กมธ.มั่นคงฯ ยื่น ร่างกม.แก้วิธีพิจารณาความอาญา 2 ฉบับ ให้ อัยการ-ตร.ทำคดีร่วมกัน แก้ปัญหาแพะ 

กมธ.มั่นคงฯ ยื่น ร่างกม.แก้วิธีพิจารณาความอาญา 2 ฉบับ ให้ อัยการ-ตร.ทำคดีร่วมกัน แก้ปัญหาแพะ 

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ….. และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ….. ต่อนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 จำนวน 2 ฉบับ

โดยนายรังสิมันต์ กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนั้น เป็นเรื่องของการทำให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากยิ่งขึ้น หากร่างนี้ได้มีการบังคับใช้เป็นกฎหมาย ทั้งอัยการและตำรวจจะทำสำนวนคดีร่วมกัน และในหลายประเทศก็มีการใช้ โดยปัญหาอย่างหนึ่งของบ้านเราคือตำรวจทำสำนวนไป ส่งให้อัยการ บางครั้งอัยการก็ตีกลับ ซึ่งวิธีการแบบนี้บางครั้งไม่ได้เป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชน และยิ่งกว่านั้นเมื่อตำรวจส่งสำนวนให้อัยการ บางอัยการที่ไม่ได้ทำสำนวนมาแต่ต้น เขาก็จะไม่ทราบในรายละเอียดทั้งหมดและจะมีปัญหาในแง่ของการติดตามพยานหลักฐานหรือรายละเอียดต่างๆของคดี ซึ่งตนคิดว่าการมาร่วมกันทำตั้งแต่ต้นจะเป็นการยกระดับกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยให้เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน และคิดว่าหากทำสำเร็จจะเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมครั้งใหญ่ของประเทศไทยได้

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ยืนยันว่าต่อไปนี้หากได้ยินเสียงบ่นว่าตำรวจส่งสำนวนอ่อนมาให้กับอัยการ หรือไม่เอาพยานหลักฐานใส่เข้ามาปัญหาเหล่านี้จะหมดไป ตนคิดว่าครั้งนี้เป็นการปฏิรูปที่สำคัญและขอบคุณทุกฝ่ายที่สนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งคนที่เซ็นชื่อในกฎหมายฉบับนี้มีทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล จึงเห็นได้ว่ากฎหมายฉบับนี้ทุกฝ่ายเห็นด้วย และจากนั้นจะประสานไปยังคณะกรรมการประสานงานทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อผลักดันเข้าสู่วาระการประชุมสภาที่เร็วที่สุด

ADVERTISMENT

ด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ในฐานะที่ปรึกษากมธ. กล่าวว่า ร่างดังกล่าวเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในส่วนว่าด้วยการสอบสวนประมาณ 5-6 มาตรา ซึ่งปัญหาที่มีแพะ อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลยกฟ้อง ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปหากร่างกฎหมายนี้ผ่าน และสาระสำคัญเรื่องการตรวจสอบการสอบสวน ที่ปัจจุบันตำรวจกับอัยการทำงานคนละส่วนกัน จะจริงหรือเท็จอย่างไรอัยการก็ต้องสั่งฟ้องตามที่ตำรวจเสนอ แล้วไปว่ากันในชั้นศาล ซึ่งหลักคิดที่บอกว่าผิดถูกค่อยไปว่าในชั้นศาลนั้นจะเปลี่ยนแปลงไป ต่อไปนี้ผิดถูกต้องว่ากันในชั้นสอบสวน ทางพนักงานอัยการต้องมีหน้าที่เข้าตรวจสอบคดีสำคัญ โดยเฉพาะคดีฆ่าคนตายต้องเข้าไปตรวจที่เกิดเหตุ หรือคดีที่มีปัญหา อัยการต้องเข้าตรวจสอบได้หมด เพื่อแก้ปัญหาตำรวจไม่รับแจ้งความหรือไม่รับคำร้องทุกข์ ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป

เมื่อถามว่า ถ้ามีคนเห็นแย้งว่าการแยกชั้นตำรวจและอัยการ เป็นการถ่วงดุลกันดีอยู่แล้วจะอธิบายอย่างไร นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเราใช้ระบบแบบนี้มาโดยตลอด และต้องยอมรับว่ามีปัญหาจริง ซึ่งวิธีการที่คิดว่าได้ผลและได้มาจากประเทศที่เขาใช้กันคือทำมาตั้งแต่ต้น โอกาสที่จะมีการจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือโอกาสที่จ่ายเงินให้กับทุกคนจะยากขึ้น เพราะทุกคนเห็นพยานหลักฐานเห็นข้อเท็จจริงต่างๆไปพร้อมกัน รู้กันในระดับที่พอกัน และโอกาสที่จะซื้อบางคน ปิดบังพยานหลักฐานไม่ให้เข้าสู่สำนวนจะทำได้ยากขึ้น ซึ่งตนคิดว่าวิธีการนี้เป็นวิธีการที่ดีที่สุดซึ่งในเมื่อเราดึงให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม และพยานหลักฐานก็ยังมีอยู่รับรู้ในระดับที่เท่ากัน โอกาสที่จะป้องกันการคอรัปชั่นจะมีสูงกว่า

ADVERTISMENT

นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า กฎหมายนี้ถึงแม้จะเป็นเรื่องใหญ่ และมีความสนใจอย่างกว้างขวาง หากแต่ไปดูแลรายละเอียดไม่แก้ไขเยอะ เพราะเป็นการแก้ในจุดสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้เป็นเรื่องมีผลได้ผลเสียทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ฉะนั้น ตนเชื่อว่าน่าจะขอใช้สนับสนุนจากทุกฝ่ายในสภาน่าจะเป็นไปได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image