อนุฯกลั่นกรอง ดีเอสไอ เห็นชอบให้คดีฮั้วสว.เป็นคดีพิเศษ คาดโพย1,200 ชื่อ มาจากรอบสุดท้าย

บอร์ดคณะอนุกรรมการเห็นให้คดีฮั้ว ส.ว. เป็นคดีพิเศษ 6 มี.ค.นี้ ส่วนเอกสารโพย 1,200 รายชื่อพยาน ไม่ได้หลุดจากสำนวนสืบสวนดีเอสไอ คาดมาจากวันคัดเลือก ส.ว.รอบสุดท้าย 800 ราย

เมื่อเวลา 16.20 น. วันที่ 3 มี.ค. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ถนนแจ้งวัฒนะ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะประธานอนุกรรมการกลั่นกรองด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอทั้งหมด 9 ราย และ 4 ผู้แทนหน่วยงาน อันประกอบด้วย สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาเรื่องสืบสวนที่ 151/2567

กรณีการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่มีกระบวนการหรือพฤติการณ์ที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ซึ่งมีพฤติการณ์อันอาจเป็นความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 และประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นไปตามประกาศ กคพ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการร้องขอและเสนอให้ กคพ.มีมติให้คดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษ พ.ศ.2561

ADVERTISMENT

โดยวัตถุประสงค์การประชุมของคณะอนุกรรมการเพื่อให้เกิดความรอบคอบในเรื่องของการดำเนินการในความผิดอาญาที่เป็นภารกิจของดีเอสไอเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษ และเรื่องความผิดที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งตามกฎหมาย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และประกาศคณะกรรมการคดีพิเศษ ที่ให้อำนาจคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาเรื่องหลักใจความสำคัญ คือ 1.เรื่องที่เสนอนั้นเป็นการกระทำความผิดอาญาหรือไม่ และในฐานความผิดใด ระหว่างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 (ฐานอั้งยี่) ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (3) และความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 รวมทั้งมีเหตุสมควรเสนอให้คณะกรรมการคดีพิเศษมีมติให้เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) หรือการเป็นคดีความผิดทางอาญาอื่นหรือไม่

ADVERTISMENT

ร.ต.อ.สุรวุฒิเปิดเผยหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า วันนี้เป็นการประชุมตามที่บอร์ด กคพ.ได้มอบหมายดำเนินการเพื่อให้เกิดความรอบคอบในประเด็นเรื่องอำนาจหน้าที่ จึงได้นำเรื่องเข้าคณะอนุกรรมการวันนี้เพื่อช่วยพิจารณาให้เกิดความรอบคอบอีกครั้ง ซึ่งในที่ประชุมได้มีการพูดคุยตามอำนาจหน้าที่ของเรา ซึ่งกฎหมายได้กำหนดไว้ 3 ข้อ คือ 1.มีการกำหนดไว้ว่าเรื่องดังกล่าวมีความผิดอาญาฐานใดบ้าง ซึ่งกรรมการทุกคนได้เห็นเป็นเอกฉันท์ตรงกันว่า มีความผิดอาญาเกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 (อั้งยี่) มาตรา 116 (ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ) มาตรา 77 (1) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งมีลักษณะเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 ววรคหนึ่ง (ก) – (จ) แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547

เนื่องจากมีผลกระทบเป็นวงกว้าง ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีต่อประชาชน รวมถึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำเสนอต่อบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ในวันที่ 6 มี.ค.นี้ เพื่อให้รับเป็นคดีพิเศษทั้ง 2 กรณี โดยกรณีที่ 1 คือ กรณีการกระทำความผิดทางอาญาอื่นที่เกิดขึ้นจากการอั้งยี่ รวมทั้งการกระทำความผิดที่เป็นการได้มาซึ่ง ส.ว. ตามมาตรา 77 (1) ส่วนกรณีที่ 2 คือ ความผิดฐานฟอกเงิน ซึ่งอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการคดีพิเศษ


