“สว.อังคณา” บอกตรงๆ ไม่เชื่อ รบ.ส่ง “ชาวอุยกูร์” กลับจีน จะได้รับการดูแลอย่างดี ถาม “นายกรัฐมนตรี” ไปดีลอะไรกับจีนไว้ ซัด “เลขา สมช. – หน่วยงานเกี่ยวข้อง” ให้ข้อมูลเท็จ กมธ.พัฒนาการเมือง สว. บอกเองไม่มีแผนส่งกลับ ย้ำ 40 คนนี้ มี “ติดเตียง” ด้วย ห่วงรัฐบาลถูกประท้วงในหลายประเทศ ฝาก “ทวี” ถ้าให้ช่วยก็ยินดี ลั่น ดิฉันจำหน้าได้เกือบหมด พร้อมเปิดจดหมาย “อุยกูร์” แอบส่งจากห้องกัก ขอประสาน UNHCR กลัวส่งกลับจีนแล้วเข้าคุก-ถูกฆ่า
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ที่รัฐสภา นางอังคณา ลีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว. ) ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา แถลงว่า กมธ.ได้ออกแถลงการณ์แสดงถึงความกังวลและห่วงใยต่อกรณีที่รัฐบาลไทยส่งชาวอุยกูร์ทั้ง 40 คนกลับไปประเทศต้นทาง ซึ่งที่ผ่านมา กมธ.ได้รับหนังสือร้องเรียนจากผู้กักขัง ได้เขียนจากเศษกระดาษส่งมาให้ กมธ.เพื่อส่งต่อกงสุลใหญ่ผู้ภัยสหประชาชาติ (UN) โดยระบุชัดเจนว่าไม่ประสงค์จะกลับประเทศจีน โดย กมธ.ได้ทำหนังสือไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (กต.) ถึง 3 ครั้ง แต่ได้รับการปฏิเสธมาตลอด และเมื่อ กมธ.ประสงค์จะเข้าไปเยี่ยมผู้ลี้ภัย แต่ก็ได้หนังสือตอบกลับมาว่าขอเชิญให้ไปพบที่สำนักงาน ตม.
ดังนั้น กมธ.จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ประกอบด้วย สำนักงาน ตม. สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม โดยทุกหน่วยงานต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และยังยืนยันว่าจะไม่มีการส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศต้นทางอย่างเด็ดขาด
“ดิฉันได้มีโอกาสโทรศัพท์หาเลขาธิการ สมช.ด้วย ก็ได้รับการยืนยันเช่นกันว่า ไม่มีคำสั่งให้ส่งกลับ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เรารู้สึกว่า สิ่งที่รัฐบาลออกมาแถลง เป็นการปกปิดข้อเท็จจริง และที่บอกว่าพวกเขาอยากกลับประเทศ ดิฉันว่าไม่มีใครเชื่อ รวมถึง กมธ.ด้วย เพราะข้อมูลที่เราได้มาตลอดไม่ได้เป็นเช่นนั้น”
นางอังคณากล่าวอีกว่า เมื่อครั้งที่ตนเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยหลายครั้ง ทุกคนแจ้งความจำนงอย่างเดียวคือ ต้องการไปตั้งรกรากถิ่นฐานในประเทศที่สาม โดยเราได้แจ้งทางการไปหลายครั้งว่า มีประเทศที่ 3 ที่แจ้งความประสงค์รับกลุ่มคนเหล่านี้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ แต่ที่รัฐบาลอ้างว่าไม่มีประเทศไหนยอมรับนั้น จึงไม่เป็นความจริง
“เราจึงห่วงใยอย่างมากว่าสิ่งนี้จะกระทบต่อความเชื่อมั่นในเวทีโลก และทำให้เห็นว่าประเทศไทยไม่เป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับคนที่ต้องการลี้ภัย ดิฉันจึงหวังว่ารัฐบาลจะชี้แจงข้อเท็จจริงและนำความจริงมาเปิดเผย เพราะภาพที่เห็น การที่มีคนเข้ามากอดหากดูจากสีหน้าของพวกเขา คิดว่าไม่ได้สมัครใจที่จะไปเลย เพราะญาติพี่น้องของเขาอยู่ประเทศตุรกีอยู่แล้ว และเราก็รู้ดีว่าประเทศจีนมีสถานที่ที่เรียกว่า ‘ค่ายฝึกอบรม’ หากใครเข้าไปแล้วจะไม่ได้รับการเยี่ยมเยียน และไม่ได้รับอนุญาตให้ออกมาข้างนอก และทางยูเอ็นก็ห่วงใยและมีแถลงการณ์ในเรื่องดังกล่าวออกมาหลายฉบับด้วย ดังนั้น การที่รัฐบาลทำเช่นนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง” นางอังคณากล่าว
เมื่อถามว่า ปรากฏภาพนายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปส่งถึงประเทศจีนด้วย ซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่ชี้แจงไว้กับ กมธ.ว่าไม่มีแผนส่งกลับใช่หรือไม่ นางอังคณากล่าวว่า บอกตรงๆ ว่า สิ่งที่ท่านให้ข้อมูลกับ กมธ.เป็นข้อมูลเท็จทั้งหมด และสิ่งที่เราได้รับมาต่างจากที่หน่วยงานรัฐให้ข้อมูล ตนได้โทรศัพท์ไปประสานหลายหน่วยงาน ทั้งระดับรัฐมนตรีจำนวนมาก แต่ไม่มีใครรับสาย ตนทราบว่า เลขา สมช.ไปรอรับที่ประเทศจีนแล้ว และคืนปฏิบัติการเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่ดำเนินการด้านผู้ลี้ภัย ก็ถูกสั่งให้ออกไปนอกอาคาร จนถึงตอนนี้ยังไม่รู้ว่าหน่วยงานใดมารับชาวอุยกูร์ออกไป ที่สำคัญคือรถถูกปิดด้วยเทปสีดำทั้งหมด ทั้งที่ปกติเวลาที่คนพวกนี้ถูกส่งตัวออกไปเขาจะพยายามโผล่หน้าออกมาและร้องขอความช่วยเหลือ แต่การปิดเทปดำ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลพยายามปกปิด
