โดนด่าไม่เป็นไร !! วันนอร์ แจงยิบ ตีกลับญัตติซักฟอก ยึดกฎหมายเป็นหลัก
เมื่อวันที่ 12 มีนาคม นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ข่าวสดและเครือมติชน กรณีการตีกลับญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจให้ฝ่ายค้านนำไปแก้ไข โดยตัดชื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออก ว่า การตีกลับญัตติเพื่อให้แก้ไขตัดชื่อนายทักษิณออกนั้น ยืนยันว่าเป็นไปตามข้อบังคับของรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ 175-177
ซึ่งในญัตติมีข้อบกพร่อง เพราะมีชื่อบุคคลภายนอกอยู่ในญัตติ คือ นายทักษิณ ซึ่งการเสนอญัตติหรืออภิปรายในสภา ไม่ควรเอ่ยชื่อบุคคลภายนอกโดยไม่จำเป็น แต่มีการเขียนชื่อนายทักษิณลงไปในญัตติ ทั้งที่เป็นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี
โดยข้อบังคับ 176 เมื่อประธานให้แก้ไข ฝ่ายสส.ที่เป็นผู้เสนอญัตติก็ต้องรับไปแก้ไข ประธานไม่มีสิทธิแก้ไขได้ ซึ่งเรื่องนี้เคยกระทำมาแล้วเมื่อปี 2545 สมัยนายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานสภาฯ โดยนายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายค้านในขณะนั้น เสนอญัตติมา
ซึ่งนายอุทัยเห็นว่ามีข้อบกพร่อง นายชวนจึงรับมาและเขียนหนังสือกลับมาถึงประธานสภาฯ ระบุว่า เรื่องการปรับปรุงแก้ไขญัตติขออภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นคณะ โดยในเนื้อหาสรุปว่า ถึงแม้นายชวนและคณะจะเห็นว่าญัตติไม่ได้บกพร่อง แต่เพื่อเป็นการให้ความร่วมมือตามที่ประธานสภาขอมา และเพื่อให้การประชุมสภาฯ ในญัตติดังกล่าวดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ฝ่ายค้านจึงดำเนินการแก้ไขเนื้อหาญัตติบางส่วน
“ความเห็นคนเรามันแตกต่างกันได้ แต่ท่านก็แสดงสปิริตของความเป็นประชาธิปไตย และเพื่อให้การอภิปรายดำเนินไปได้ ดังนั้น สิ่งที่ผมอยากจะพูดที่มีปัญหาตอนนี้ คือ การทำงานทุกอย่าง ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ถ้าต่างคนต่างเดินหน้ามันจะชนกันเปล่าๆ ถ้าหยุดยั้ง ใช้ความประนีประนอม ดังที่ผู้ใหญ่ทั้งสองท่านทำไมเขาไปแก้ไขได้
ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ตอนนั้นเป็นพรรคใหญ่ ไม่ใช่ง่ายๆ ต้องมีการประชุม ขอมติพรรค แต่ก็มีหนังสือกลับมาว่า แม้จะไม่เห็นด้วยเรื่องมีข้อบกพร่อง แต่เพื่อให้การประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงกลับมาปรับปรุงแก้ไขญัตติ ซึ่งไม่ได้เสียหายอะไร สามารถอภิปรายได้อย่างเดิม อาจจะมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวต่อว่า สมมติตัดชื่อนายทักษิณออก แต่ตอนอภิปรายใครๆ ก็รู้ว่าหมายถึงใคร มันก็มีวิธีการอภิปรายได้ อาจจะมากกว่าใส่ชื่อ เพราะถ้าใส่ชื่อ 1.ข้อบังคับไม่สามารถทำได้ และที่บอกว่าจะรับผิดชอบเองนั้น รับผิดชอบในส่วนของพรรค แต่ถ้าบรรจุวาระเป็นอำนาจของประธานสภา ถามว่าใครรับผิดชอบ ก็คือประธานสภา เพราะเป็นต้นเหตุ ถ้าเขาฟ้องร้องขึ้นมา เขาฟ้องประธานสภาเป็นอันดับแรก
“ผมไม่ได้กลัวเรื่องฟ้องร้อง เพราะเราต้องเคารพกฎหมาย เขามีสิทธิฟ้อง เราก็มีสิทธิชี้แจงได้ แต่ถ้ารู้ทั้งรู้ แต่ยังทำ ผมก็ใช้ไม่ได้สิ” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวต่อว่า 2.ถ้าบรรจุญัตติและมีการประชุม แน่นอนว่า สส.ฝ่ายรัฐบาล คงจะมีการประท้วง ก็จะเกิดความวุ่นวาย การประชุมไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ประชาชนอยากฟังการอภิปราย ไม่ใช่การเถียงแค่ชื่อในญัตติ ซึ่งผมไม่เชื่อว่าฝ่ายรัฐบาลจะยอมง่ายๆ อีกทั้งยังผิดข้อบังคับ ถ้าประธานยังทำต่อไป จะเป็นประธานได้ยังไง จะเป็นประธานทำไม
ส่วนประเด็นที่โต้แย้งกันมากในขณะนี้ คือประธานสภาฯ มีอำนาจในการแก้ไขญัตติได้หรือไม่ ประธานสภาฯ ไม่มีสิทธิแก้ไขญัตติ แต่มีหน้าที่ในการบรรจุวาระหรือไม่บรรจุ และสามารถสั่งให้แก้ไขญัตติได้หากประธานพบว่ามีข้อบกพร่อง ตามมาตรา 176 และหากแก้ไขก็บรรจุตามระเบียบวาระ แต่ถ้าไม่แก้ไข ประธานจะบรรจุได้อย่างไร ทุกอย่างต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่มาแอบอ้าง
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า อีกประเด็นที่ระบุว่า ทำไมญัตติทั่วไปถึงใส่ชื่อบุคคลอื่นได้นั้น เพราะมันคนละญัตติ ถ้าญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจมันมีข้อบังคับเฉพาะที่ใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเท่านั้น
ญัตติทั่วไปถ้าเสนอมาแล้วไม่ผิดกฎหมาย ประธานก็บรรจุวาระ เช่น ญัตติเรื่องรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินสุวรรณภูมิไปสนามบินอู่ตะเภา เป็นญัตติเพื่อตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษา ซึ่งตั้งคนนอกเข้ามาได้และเรียกคนนอกมาชี้แจงได้ ฉะนั้น การใส่ชื่อบุคคลอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องในญัตติไม่ได้มีข้อห้ามอะไร
แต่ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เชิญคนนอกเข้ามาชี้แจงไม่ได้ และในการอภิปรายฝ่ายค้านเป็นคนซักถาม นายกฯ และรัฐมนตรีเป็นผู้ตอบเท่านั้น ใครตอบแทนไม่ได้ และต้องมีการลงคะแนนไม่ไว้วางใจ ซึ่งสส.เป็นผู้ลงคะแนน ถ้าคะแนนไม่พอรัฐมนตรีก็ต้องพ้นทั้งคณะ ซึ่งมันคนละประเด็นกับการตั้งกมธ.อย่างสิ้นเชิง จะมาปนเปกันไม่ได้ ข้อบังคับก็คนละข้อ
“ผมยืนยัน ก่อนที่ผมจะทำอะไร ผมถามฝ่ายกฎหมาย ซึ่งสภามีฝ่ายกฎหมาย ผมไม่สามารถใช้ความเห็นส่วนตัวมาบริหารสภาได้” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว
เมื่อถามว่าฝ่ายค้านยกขึ้นมาว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามระบุชื่อบุคคล นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุ แต่ข้อบังคับระบุไว้ และญัตติ 151 ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า จะอภิปรายรัฐมนตรีกี่คนก็ได้ แต่จะระบุบริษัท คนใดคนหนึ่งไม่ได้ เพราะญัตติ 151 ให้อภิปรายเฉพาะนายกฯ หรือรัฐมนตรี แต่ข้อมูลตอนอภิปรายคุณสามารถพูดได้ แต่จะพาดพิงอย่างไรนั้น ประธานในที่ประชุมจะดูว่าคนข้างนอกเสียหายหรือไม่ ถ้ามองว่าเสียหายก็ต้องหยุด แต่ในญัตติไม่สามารถเขียนระบุไว้ได้
เมื่อถามว่าคิดว่าฝ่ายค้านก็น่าจะทราบเรื่องนี้อยู่แล้วหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า อันนี้ไม่ทราบ แต่ตนเป็นสส.มา 44 ปี เป็นฝ่ายค้านมาหลายสมัย เป็นรัฐบาลก็หลายสมัย เป็นรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายก็หลายครั้ง เป็นประธานสภาฯ 2 ครั้ง ตนจะไม่ทราบกฎเกณฑ์เหล่านี้ เป็นไปไม่ได้
เมื่อถามว่ายืนยันหรือไม่ ถ้าฝ่ายค้านไม่แก้ไขก็จะไม่บรรจุญัตติ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า อันนี้ควรแก้ ถ้าไม่ถูกต้อง และถ้าตนบรรจุวาระไป ตนก็มีความผิด แล้วจะปล่อยให้สภาไม่เคารพกติกาคงไม่ได้ ไม่งั้นสภาเละ
“ผมโดนด่าได้ไม่เป็นไร แต่ถ้าสภาเละ และไม่มีกฎระเบียบ สังคมก็จะประณามสภา ยืนยันด่าผมได้ไม่เป็นไร เพราะผมก็ไปตามเวลา แต่สภาต้องอยู่ กฎกติกาต้องอยู่ จะปล่อยให้สภาเละ เพื่อเอาใจคนใดคนหนึ่งไม่ได้” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว
เมื่อถามว่าถ้าเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ได้ จะมีปัญหาอะไรตามมาหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่ก็ต้องทำตามกติกา
เมื่อถามว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกเลยหรือไม่ที่มีการให้ตัดชื่อบุคคลในญัตติ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ใช่ เป็นครั้งแรก เพราะไม่เคยเห็นมาก่อนเลย ในการบรรจุชื่อคนนอกในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