กมธ.ปกครอง เล็งเพิ่มกฎปราบปราม บุหรี่ไฟฟ้า ตร.เผยแผน เน้นจับผู้ค้า-นำเข้า แต่เอาผิดคนสูบทุกคนไม่ได้

“กมธ.ปกครอง” ถกแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า “พ.ต.ท.ปริญญา” เผยไม่สามารถเอาผิดผู้สูบได้ทุกคน เน้นจับผู้ค้า-นำเข้า ขณะที่ “กรมการปกครอง” เล็งเพิ่มมาตรการปราบปราม ส่ง ปปง. เพิ่มข้อหาฟอกเงิน พร้อมประสาน สธ.จังหวัด-โรงเรียน ให้ความรู้เด็กถึงภัยจากบุหรี่ไฟฟ้า

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 12 มีนาคม ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย เป็นประธาน กมธ. มีการพิจารณาศึกษาแนวทางในการควบคุมและแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูล ตามแนวนโยบายปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าของนายกรัฐมนตรี

โดย พ.ต.อ.จีรวัฒน์ แนวจำปา รองผู้บังคับการกองแผนงานอาชญากรรมสำนักยุทธศาสตร์ตำรวจ ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กล่าวว่า ในส่วนของ สตช.ตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ.ถึงวันที่ 10 มี.ค.มีผลการจับกุมบุหรี่ไฟฟ้าไปแล้ว 955 คดี ผู้ต้องหาทั้งหมด 991 คน มีของกลางจำนวน 524,546 ชิ้น มูลค่าทั้งหมด 52,615,695 บาท

ด้าน พ.ต.ท.ปริญญา ปาละ รอง ผกก.(สอบสวน) กก.1ปคบ. กล่าวว่า ฐานความผิดของผู้ที่สูบหรือผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย หากใครมีไว้ครอบครองต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ศุลกากร มาตรา 246 ฐานช่วยซ่อนเร้นหรือซื้อรับไว้ มีโทษจำคุก 5 ปี แต่นโยบายของ สตช.หรือรัฐบาลมองว่าหากมีการจับกุมผู้สูบซึ่งมีจำนวนมาก ผลกระทบจะเป็นวงกว้าง และยังมองว่าผู้สูบไม่ใช่อาชญากรร้ายแรง บางครั้งอาจหลงผิดไป

ADVERTISMENT

“สตช.จึงมีแนวทางปฏิบัติให้มีการจับกุมได้และแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ศุลกากร มาตรา 246 แต่ขั้นตอนปฏิบัติให้ซอฟต์ลง คือมีการจับกุมแจ้งข้อกล่าวหาและให้ประกันตัวไปโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ และพนักงานสอบสวนส่งของกลางให้ศุลกากรเพื่อทำการระงับคดี เมื่อได้ผลการระงับคดีจากศุลกากรแล้ว พนักงานสอบสวนก็มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง หากสอบสวนกันไปก็เปล่าประโยชน์ และเป็นการลดความรุนแรงด้วย” พ.ต.ท.ปริญญากล่าว

ADVERTISMENT

ขณะที่นายกรวีร์สอบถามเพิ่มเติมว่า ฐานความผิด ของผู้จำหน่ายและผู้นำเข้าเป็นอย่างไร และมีข้อจำกัดทางกฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการจับกุมอย่างไร

ด้าน พ.ต.ท.ปริญญาชี้แจงว่า กรณีบุหรี่ไฟฟ้าทาง สตช. แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือผู้นำเข้า ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2557 ว่าห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในประเทศไทย หากนำเข้าก็มีความผิดตามมาตรา 20 คือมีโทษจำคุก 10 ปี และผิด พ.ร.บ.ศุลกากร กลุ่มที่ 2 คือผู้ขาย จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 29/9 และมาตรา 56/4 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 600,000 บาท ซึ่งต้องดูตามพฤติการณ์ และกลุ่มที่ 3 คือผู้สูบ จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร มาตรา 246

ส่วน พ.ต.อ.จีรวัฒน์กล่าวยืนยันว่า ในส่วนมาตรการที่กำหนดไว้จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมีการกำหนดนโยบายไว้ 6 ด้าน คือ การปราบปราม, การป้องกัน, การตรวจสอบข้อมูลการแจ้งเบาะแสจากประชาชน, การบันทึกข้อมูลในระบบส่วนใหญ่เป็นข้อมมูลของผู้ต้องหาคดีบุหรี่ไฟฟ้า, การประชาสัมพันธ์ผลการปฏิบัติงาน และการรายงานผลควบคุมประเมินผล ซึ่งทั้งหมดทาง ผบ.ตร.ได้ออกคำสั่งกำชับทุกหน่วยงานไปแล้ว

ด้านนายศักดิ์ชัย โรจนรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายพนักงานฝ่าย ปกครอง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เรื่องบุหรี่ไฟฟ้านั้นนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ได้มีข้อสั่งการไปยังทุกจังหวัดให้มีการบูรณาการในพื้นที่จับกุมปราบปรามอย่างเข้มงวดเด็ดขาด รวมทั้งมีมาตรการลงโทษเจ้าหน้าที่หากมีการละเลย ซึ่งผลการจับกุมในส่วนภูมิภาคตั้งแต่ปี 2567 จับกุมทั้งสิ้น 286 คดี

และส่วนกลางในส่วนของกรมการปกครองจับกุมไปแล้วทั้งสิ้น 34 คดี ซึ่งเน้นจับกุมในเคสใหญ่ที่ทางอำเภอไม่สามารถเข้าไปจัดการได้ และในปี 2568 จับกุมเพิ่มได้อีก 20 คดี และขณะนี้นายอนุทินกำลังจะมีข้อสั่งการ ของกระทรวงมหาดไทยเพิ่มเติมไปยังจังหวัดให้ปราบปรามเข้มข้นมากขึ้น

และให้มีมาตรการเพิ่มเติมหากมีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร ให้ส่งไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการเรื่องฟอกเงินด้วย รวมถึงมีการป้องกันบูรณาการร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดและโรงเรียน เพื่อรณรงค์ให้ความรู้กับเยาวชนเรื่องภัยจากบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image