ร.ต.อ.สุรวุฒิเปิดเผยอีกว่า ในที่ประชุมของคณะอนุกรรมการได้มีการพูดคุยกันค่อนข้างหลากหลาย โดยเฉพาะได้เปิดมาตรา 44 ที่มีการระบุว่าได้ให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้งในเรื่องใดบ้าง และไม่ได้ตัดอำนาจพนักงานสอบสวนอื่น ขอให้พนักงานสอบสวนอื่นดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งในทางปฏิบัติก็มีเช่นนั้นมาโดยตลอด ยืนยันว่าดีเอสไอไม่ได้ทำเรื่องการเลือกตั้งแต่ทำเรื่องความผิดทางอาญาอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ความเห็นโดยสรุปของคณะอนุกรรมการในวันนี้ เราทำตามหน้าที่ที่บอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษได้มอบหมายความเห็นไปตามที่เรียนแจ้ง

แต่ส่วนบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษจะมีความเห็นอย่างไรก็เป็นในส่วนของบอร์ด คณะอนุกรรมการชุดนี้ไม่สามารถก้าวล่วงได้ ทั้งนี้ โดยปกติแล้วคณะอนุกรรมการมีความเห็นอย่างไร ก็ไม่ได้หมายความว่าบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษจะต้องเห็นแย้งหรือเห็นคล้อยตามด้วย เพราะที่ผ่านมามีทั้งเห็นต่างกันและเห็นร่วมกัน หรือบอร์ดจะไม่เห็นด้วยก็ได้ เพราะอย่างไรแล้วก็ต้องดูความเห็นบอร์ดเป็นหลัก เนื่องด้วยการจะรับหรือไม่รับเป็นคดีพิเศษจะต้องใช้มติ 2 ใน 3 ของบอร์ดดังเดิม คณะอนุกรรมการมีหน้าที่เพียงกลั่นกรองเรื่อง

ร.ต.อ.สุรวุฒิเปิดเผยอีกว่า สำหรับกรณีวันที่ 5 มี.ค. ซึ่งอธิบดีดีเอสไอจะต้องหารือกับประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น ตนในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไม่สามารถทราบรายละเอียดได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ถือเป็นการพิจารณาเรื่องสำนวนสืบสวน ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้มีการชี้แจงในการประชุมของบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษไปแล้ว โดยไม่ได้มีการหารือถึงเรื่องรายชื่อ 1,200 ราย ที่ปรากฏว่าเป็นพยานของดีเอสไอในคดีฮั้ว ส.ว. เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องอนาคต ขอให้มีการรับเป็นคดีพิเศษก่อน พร้อมย้ำว่ารายชื่อดังกล่าวไม่ได้เป็นเอกสารที่หลุดออกมาจากดีเอสไอ

แต่เท่าที่ดูเหมือนจะเป็นเอกสารที่หลุดออกมาจากวันที่มีการประกาศรายชื่อ 800 ราย ที่เข้ารอบสุดท้าย ไม่ได้หลุดมาจากสำนวนการสืบสวนของดีเอสไอ แนวทางของบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ ในวันที่ 6 มี.ค. มีดังนี้ หากรับเป็นคดีพิเศษก็จะมีการสอบสวนโดยคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกับพนักงานอัยการ แต่ถ้าไม่รับเป็นคดีพิเศษก็ต้องมีมติว่าจะส่งต่อหน่วยงานใดดำเนินการแทน ย้ำว่าดีเอสไอทำเรื่องคดีอาญาอย่างเดียว ส่วนเรื่องการเพิกถอนการเลือกตั้งเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่ได้เกี่ยวกับดีเอสไอหรือหน่วยงานใด เพราะเป็นกฎหมายของ กกต.โดยเฉพาะ

นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า การพิจารณาพยานหลักฐานมาจากการสืบสวนสอบสวนของดีเอสไอเป็นหลัก เพื่อให้ที่ประชุมน่าเชื่อว่ามีความผิดอาญาเกิดขึ้น ซึ่งความผิดที่เกิดขึ้นมีทั้งในส่วนของประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเราก็พิจารณาตามพยานหลักฐานทั้งหมด ส่วนหลักฐานจะเป็นอย่างไรและมีอะไรบ้างนั้น ตนไม่สามารถที่จะนำออกมาบอกแก่สื่อมวลชนได้ แต่ในที่ประชุมได้มีการดูและฟัง รับทราบจนเชื่อได้ว่ามันมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น และความเห็นในวันนี้ของเรามีขึ้นเพื่อไปใช้นำเสนอแก่บอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษเพื่อพิจารณา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image