เรืองไกร ร้องวันนอร์ ไม่บรรจุญัตติซักฟอก ยันจ.ม.ตีกลับ ให้ถอดชื่อทักษิณ เกิน 7 วันแล้ว
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2568 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตส.ว. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา ได้ส่งหนังสือขอให้ป.ป.ช. รีบตรวจสอบ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่ามีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 วรรคหนึ่ง (1) หรือไม่ และเพื่อประโยชน์ในการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ขอให้ ป.ป.ช. มีหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้รีบบรรจุญัตติดังกล่าวตามมาตรา 151 แห่งรัฐธรรมนูญ โดยเร็วด้วย
นายเรืองไกร กล่าวว่า กรณีที่ประธานสภาฯ ขอให้ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว โดยนำรายชื่อนายทักษิณ ชินวัตร บุคคลภายนอก ออกจากเนื้อหาญัตติ โดยกล่าวอ้างตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 176 นั้น อาจขัดต่อข้อบังคับฯ เนื่องจาก ข้อ 176 กำหนดว่า เมื่อประธานสภาฯได้ตรวจสอบ หากมีข้อบกพร่องให้ประธานสภาฯ แจ้งผู้เสนอทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับญัตติ และเมื่อประธานสภาฯได้ตรวจสอบความถูกต้องของญัตติแล้ว ให้บรรจุเข้าระเบียบวาระ การประชุมเป็นเรื่องด่วนและแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ
แต่ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในหนังสือด่วนที่สุดที่ สผ 0014/2559 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2568 นั้น ได้อ้างถึงหนังสือของผู้นำฝ่ายค้าน กับคณะ ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 ไว้โดยชัดแจ้ง ดังนั้น หนังสือด่วนที่สุด ที่ สผ 0014/2559 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2568 ที่กล่าวอ้างถึงข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 176 ซึ่งนับจาก 27 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ประธานสภาฯ ได้รับญัตติตามข้อบังคับ 175 แล้วนั้น จึงเป็นการตรวจสอบญัตติ ที่มีข้อบกพร่อง เพราะเป็นการตรวจสอบข้อบกพร่อง นับจากวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 7 มีนาคม 2568 ที่ไม่อยู่ในกำหนดเวลา 7 วันดังนั้น การกล่าวอ้างว่า ตรวจสอบข้อบกพร่องแล้วมีการอ้างถึงบุคคลภายนอก จึงอาจเป็นการที่ประธานสภาฯ ใช้หน้าที่และอำนาจโดยไม่ชอบตามข้อบังคับฯ ข้อ 9 (6) และอาจวางตัวไม่เป็นกลางตาม ข้อ9 (1) ด้วย
ดังนั้น จากข้อเท็จจริงตามหนังสือ เมื่อพิจารณากับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับฯ และมาตรฐานทางจริยธรรมฯแล้ว อาจทำให้สาธารณชนเข้าใจได้ว่า ข้อกล่าวอ้างของประธานสภาฯ มิอาจรับฟังได้ มีเจตนาหาเหตุจะไม่บรรจุญัตติ โดยการกล่าวอ้างที่มีพฤติการณ์จงใจฝ่าฝืนข้อบังคับฯ ข้อ 176 เข้าข่ายไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่เป็นกลาง และเข้าข่ายเพื่อหาเหตุมาเอื้อประโยชน์ให้กับนายกรัฐมนตรี หรือไม่ กรณีจึงมีเหตุอันควรขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ว่ามีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 วรรคหนึ่ง (1) หรือไม่