เลขาสภา ขีดเส้นเท้ง 17 มีนา ถอดชื่อทักษิณ พ้นญัตติซักฟอก ไม่งั้นส่อไม่ทัน
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 11 มีนาคม 2568 ที่รัฐสภา นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงกรณีหนังสือโต้แย้งของ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กรณีที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร วินิจฉัยให้แก้ไขข้อบกพร่องในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ว่า กรณีที่ฝ่ายค้านแย้งในอำนาจของประธานสภา ว่ามาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติเกี่ยวกับการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ไม่ได้มีการบัญญัติเรื่องอำนาจ ความผูกพันในการใช้อำนาจของประธานสภา ให้ต้องเปิดให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่มาตรา 128 วรรค 1 บัญญัติให้อำนาจ ส.ส.ในการตราข้อบังคับการประชุมเกี่ยวกับการเปิดอภิปรายทั่วไป ซึ่งรวมถึงญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจด้วย
นายคัมภีร์กล่าวต่อว่า โดยมีการกำหนดขั้นตอนเกี่ยวกับการเปิดอภิปรายดังกล่าวไว้ในข้อบังคับการประชุมสภา พ.ศ.2526 หมวด 9 เรื่องการเปิดอภิปรายทั่วไป โดยเฉพาะข้อ 175 วรรค 1 ได้กำหนดอำนาจและหน้าที่ให้แก่ประธานสภาไว้ชัดเจนในการตรวจสอบความถูกต้องของญัตติ หากมีข้อบกพร่องให้ประธานสภาแจ้งผู้เสนอญัตติทราบภายใน 7 วัน นับจากวันที่ได้ญัตติ เพื่อให้แก้ไขให้ถูกต้อง
โดยข้อบังคับไม่ได้มีการกำหนดนิยามคำว่า ข้อบกพร่องไว้อย่างชัดเจนว่า หมายถึงข้อบกพร่องที่เป็นข้อผิดพลาด เช่น มีลายชื่อผู้เสนอไม่ครบ ตามเกณฑ์กำหนด หรือลายมือชื่อผู้เสนอไม่ถูกต้องตรงกับลายมือชื่อจริง เป็นต้น จึงเป็นอำนาจของประธานสภาที่จะใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัย หากมีการแก้ไขญัตติถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ประธานสภาจึงจะสั่งเข้าบรรจุระเบียบวาระเป็นเรื่องด่วน และแจ้งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบ
นายคัมภีร์กล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาจากข้อบังคับการประชุมสภา ข้อ 178 และข้อ 69 แล้วจะเห็นว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจห้ามผู้อภิปรายออกชื่อบุคคลใดโดยไม่จำเป็น และการอภิปรายที่อาจทำให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช้นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี หรือ ส.ส.ได้รับความเสียหายถือเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจริยธรรม ส.ส.ผู้นั้นต้องรับผิดชอบ ประธานสภาต้องการให้การประชุมและการอภิปรายเป็นไปด้วยความเรียบร้อยเกิดประโยชน์แก่ชาติและประชาชน
จึงเห็นว่าหากปล่อยให้ชื่อบุคคลภายนอกอยู่ในญัตติต่อไปจะเกิดความเสียหาย และความไม่เรียบร้อยในที่ประชุมจนยากจะแก้ไข เนื่องจากอาจจะเกิดการประท้วงไปมาหรือประท้วงประธานสภาว่าทำผิดข้อบังคับด้วย ไม่ควบคุมรักษาความสงบในที่ประชุม ซึ่งท่านจะต้องรับผิดชอบด้วยจึงต้องใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยข้อบกพร่องของญัตติดังกล่าว
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบในญัตติพบว่ามี ส.ส.ของพรรคฝ่ายค้านจำนวน 10 ราย ที่ลายมือชื่อไม่ตรงกับที่เคยให้ไว้กับสภา จึงให้ไปแก้ไข ซึ่งมีการแก้ไขกลับมาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ แต่เดือนกุมภาพันธ์มีแค่ 28 วันเท่านั้น และเมื่อมีการนำเสนอเรื่องต่อนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่ 1 เพื่อพิจารณาก่อนที่จะส่งเรื่องไปถึงประธานสภาตามขั้นตอน
จึงพบว่าญัตติมีการกำหนดชื่อบุคคลภายนอกไว้ ซึ่งไม่สามารถทำได้ จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถบรรจุเข้าระเบียบวาระได้ ดังนั้น นายพิเชษฐ์จึงเสนอต่อประธานสภา เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขของกรอบเวลาการที่นายณัฐพงษ์ระบุว่าเกินกำหนดวันที่ 28 กุมภาพันธ์
ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเสริมว่า ในทางปฏิบัติสำนักการประชุมได้ชี้แจงมาว่าการยื่นญัตติของฝ่ายค้านนับรวมวันเสาร์-อาทิตย์ด้วย ซึ่งก็จะตรงกับวันที่ 6 มีนาคม พอดี โดยญัตติสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์
