ปชน. ชี้ปัจจัยตลาดหุ้นตก ไม่ใช่เรื่องโง่หรือฉลาด แต่เป็นการบริหารผิดพลาด

ปชน. ชี้ปัจจัยตลาดหุ้นตก ไม่ใช่เรื่องโง่หรือฉลาด แต่สะท้อนการบริหารผิดพลาด ขาดการกำกับดูแล

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้โพสต์ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาเปิดเผยถึงกรณีตลาดหุ้นไทยปรับลดลงต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม หลุดจาก 1,200 จุด ถือเป็นการปิดตลาดทำจุดต่ำสุดในรอบ 5 ปี ว่า คนที่ฉลาดจะมองเห็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจและมองเห็นสิ่งนี้เป็นโอกาส ส่วนคนที่ไม่ฉลาดก็จะตื่นเต้นและมองไม่เห็นโอกาส ก็แสดงว่าคุณมองไม่เห็นโอกาสในพื้นฐานเศรษฐกิจที่มีอยู่ กับราคาตลาดหลักทรัพย์ที่สะท้อนภาวะเศรษฐกิจหรือไม่

โดยระบุข้อความว่า “[ตลาดหุ้นตกไม่ใช่เรื่องโง่หรือฉลาด แต่คือการบริหารผิดพลาด และขาดการกำกับดูแล]

ตลาดหลักทรัพย์ไทยร่วงต่อเนื่องจนถึงระดับต่ำกว่า 1,200 จุด เท่ากับเมื่อ 13 ปีที่แล้ว หรือ พ.ศ.2555 แต่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง คุณเผ่าภูมิ โรจนสกุล กลับตอบว่า “คนไม่ฉลาดจะตื่นเต้นและมองไม่เห็นโอกาส” ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยบรรเทาสถานการณ์แล้ว กลับยิ่งทำลายความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทยให้ตกต่ำลงไปอีก

ADVERTISMENT

ทั้งที่ในฐานะรัฐบาลผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ควรเริ่มต้นจากการยอมรับฟังข้อเสนอแนะและข้อวิจารณ์ต่อความผิดพลาดในการออกมาตรการของรัฐบาลเอง โดยเฉพาะโครงการ “แจกเงินหมื่น” ที่รัฐบาลดึงดันจะทำ แม้จะมีผู้ทักท้วงตั้งแต่ต้นว่าอาจไม่คุ้มกับต้นทุนทางการคลัง หลังจากนั้น ก็เป็นที่ประจักษ์แล้วจากตัวเลขจีดีพีปี 2567 ทั้งปีที่โตขึ้นมาเพียง 2.5% รั้งท้ายอาเซียน แต่รัฐบาลกลับเพิกเฉย เลือกที่จะเดินหน้าต่อด้วยงบประมาณที่มากขึ้น จนทำให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยและตลาดหุ้นไทยถดถอยในสายตานักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากจะไม่เห็นโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ จากนโยบายรัฐบาลแล้ว อีกสาเหตุที่ทำให้เงินลงทุนหายไปจากตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง คือการที่รัฐบาลละเลยการกำกับตลาดทุนไทยให้เป็นธรรมกับนักลงทุน

ADVERTISMENT

ยกตัวอย่างเช่น สามเดือนที่แล้ว มีเรื่องใหญ่ๆ ที่สะท้อนปัญหา การคุ้มครองนักลงทุนหลายเรื่องที่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย ตั้งแต่กรณี CPAXT ที่เอาบริษัทมหาชนไป ร่วมลงทุนกับบริษัทในครอบครัว นอกธุรกิจหลัก โดยหน่วยงานกำกับอย่าง กลต.ก็รับรองว่า ไม่เข้าหลักเกณฑ์ รายการที่เกี่ยวโยงกัน เพราะมีช่องโหว่ทางกฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ และกรณีผู้บริหารขายหุ้นก่อนประกาศข่าวใหญ่ ที่ทำให้หุ้นตก 19% โดยที่ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ จากหน่วยงานกำกับ และไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในการทบทวน ESG Rating จากตลาดหลักทรัพย์

หรือตัวอย่างล่าสุด เดือนที่แล้วกรณี AOT ที่ประกาศข่าวการช่วยเจ้าสัว Duty Free เลื่อนเงื่อนไขการชำระเงินตามสัญญา ซึ่งเป็นสัดส่วนรายได้ที่สูงถึง 33% ของรายได้รวม โดยที่ AOT ประกาศข่าวสำคัญแบบนี้ ล่าช้าไปเกือบเดือน หลังจากที่บอร์ดมีมติไป ที่ทำให้หุ้นตกลงไป 20% หลังประกาศข่าว แต่หน่วยงานรัฐ ออกมายืนยันว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกฎระเบียบ โดยไม่สนใจถึงสาระสำคัญของการตัดสินใจที่สำคัญแบบนี้

หรือเรื่องพื้นฐานที่ กมธ.การเงินการคลัง ร่วมกับสมาคมนักลงทุนรายย่อย เสนอไปหลายครั้ง ให้มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่า การให้ข้อมูลกับนักวิเคราะห์หรือนักลงทุนรายใหญ่ ก่อนที่บริษัทมหาชนจะประกาศผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์ ควรจะเป็นเรื่องผิดกฎ Insider Trading (หรือการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน) ได้แล้ว เพราะไม่เป็นธรรมกับนักลงทุนรายย่อยที่เข้าถึงข้อมูลสำคัญล่าช้ากว่านักลงทุนรายใหญ่ แต่ประเด็นนี้ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

แต่เพราะ ครม.และรัฐบาล เป็นคนแต่งตั้งกรรมการและกำกับ กลต.และคณะกรรมการ กลต. ก็เป็นคนแต่งตั้ง กรรมการ ตลท. และกำกับการทำงานของ ตลท. ดังนั้น รัฐบาลและรัฐมนตรีกระทรวงการคลังจึงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการกำกับดูแลตลาดทุนไปได้

สุดท้าย ผมยังอยากเห็น ตลาดหุ้นไทย ยังคงเป็นความหวังในการอนาคตให้กับ นักลงทุนไทย ได้อยู่บ้าง ในยามที่ เศรษฐกิจไทยเอง ดูไม่ค่อยมีอนาคตซักเท่าไหร่ จึงต้องขอให้ประชาชนและนักลงทุนรายย่อยช่วยกันผลักดันให้ รัฐบาลและ รมช.คลัง กำกับ และเข้มงวด กับการคุ้มครองนักลงทุนรายย่อยให้มากขึ้น อย่างน้อยก็ขอให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่เคยประกาศไว้ด้วย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image