ปารมี ถามเดือด จะเปลี่ยนรูปแบบการสอบเข้ามหา’ลัยอีกแล้วหรือ หลังรมช.ศธ.เล็งใช้โอเน็ตเป็นเกณฑ์เข้ามหา’ลัย-เลื่อนสอบเร็วขึ้น ซัดยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษามากขึ้นไปอีก
จากกรณี นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ออกมาเปิดเผยว่า การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่ามีชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งขาดแรงจูงใจ เนื่องจากไม่สามารถนำคะแนนสอบไปใช้ในการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้ ศธ.จึงคิดแนวทางในการแก้ปัญหา 2 วิธี คือ 1.ปรับปฏิทินการสอบโอเน็ตของนักเรียนม.6 จากเดิม สอบในภาคเรียนที่ 2 มาเป็นสอบในภาคเรียนที่ 1 และ 2.นำคะแนนโอเน็ตในวิชาที่เทียบเคียงกับการทดสอบความถนัดทั่วไปหรือ TGAT และการทดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ เช่น การสอบวิชาภาษาอังกฤษซึ่งมีมาตรฐาน เดียวกับข้อสอบภาษาอังกฤษของ TGAT-TPAT มาใช้ในการเข้ามหาวิทยาลัย
โดยจะเตรียมหารือ กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ ทปอ. ในวันที่ 5 มีนาคม ตามที่เป็นข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ปารมี ไวจงเจริญ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับ
กรณีนี้ดิฉันติดใจว่าจะเปลี่ยนรูปแบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยอีกแล้วเหรอคะ ตามหลักการแล้วควรต้องแจ้งนักเรียนล่วงหน้า 3 ปีนะคะ เพื่อให้นักเรียนได้เตรียมตัวตั้งแต่ ม.4 และอยากเตือนความจำกระทรวงศึกษาธิการว่า เพิ่งเลิกใช้คะแนน ONET เมื่อตอน TCAS 65 นี่เองนะคะ TCAS รอบหน้าคือ TCAS 69 จะเปลี่ยนกันอีกแล้วเหรอคะ เปลี่ยนกลับไปกลับมาบ่อยมาก นโยบายไม่เคยคงที่เลย
และถ้ากระทรวงศึกษา จะนำ ONET มาใช้เป็นองค์ประกอบในการเข้ามหาวิทยาลัย ท่านก็ต้องเลิกสอบ TGAT TPAT และ A-Level ค่ะ เพราะ 1.นักเรียนจะเครียดค่ะ สอบซ้ำซ้อนมากมายเกินไป และ 2.ยิ่งสอบซ้ำซ้อน นักเรียนและผู้ปกครองจะยิ่งเดือดร้อนเพราะมีค่าใช้จ่ายสูง ไม่ใช่แค่ค่าสมัครสอบ แต่ค่าเดินทาง ค่ากิน ค่าเช่าหอพัก (เพราะสนามสอบมักอยู่แต่ในเมืองใหญ่หรือในอำเภอเมือง) เงินทั้งนั้นนะคะ และยิ่งจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา มากๆ ยิ่งขึ้นไปอีก ทุกวันนี้ก็เหลื่อมล้ำมากจนไม่รู้จะมากยังไงแล้วค่ะ
ทุกวันนี้ ระบบ TCAS รอบที่ 1 (รอบ Portfolio) ซึ่งมีข้อดีคือ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับนักเรียนที่เบื่อกับการสอบมากมายหลายอย่างยุบยับ แต่มีข้อที่ทุกฝ่ายควรต้องคำนึงถึงให้มากๆ คือ รอบ Portfolio มีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงที่สูงมาก เพราะกว่าที่เด็ก ม.6 หนึ่งคนจะได้มาซึ่ง Portfolio ที่จะใช้ยื่น เด็กคนนั้นจะต้องมีต้นทุนที่จ่ายในระหว่างทางที่สูงมากทีเดียว เพราะผลงานใน Portfolio ต้องเป็นผลงานที่มีมาตรฐานสูง (อาจต้องถึงผลงานระดับประเทศ) จึงจะฟันฝ่าชนะนักเรียนคนอื่นที่ร่วมยื่นมาด้วยกัน ซึ่งนักเรียนที่ฐานะทางบ้านไม่ดีนัก จะขาดโอกาสตรงนี้ไปอย่างแน่นอน และยังมีประเด็นว่าค่าสมัครรอบ Portfolio ของหลายๆ มหาวิทยาลัยราคาแพงมากอีกด้วยค่ะ
ดิฉันจึงอยากให้กระทรวงศึกษา, กระทรวง อว. และ ทปอ. ร่วมกันคิดทบทวนให้ละเอียดรอบคอบ บนหลักการที่ให้นักเรียนสอบน้อยที่สุด แต่ยุติธรรมมากที่สุด และอยู่บนพื้นฐานของการเปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างเสมอภาค
และในส่วนของกระทรวงศึกษา ที่ต้องการใช้คะแนน ONET เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพการศึกษา ดิฉันคิดว่าเป็นคนละประเด็นกัน ถ้ากระทรวงศึกษาต้องการจะพัฒนาการศึกษาไทยให้ดีขึ้นจริงๆ ท่านควรไปแก้ที่ปัญหาคุณภาพครูและระบบที่ดึงครูออกจากห้องเรียน, หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนที่ต้องสอดคล้องกับโลกยุคใหม่และตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งกระบวนการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ค้นพบตัวเอง ได้แสดงตัวตนที่แท้จริงและฉายพลังแห่งความสามารถที่แท้จริงของตัวเองออกมา กระทรวงศึกษาอย่าทำสิ่งที่ผิดฝาผิดตัวซ้ำซากอีกเลยค่ะ