วีระยุทธ แนะ 7 ข้อรบ. ฟื้นภาคยานยนต์ ปัจจัยหลักฉุดจีดีพีโต ย้ำอย่าหยุดแค่ช่วยดีมานด์

วีระยุทธ รองหน.ประชาชน แนะ 7 ข้อถึงรบ. ฟื้นภาคยานยนต์ ปัจจัยหลักฉุดจีดีพี ย้ำอย่าช่วยแค่ยอดขาย ต้องเปลี่ยนวิธีผลิต 

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2568 นายวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร รองหัวหน้าพรรคประชาชน ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง 7 ข้อเสนอฟื้นยานยนต์ไทย – อย่าหยุดแค่ช่วยดีมานด์ แต่ต้องปรับแรงงาน เปลี่ยนวิธีการผลิต โดยมีเนื้อหาดังนี้

ภาวะถดถอยของการผลิตและการขายรถยนต์ในปี 2567 ที่ผ่านมา เป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่ฉุดจีดีพีให้โตเพียง 2.5% เราจึงเห็นสัญญาณที่รัฐบาลกลับมาให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมยานยนต์มากขึ้น

เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ประกาศมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อวงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อช่วย SMEs ที่ต้องการซื้อรถกระบะใหม่

ADVERTISMENT

แม้จะเป็นสัญญาณที่ดี แต่การค้ำประกันสินเชื่อก็ยังอยู่ติดอยู่ในกรอบนโยบายเดิม ที่รัฐบาลตั้งแต่ยุคพลเอกประยุทธ์ ต่อเนื่องมาถึงนายกเศรษฐาและนายกแพทองธาร ใช้กับอุตสาหกรรมยานยนต์มาตลอด นั่นคือ “เน้นช่วยคนซื้อคนขาย” เหมือนที่รัฐช่วยอุดหนุนรถ EV คันละ 100,000–150,000 บาท มาตั้งแต่ปี 2565

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไม่ใช่เพียง “ยอดขายวูบ” แต่กำลังอยู่ในช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” เพราะมีเรื่องการพลิกผันทางเทคโนโลยีกับการแข่งขันในเวทีภูมิรัฐศาสตร์โลกเข้ามาเกี่ยวด้วย

ADVERTISMENT

มีนโยบาย 7 ข้อที่ขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาครับ

1. เปลี่ยน “บอร์ดอีวี” เป็น “บอร์ดยานยนต์อนาคต” – แทนที่บอร์ดอีวีซึ่งมีนายกฯ เป็นประธาน จะดูแค่รถยนต์ไฟฟ้า ควรปรับบทบาทและอำนาจตัดสินใจมาดูยานยนต์ทั้งระบบ เพราะต้องประสานทั้งฝั่งสันดาป ไฮบริด และไฟฟ้า ไปพร้อมกันเท่านั้นถึงจะไปต่อได้ราบรื่น

2. ถ้าจะช่วยสิ่งแวดล้อมต้องจัดการรถเก่า – การเพิ่มรถ EV บนถนนแทบไม่ช่วยให้อากาศของไทยดีขึ้น เพราะปัจจุบันเรามีรถยนต์อายุเกิน 7 ปีถึง 26 ล้านคัน จากจำนวนรถจดทะเบียนทั้งหมด 44 ล้านคัน ถ้าจะช่วยสิ่งแวดล้อมก็ต้องใช้มาตรการสนับสนุนให้ผู้ใช้รถส่วนตัวหันไปใช้ขนส่งสาธารณะแบบจริงจัง หรือนำรถเก่ามาแลกรถใหม่ รวมถึงภาครัฐเองเพิ่มสัดส่วนการใช้ยานยนต์พลังงานสะอาด

3. ติดตามการผลิตชดเชยและผลิตแบตเตอรี่ให้เกิดขึ้นจริง – จากที่ปี 2568 นี้จะเป็นปีเริ่มต้นการผลิตชดเชยของค่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับเงินอุดหนุนไป ก็มีการเลื่อนระยะเวลาการบังคับใช้ออกไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องติดตามโครงการผลิตรถยนต์และแบตเตอรี่ระดับเซลล์ให้เกิดขึ้นได้จริง เพราะเราทั้งจ่ายเงินอุดหนุนและสูญเสียรายได้จากภาษีไปหลายหมื่นล้านบาทแล้ว ทั้งนี้ ผู้กำหนดนโยบายก็จำเป็นต้องช่วยลดอุปสรรคด้านการผลิตและแรงงานของค่ายรถยนต์ไฟฟ้าด้วย

4. สนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนตามระดับความเสี่ยง – ไทยจำเป็นต้องลงทุนครั้งใหญ่เพื่อยกระดับผู้ผลิตให้ไปต่อได้ในซัพพลายเชนไฮบริดและไฟฟ้า โดยมาตรการต้องลงลึกตามความเสี่ยงของกลุ่มที่จะหายไปกับสันดาป (เช่น เครื่องยนต์ ระบบไอเสีย) กลุ่มที่ยังพอไปต่อได้ แต่ต้องสะอาดขึ้น (เช่น กลุ่มตัวถัง ระบบช่วงล่าง) และกลุ่มที่ต้องเน้น R&D แข่งกับต่างชาติ (เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอรี่)

5. พัฒนาทักษะแบบจริงจังและเจาะจง – ควรเพิ่มงบสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝึกทักษะโดยตรงสู่ตัวแรงงาน สนับสนุนครุภัณฑ์ที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าของอาชีวศึกษาและศูนย์เทรนนิ่ง งบประมาณไม่กระจัดกระจายแบบที่ผ่านมา

6. เปิดตลาดส่งออกแบบคัดสรร – เมื่อตลาดภายในเราหดตัว รัฐจำเป็นต้องช่วยประคองกำลังการผลิตด้วยการหาตลาดใหม่สำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วน เช่น การเจรจา FTA ทั้งกับคู่ค้าเดิมและเพิ่มเติมคู่ค้าใหม่ เช่น อเมริกาใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกาใต้ เน้นประเภทชิ้นส่วนที่ไทยเก่ง

7. เปิดโอกาสสู่อุตสาหกรรมใหม่ – ต้องยอมรับว่ายังไงตลาดยานยนต์ก็มีแนวโน้มชะลอตัว การช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยและแรงงานจึงไม่ควรจำกัดอยู่ในยานยนต์เท่านั้น แต่ควรสนับสนุนการปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่ยังมีศักยภาพเติบโต โดยเฉพาะ 4 ตัวหลัก คือ ระบบราง เครื่องมือแพทย์ เครื่องจักรกลการเกษตร และอากาศยาน

ถึงที่สุดแล้ว อยากให้ผู้กำหนดนโยบายมองความปั่นป่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2567 ว่าเป็นเพียง “ปฐมบท” หรือ ep.1 ของซีรีส์การเปลี่ยนผ่านโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยครั้งใหญ่ที่เรายังไม่รู้ตอนจบ และจับมือกับภาคเอกชน สถาบันการศึกษา กลุ่มแรงงาน และสมาคมอุตสาหกรรม ร่วมกันออกแบบยุทธศาสตร์ใหม่ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยและคนไทยไปต่อได้ในกระแสการค้าที่รุนแรงขึ้นทุกทีครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image