“ไม่มีใครรับได้ ไม่ทราบว่ารัฐบาลไทยไปรับปากอะไรกับรัฐบาลจีนไว้ แต่รัฐบาลจะต้องไม่เอาสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย หรือชีวิตของคนบริสุทธิ์มาแลกเปลี่ยน”
เมื่อถามว่า การที่นายกรัฐมนตรีไปพบประธานาธิบดีประเทศจีน มองว่ามีดีลแลกผลประโยชน์บางอย่างหรือไม่ นางอังคณากล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลจีนพยายามมาโดยตลอดที่จะนำผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้กลับประเทศ ตนเชื่อว่าการที่นายกฯไปพบสี จิ้นผิง น่าจะเป็นการส่งสัญญาณบางอย่าง ส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะมีการเจรจาแลกเปลี่ยน ขอให้ส่งชาวอุยกูร์กลับ เพราะเกิดขึ้นหลังจากที่นายกฯกลับมาไม่นาน
“ใน 40 คนที่ถูกส่งกลับ เท่าที่ทราบ 1 ในนั้นมีผู้ป่วยติดเตียง ดิฉันหวังว่าเขาจะได้รับการดูแลตามหลักมนุษยธรรม และจะไม่ถูกส่งกลับไปด้วย” นางอังคณากล่าว
นางอังคณายังกล่าวว่า กมธ.เคยเรียนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบว่า หากอยากทราบว่าประเทศไหนต้องการรับชาวอุยกูร์บ้าง ทาง กมธ.ยินดีบอก ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างประเทศไม่สามารถเปิดเผยได้ มองว่าหากรัฐบาลไทยมีเจตนาดี กมธ.ยินดีเป็นตัวประสานประเทศที่ 3 ให้พวกเขาไปตั้งรกราก
เมื่อถามว่า กังวลเรื่องเทียร์อันดับการค้ามนุษย์ของไทยจะลดลงหรือไม่ เพราะหน่วยงานที่จัดอันดับคือสหรัฐอเมริกา นางอังคณากล่าวว่า เรื่องนี้มีแถลงการณ์จากหลายหน่วยงาน ทั้งองค์การสหประชาชาติ ข้าหลวงแห่งสิทธิมนุษยชน ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัย (UNHCR) รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้คำค่อนข้างรุนแรง ร้ายแรงที่สุด การที่คนกลุ่มนี้อยู่มา 11 ปี เป็นเหตุผลที่ไทยควรผ่อนปรนให้เขาออกมาอยู่ข้างนอกหรือไปประเทศที่ 3 เรากังวลว่าเขาอาจจะไปเจออันตรายเมื่อเขากลับไป
“ภาพที่ออกมา เรียนตรงๆ ดิฉันไม่เชื่อว่าเขาจะได้รับการดูแลอย่างดี สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ มีศักดิ์ศรีเหมือนคนทั่วไป” นางอังคณากล่าว
เมื่อถามว่า กังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนระเบิดพระพรหมเอราวัณหรือไม่ นางอังคณากล่าวว่า คนอุยกูร์เดินทางออกนอกประเทศ เขาอยู่ในแทบทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลว่า อาจจะมีการประท้วงรัฐบาลไทยในหลายประเทศตามมา ส่วน กมธ.จะติดตามเรื่องนี้อย่างไรนั้น ตนทราบว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม บอกว่าจะนำสื่อไปดู ในฐานะ กมธ.เรายินดีที่จะไปตรวจสอบด้วย แต่ต้องมั่นใจว่าจะได้พบตัวจริง ตอนที่ตนเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชน ตนไปหลายครั้ง จำหน้าได้แทบทั้งหมด รวมถึงจะต้องสามารถไปคุยกับเขาได้โดยที่ไม่มีการดักฟังหรือสอดแนม รัฐบาลจีนควรอนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการคุมตัวโดยพลการของสหประชาชาติเข้าไปตรวจสอบด้วย ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยต้องใจกว้างให้คณะทำงานเรื่องบังคับสูญหาย เข้าไปตรวจสอบสถานการณ์ของคนที่อยู่ในประเทศไทย
ทั้งนี้ นางอังคณาได้เปิดเผยจดหมายที่ชาวอุยกูร์ฝากออกมาจากห้องกักกัน เพื่อให้นำส่ง UNHCR โดยมีใจความว่า พวกเราเป็น 48 ชาวอุยกูร์ที่ถูกกักที่สวนพลู ตั้งแต่ปี 2013 และพวกเราไม่ต้องการที่จะกลับไปประเทศจีน ถ้าเรากลับไปจะถูกจำคุกหรือถูกฆ่า ดังนั้น พวกเราจึงต้องการความช่วยเหลือจาก UNHCR