ทั้งนี้ ข้อบังคับการประชุมระบุว่าไม่จำเป็นต้องแจ้งด้วยหนังสือ แต่ประธานสภาให้เกียรติผู้นำฝ่ายค้านจึงขอนำเรียนให้นายณัฐพงษ์แก้ไขก่อน ถ้าไม่แก้ไขก็จะให้สำนักงานเลขาธิการสภาทำหนังสือส่งไป เผื่อนายณัฐพงษ์จะเปลี่ยนใจแก้ไข
เมื่อถามว่า นับตั้งแต่วันที่ประธานสภาเรียกเข้าไปพบใช่หรือไม่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ กล่าวว่า ใช่ ประธานสภาแจ้งด้วยวาจาและมีการเชิญผู้นำฝ่ายค้านมาพบที่ห้องเพื่อนำเรียนนายณัฐพงษ์
ถามย้ำว่า ตามระเบียบหากไม่แก้ไขญัตติ จะไม่สามารถบรรจุวาระได้ใช่หรือไม่ ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นดุลพินิจของประธานสภาว่าบรรทัดฐานที่ท่านทำมา ไม่ใช่ท่านเพิ่งคิดในครั้งนี้ แต่ท่านได้ให้สำนักการประชุมตรวจสอบดูในอดีต ซึ่งการกล่าวถึงบุคคลภายนอกนั้นไม่มี
แต่ใช้คำว่าบุคคลในครอบครัว อดีตสมาชิก จะไม่ระบุชื่อโดยตรง เฉพาะในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจจะต้องอยู่ในกรอบนี้ ไม่ใช่ญัตติทั่วไป ซึ่งญัตติทั่วไปอาจมีการเอ่ยถึงบุคคลภายนอกได้ ประธานสภาก็ถือเป็นบรรทัดฐานครั้งนี้
“การกล่าวถึงบุคคลภายนอก มีครั้งหนึ่งในสมัยญัตติปี 2529 ที่เป็นการกล่าวถึงบริษัทหนึ่ง แต่ปี 2529 เราต้องรู้ว่าเอกสิทธิ์ความคุ้มกันนั้นมี 100 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าไปพาดพิงบุคคลภายนอกก็ไม่สามารถฟ้องร้องได้ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญพิจารณามา ถ้าบุคคลภายนอกเสียหายเขาสามารถฟ้องร้องได้ในส่วนนั้น ส่วนประเด็นที่บอกว่าเมื่อมีการอภิปรายแล้วพาดพิงบุคคลภายนอก
เขาสามารถมายื่นคำชี้แจงได้ อันนั้นแยกส่วนต่างหาก แต่เรื่องนี้อยู่ในส่วนของการระบุชื่อในญัตติ และญัตติก็มีชื่อเผยแพร่เป็นบุคคลภายนอกแล้ว บุคคลที่มีชื่อในญัตติก็ไม่สามารถชี้แจงในลักษณะที่ไม่ถูกอภิปรายได้ ซึ่งเป็นกรณีที่แตกต่างกัน” เลขาธิการสภากล่าว
ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ระบุว่าจริงอยู่ที่ผู้เสนอญัตติพร้อมรับผิดชอบในการกล่าวถึงบุคคลภายนอก แต่ว่าในฐานะประธานสภา ท่านก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย ถ้าชื่อของบุคคลภายนอกไปปรากฏอยู่ในญัตติ และมีการปรากฏอยู่ในสาธารณชน เพราะเป็นคนใช้อำนาจในการอนุญาตให้บรรจุญัตติ ซึ่งประธานสภาเล็งเห็นในส่วนนี้ซึ่งมีความสำคัญจึงเห็นว่าควรให้ตัดการที่มีบุคคลภายนอกออกไป
ถามย้ำว่า หากไม่แก้ญัตติก็คือไม่บรรจุวาระการประชุม เลขาธิการสภากล่าวว่า “ครับๆ ตอนนี้ท่านประธานสภ ก็มีดำริให้นโยบายมา ในส่วนของสำนักงานเลขาธิการสภา ภายในวันที่ 11-12 มีนาคม ผมก็จะทำหนังสือชี้แจงในข้อที่ผู้นำฝ่ายค้านโต้แย้งมา หากแก้ไขและยื่นกลับมาเลย จะทันการอภิปรายในวันที่ 24 มีนาคมนี้ แต่หากยื่นมาหลังวันที่ 19 มีนาคม ก็จะไม่ทันการอภิปรายในสมัยประชุมนี้ เพราะจะปิดสมัยประชุมในเดือน เม.ย.แล้ว
ต่อมา ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ที่ระบุว่าฝ่ายค้านต้องส่งญัตติที่แก้ไขแล้วให้สภาก่อนวันที่ 19 มีนาคม เพื่อให้ทันการบรรจุวาระอภิปรายไม่ไว้วางใจ เนื่องจากจะปิดสมัยประชุมในวันที่ 10 เมษายนนี้ ว่า เดดไลน์ที่ฝ่ายค้านจะต้องส่งญัตติที่แก้ไขแล้ว ไม่ได้มีกำหนดตายตัวว่าจะต้องส่งกลับมาให้สภาเมื่อใด เพื่อบรรจุญัตติ แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมาตอบได้เมื่อใด
หากเป็นไปตามกระแสข่าวว่าจะอภิปรายวันที่ 24 มีนาคม ฝ่ายค้านก็ควรจะส่งญัตติที่แก้ไขแล้วมาให้สภาภายในวันที่ 17 มีนาคม เพื่อให้สภาแจ้งเรื่องให้ ครม.ทราบทันการประชุม ครม.วันที่ 18 มีนาคม แต่ถ้าฝ่ายค้านส่งญัตติที่แก้ไขกลับมาหลังวันที่ 17 มีนาคม ไปแล้ว สภาก็ส่งเรื่องให้ ครม.ทราบได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับ ครม.จะพร้อมมาตอบให้หรือไม่
“ไม่ได้มีเดดไลน์กำหนดตายตัวว่าฝ่ายค้านจะต้องส่งญัตติกลับมาให้สภาก่อนวันอภิปรายกี่วัน เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของ ครม.จะมาตอบเมื่อใด” เลขาฯสภากล่าว