“กมธ.มั่นคงฯ” ถกผลกระทบส่ง อุยกูร์ กลับจีน โรม ซัดเดือด แกว่งปากหาเสี้ยน! ไปกล่าวหาประเทศอื่นไม่แน่วแน่รับตัว มองจะทำให้ปัญหาเลวร้ายขึ้น ด้าน ทูตรัศม์ ยันทำตามกม.ระหว่างประเทศ การันตีเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
เวลา 0.30 น. วันที่ 6 มีนาคม ที่อาคารรัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม กมธ.ถึงประเด็นการส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศจีนว่า วันนี้ได้เชิญนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง
รวมไปถึงสภาความมั่นคงแห่งชาติ มาชี้แจงเรื่องการส่งอุยกูร์กลับประเทศจีน แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับความร่วมมือ มีเพียงนายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ พ.ต.ต.ปรัชญา ประสานสุข รองผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง มาชี้แจง
นายรังสิมันต์กล่าวว่า เรื่องการส่งอุยกูร์กลับจีนทั้งที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล จะถือเป็นการละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ และมี พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและการอุ้มหาย บังคับภายในประเทศด้วย ดังนั้นเรื่องนี้อาจจะกระทบต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อีกหนึ่งประเด็นที่ต้องพิจารณา คือผลกระทบกับประเทศไทย เพราะตอนนี้เริ่มมีสถานทูตหลายประเทศประกาศแจ้งเตือนคนของประเทศเขาที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทย ให้ระมัดระวัง
ซึ่งมันเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว จึงต้องถามถึงมาตรการในการรับมือ ยอมรับว่าวันนี้เราเอาคนอุยกูร์กลับมา เป็นไปไม่ได้แล้ว ไม่สามารถเริ่มต้นอะไรใหม่ได้ แต่สิ่งที่ต้องบริหารกันต่อไปคือ ผลกระทบที่เกิดขึ้น ทางด้านสังคมและทางด้านของการก่อการร้าย รวมไปถึงด้านมิติเศรษฐกิจต่างๆ และสิ่งสำคัญคือเราอยากรู้ว่าเราได้อะไรจากการทำเรื่องนี้ เพราะราคาที่ประเทศไทยต้องจ่ายมันเป็นราคาที่แพง
เมื่อถามถึงการเรียกร้องให้มีการเปิดกล้องวงจรปิดระหว่างส่งตัว คณะกรรมาธิการจะขอดูด้วยหรือไม่ นายรังสิมันต์กล่าวว่า ยืนยันว่าจะต้องมีการพูดคุยกันในการบริการเพื่อขอดูกล้องวงจรปิดด้วย เพื่อที่จะได้ดูพฤติกรรมระหว่างการส่งตัวว่าเขายินยอมที่จะไปจริงหรือไม่ ตนเชื่อว่ามีแน่นอน แต่อยู่ที่ว่าจะให้หรือไม่ และตนเชื่อว่านี่ไม่ใช่การส่งตัวครั้งแรก ผู้แทนที่เดินทางไปดูได้เข้าไปดู 109 คน
ก่อนหน้านี้หรือไม่ว่าความเป็นอยู่เป็นอย่างไร เพราะตนเชื่อว่าหากจะดูความเป็นอยู่ของ 48 คนที่ส่งไปล่าสุด จะเป็นอย่างไรก็ต้องไปดู 109 คนที่ถูกส่งไปก่อนหน้านี้ ตอนนี้มีภาพออกมาว่าเขาได้เจอครอบครัวเป็นภาพอันหวานชื่น แต่ตนสังเกตหน้าตาของคนที่เดินทางกลับดูไม่เต็มใจ และหน้าตาดูเศร้าหมองไม่ได้มีความสุขกับสิ่งที่เกิดขึ้น ดังนั้น หลายๆ อย่างมันมีพิรุธ รวมถึงจะต้องมีการถามถึงหนังสือสัญญาว่า สรุปแล้วมีจริงหรือไม่และหน้าตาเป็นอย่างไร
เมื่อถามว่า กรณีจะมีการพาสื่อมวลชนไทยไปดูความเป็นอยู่ของชาวอุยกูร์ 48 คน ดูแล้วมันสมเหตุสมผลหรือไม่ นายรังสิมันต์กล่าวว่า เวลาไปดูแบบนั้น มันไม่ใช่วิธีการที่นำไปสู่การตรวจสอบที่แท้จริง เพราะว่าถ้าจะมีการตรวจสอบที่แท้จริงต้องให้อิสระ แต่ตนไม่มั่นใจว่าสื่อมวลชนที่จะไปครั้งนี้จะมีอิสระหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า เอกสารที่ทางจีนการันตีถึงความปลอดภัยของชาวอุยกูร์เพียงพอหรือไม่ นายรังสิมันต์กล่าวว่าความปลอดภัยต้องดูในหลายบริบท ไม่ใช่ดูแค่จากคำสัญญาเท่านั้น เพราะชีวิตคนเวลามันเกิดอะไรไปแล้ว มันเอาคืนไม่ได้ และบริบทหลายอย่างทั้งเรื่องการแอบส่งไปยามวิกาล การติดสติ๊กเกอร์ดำ มันทำให้เราไม่มั่นใจว่ามันเป็นการทำเพื่อคนอุยกูร์จริงๆ
เมื่อถามว่า มีประเทศที่ 3 มีความประสงค์รับตัวจริงหรือไม่ นายรังสิมันต์กล่าวว่า ตั้งแต่สภาชุดที่แล้ว ตอนตนอยู่ในคณะกรรมาธิการกฎหมาย และได้พูดคุยกับ สมช. ยืนยันว่ามีประเทศที่ 3 ประสงค์ที่จะรับชาวอุยกูร์ แต่เราไม่สามารถจะส่งไปได้ เพราะเรากังวลความสัมพันธ์กับจีน
“ไม่ต้องไปโทษคนอื่นว่าเขาไม่แน่วแน่ เพราะการโทษแบบนั้นเป็นการแกว่งปากหาเสี้ยน และการไปตำหนิประเทศอื่นไม่แน่วแน่แก้ไข ไม่แน่วแน่ที่จะรับ ผมงงมากว่าการพูดของคุณเป็นอะไรไปแล้ว คุณจะไปทะเลาะกับคนอื่นทำไม ก็ตอบกันตรงๆ ว่าทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเรื่องนี้ มันเป็นเรื่องที่คุณกังวลว่าจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีน แต่ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้
มันมีวิธีการอย่างไรในการแก้ไข แต่คุณจะไปโทษประเทศอื่น ทั้งสหรัฐอเมริกา ตุรกี ไม่แน่วแน่เพียงพอ มันจะยิ่งทำให้เรื่องนี้เลวร้ายยิ่งขึ้น มันทำให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น” นายรังสิมันต์กล่าว
จากนั้นนายรังสิมันต์ได้เปิดการประชุม โดยนายรัศม์กล่าวชี้แจงว่า การที่จีนให้คำมั่นกับทางการไทยเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่เรามี ทั้งในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เรามีกับจีนและการปกป้องผลประโยชน์ของชาติและประชาชนชาวไทย รวมทั้งเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับชาวอุยกูร์เหล่านั้น ซึ่งทั้งหมดได้ทำไปบนพื้นฐานของกฎหมาย ทั้งกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