ปชน.สงสัยกกต.แกล้งลืม ดีเอสไอ ต้องทำคดี ฮั้วส.ว. ย้ำอีก สภาสูงจำเป็นต้องมีไหม
เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษเพื่อมีมติให้คดีเกี่ยวกับการตรวจสอบการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 เป็นคดีพิเศษว่า ต้องย้อนกลับไปมองว่าเรื่องนี้เคยเข้าสู่กระบวนการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้ว จึงอยากตั้งคำถามถึงการทำงานของ กกต.ว่าได้ทำงานอย่างรวดเร็วเท่าเทียมกันในทุกกรณีหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีหลายเรื่องที่ กกต.ทำงานเร็วมาก แต่ก็มีอีกหลายเรื่องที่ กกต.เหมือนจะแกล้งลืมและใช้เวลาเนิ่นนาน
นายปกรณ์วุฒิกล่าวต่อว่า ส่วนดีเอสไอมีอำนาจหรือไม่นั้น ตนคิดว่าเป็นเรื่องทางกฎหมายที่พอจะสามารถถกเถียงกันได้ แต่เราก็ต้องตั้งคำถามว่าที่ผ่านมา กกต.ทำอะไรอยู่ ทั้งที่เรื่องนี้เคยถูกส่งเข้าไปนานแล้ว และสิ่งที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนในกรณีนี้คือที่มาของ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้ตอบโจทย์อะไรเลย และนำมาซึ่งปัญหามากมาย
“ฉะนั้น จึงอยากตั้งคำถามให้สังคมคิดคำนึงอีกครั้งว่าตกลงแล้วคำว่า ส.ว.เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยด้วยกติกาเช่นนี้นั้นตอบโจทย์หรือไม่ การเลือกตั้ง ส.ว.ตอบโจทย์หรือไม่ เรายังจำเป็นต้องมีสองสภาอยู่หรือไม่ ผมคิดว่าปัญหาครั้งนี้จะเป็นสัญญาณให้สังคมกลับมาขบคิดกันอีกครั้งถึงการดำรงอยู่ของ ส.ว.และที่มาของ ส.ว.” นายปกรณ์วุฒิกล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่ ส.ว.จะมีการอภิปราย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ฝ่ายค้านจะมีการพูดคุยกันหรือไม่ นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า ตนคิดว่าเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญของ ส.ว. ซึ่งเราคงจะไม่ไปยุ่งหรือก้าวก่ายอะไร และเป็นหน้าที่ของ พ.ต.อ.ทวีที่จะไปชี้แจงเอง
เมื่อถามว่า มองอย่างไรกับภาพที่ปรากฏออกมาซึ่งทำให้มีการวิเคราะห์กันว่าเป็นเหมือนการงัดข้อกันระหว่างผู้มากบารมีทางการเมืองสองคน นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า วนกลับมาที่เดิมว่าตกลงแล้วที่มาของ ส.ว.เหมือนที่รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดไว้ และเรายืนยันว่าต้องแก้ไข สรุปแล้วที่มาของ ส.ว.ตอบโจทย์การทำงานในสภาจริงหรือไม่ ข้อครหาที่บอกว่า ส.ว.อยู่ภายใต้อาณัติของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ก็มีการพูดกันอย่างกว้างขวาง
นายปกรณ์วุฒิกล่าวต่อว่า ฉะนั้น จึงต้องย้อนกลับมาอีกครั้งว่าตกลงแล้วกติกาเรื่องที่มาของ ส.ว.นั้น จริงๆ ควรจะเป็นเช่นนี้หรือไม่ เพราะ ส.ว.ก็ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่เข้ามาด้วยวิธีอะไรไม่รู้และไปทำอะไรไม่รู้ อยากฝากถึง กกต.อีกรอบว่านอกจากเรื่องการทำหน้าที่แล้ว จริงๆ ตนคิดว่า กกต.ไม่ใช่เป็นหน่วยงานที่แค่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำตามกฎหมายที่ระบุ ซึ่งเวลามีการเลือกตั้งรัฐบาลก็อาศัยความเห็นจาก กกต.
“ฉะนั้น กกต.ควรจะให้ความเห็นได้ตั้งแต่แรกว่าวิธีเช่นนี้ไม่เวิร์ก ไม่ใช่บอกว่าทำกติกาทุกอย่าง ทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากเป็นเช่นนี้เอาเอไอมาเป็น กกต.ก็ได้ ไม่ต้องใช้คน” นายปกรณ์วุฒิกล่าว
เมื่อถามว่า การงัดข้อกันของผู้มากบารมีทางการเมืองทั้งสองคนจะทำให้ถึงขั้นเปลี่ยนขั้วรัฐบาลเลยหรือไม่ นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า นี่เรากำลังคุยเรื่องกติกา ส.ว.ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ใช่หรือไม่ ตนขอย้อนกลับไปอีกรอบว่า กติกาที่มาของ ส.ว.เช่นนี้มีปัญหาแน่นอน ส่วนจะงัดข้อกันถึงขั้นเปลี่ยนขั้วรัฐบาลหรือไม่นั้น ตนยืนยันว่าเราพร้อมที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งและให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจอีกครั้งว่าจะให้ใครเป็นผู้นำรัฐบาล ใครเป็นตัวแทนของพวกเขา
“จะเปลี่ยนขั้วหรือไม่เปลี่ยนขั้วก็ตาม พักประชาชนยืนยันว่าในสภาชุดนี้ เราไม่เข้าไปร่วมรัฐบาลแน่นอน” นายปกรณ์วุฒิกล่าว