อนุทิน-วราวุธ ย้ำนายกฯเป็นผู้นำ ออกโรงป้องศึกซักฟอก รมต.พร้อมชี้แจงเรื่องที่ถูกพาดพิง
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่หอประชุมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีคนเดียวว่า การอภิปรายนายกฯก็ดีอย่างหนึ่ง สำหรับพวกตนในฐานะหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ต้องสนับสนุนให้ข้อมูลให้กำลังใจ ประคับประคองทุกอย่างกับนายกฯ เพราะถ้านายกฯไม่รอดคนเดียว ก็ไม่เหลือใครสักคนในรัฐบาล เพราะฉะนั้นทุกคนต้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่อยู่แล้ว
การเล่นการเมืองก็ไม่มีเชื่อว่าถ้านายกฯถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจท่านเดียวในครั้งนี้ อย่าไปมองว่าทุกอย่างจะไปลงที่นายกฯ เพราะนายกฯก็คือรัฐบาล รัฐบาลก็คือรัฐมนตรีทุกคน เพราะฉะนั้นถ้าใครถูกพาดพิงเกี่ยวข้องไปถึงตรงไหน รัฐมนตรีของแต่ละกระทรวงจะต้องออกมาชี้แจง เพราะนายกฯไม่มีทางทราบในรายละเอียดเชิงลึกได้ว่าที่มาที่ไปของการกระทรวงนั้นๆ เป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นรัฐมนตรีทุกคนต้องให้การสนับสนุน ให้การชี้แจงในเรื่องที่ถูกพาดพิง
เมื่อถามว่าจะต้องลงมติไว้วางใจนายกฯ ใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า อันนี้ก็ชัดเจนว่าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค ต้องให้ความไว้วางใจนายกฯอยู่แล้ว เพราะปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล และนายกฯเป็นผู้นำ
ผู้สื่อข่าวถามถึงกระทรวงภายใต้สังกัดของพรรค ภท. จะต้องติวข้อสอบให้นายกฯก่อนหรือไม่ เพื่อเตรียมรับมือการอภิปราย นายอนุทินกล่าวว่า นายกฯคงจะตอบในภาพรวม ในเรื่องของนโยบาย แต่ถ้าลงรายละเอียด เช่น กรณีของกระทรวงแรงงาน ขณะนี้มีเรื่องประกันสังคม จะต้องไปกราบเรียนนายกฯ ว่าตรงนี้ไม่ใช่หน้าที่นายกฯต้องตอบ โดย รมว.แรงงานจะต้องมาตอบ แต่ถ้าเป็นเรื่องเขากระโดงตนก็ต้องตอบ เพราะนายกฯจะทราบได้อย่างไรว่ามีรายละเอียดอย่างไร ดังนั้นถ้าพาดพิงรัฐมนตรีที่รับผิดชอบก็ต้องมาตอบ
เมื่อถามถึงกรณีที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ระบุว่าถามคนที่ชื่อแพทองธาร หากใครชื่อแพทองธารก็ให้ลุกขึ้นตอบ นายอนุทินกล่าวย้ำว่า ถ้าเกี่ยวข้องกับใคร คนนั้นก็ตอบ ไม่มีกฎที่ไหนว่าคนนั้นจะต้องตอบได้คนเดียว การอภิปรายในรัฐบาลที่แล้ว หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไหนถูกอภิปราย ก็มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยฯที่กำกับดูแลหน่วยงานนั้นๆ มาตอบแทนได้
เมื่อถามว่าที่ฝ่ายค้านใส่ชื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในญัตติอภิปราย แต่ถูกขวางไม่ให้ใส่ชื่อนายทักษิณเข้าไปในการอภิปรายนั้น นายอนุทินถามกลับว่า ใครขวาง การยื่นญัตติให้กับประธานสภา ทุกอย่างอยู่ในญัตติฉบับนั้นแล้ว ไม่มีอะไร การอภิปรายก็อภิปรายไป หากอยู่ในข้อบังคับก็อภิปรายได้เต็มที่ ถ้าอภิปรายนอกข้อบังคับ ส.ส.ในสภาก็มีสิทธิประท้วงหรือขอให้ไม่พาดพิงบุคคลภายนอก ที่ไม่สามารถเข้ามาแก้ต่างด้วยตนเองได้ว่ากันไป เป็นเรื่องปกติ การอภิปรายแต่ละครั้ง มีการออกนอกกรอบบ้าง ผู้ที่ทำหน้าที่ประธานต้องควบคุมการประชุมให้อยู่ในกรอบไม่มีปัญหาอะไร
เมื่อถามย้ำว่าชื่อของนายทักษิณจะอยู่ในญัตติการอภิปรายครั้งนี้ได้หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ยังไม่เห็น แต่ฝ่ายค้านได้ยื่นไปแล้ว ได้หรือไม่อยู่ที่การอภิปราย หรือถ้าประธานสภาไปพิจารณา แต่สุดท้ายแล้วอภิปราย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ส่วนชื่อของใครจะเป็นองค์ประกอบในนั้น ไม่เกี่ยวข้องอะไรกัน อย่าไปเสียเวลา ก็รีบๆ อภิปราย ประชาชนจะได้รับทราบ นายกฯก็เตรียมตัวชี้แจง รัฐมนตรีและคณะทำงานก็เตรียมชี้แจง อันไหนที่เป็นข้อเท็จจริงที่ถูกโจมตี จะได้ถือโอกาสนี้ชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบ เป็นอย่างนี้ทุกปี ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่ หรือเรื่องที่น่าตกอกตกใจ ต่างคนต่างทำหน้าที่
ขณะที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ให้สัมภาษณ์ว่า การที่ฝ่ายค้านอภิปรายนายกฯคนเดียวไม่ได้แปลว่านายกฯต้องตอบคนเดียว แต่นายกฯมี ครม.ถึง 35 คน พร้อมจะช่วยกันสนับสนุน ภารกิจรัฐมนตรีคนใดมั่นใจว่ารัฐมนตรีคนนั้นจะลุกขึ้นมาตอบด้วยความยินดี ในส่วนพรรคภูมิใจไทยนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้พูดในที่ประชุมขณะรับประทานอาหารร่วมกันว่าจะทำงานกันอย่างเต็มที่ จะลงคะแนนให้กับรัฐมนตรีทุกคนที่ถูกอภิปราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของนายกฯ พรรคภูมิใจไทยจะสนับสนุน 100% จึงมั่นใจว่าปัญหาระหว่าง 2 พรรค จะไม่กระทบกับการลงคะแนน ส่วนพรรค ชทพ.ทั้ง 10 เสียง ลงคะแนนไว้วางใจนายกฯเพราะทำงานตลอด 6-7 เดือน ได้เห็นนายกฯทุ่มเท ทำงานให้กับประเทศ ฉะนั้น ชทพ.ยกมือให้นายกฯแน่นอน
เมื่อถามว่า หากนายกฯถูกอภิปรายหนักๆ จะนำไปสู่การยุบสภาหรือไม่ นายวราวุธกล่าวว่า ตามประสบการณ์ นายกฯหลายคน รวมถึงนายบรรหาร ศิลปอาชา บิดาเมื่อตอนเป็นนายกฯ โดนหนักหนาสาหัสเหลือเกินแต่ทุกคนอดทนอดกลั้น และพรรคร่วมรัฐบาลให้การสนับสนุนจนผ่านพ้นการอภิปรายไปได้ด้วยดี