร
หลังจากนั้น ดีเอสไอจะมีการแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อรับผิดชอบคดี ซึ่งจะต้องมีพนักงานอัยการ ร่วมสอบสวน ดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนปกติ คือ เรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องสอบปากคำ ประกอบสำนวน คดีอย่างเป็นทางการ รวมถึงการเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้อง มาแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งมีระยะเวลา 1 ปี ตามกรอบของกฎหมายการสอบสวน
อย่างไรก็ตาม หากสอบสวนไปแล้วพบว่า มีเจ้าหน้าที่ กกต. หรือ เจ้าหน้าที่รัฐ เข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด พนักงานสอบสวนดีเอสไอจะต้องส่งสำนวนไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.ภายใน 30 วัน หลังจากนั้นทาง ป.ป.ช.จะพิจารณาว่าจะรับไปดำเนินการเอง หรือมอบให้ดีเอสไอกลับมาดำเนินการ
แต่หากไม่พบเจ้าหน้าที่ กกต.เกี่ยวข้อง ก็ดำเนินการสอบสวนตามปกติ คือ สรุปสำนวนสั่งฟ้อง ส่งอัยการ เข้าสู่การพิจารณาของศาล
ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ วันที่ 25 ก.พ. เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม นั่งเป็นประธาน ต้องลงดูมติที่ประชุมในเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง