เท้ง ลุกกลางสภา ขอปธ.ชัดเจน ถ้าตัดชื่อทักษิณ วันอภิปรายจะไม่ถูกเบรก ด้าน วันนอร์ นัดเคลียร์บ่ายนี้

เถียงยืดเยื้อบ่ายได้ข้อยุติ “ณัฐพงษ์” จี้ “วันนอร์” ขอความชัดเจนหากตัดชื่อ”ทักษิณ”ออก วันซักฟอกพาดพิงคนภายนอกได้ “ประธานสภา” ลั่นไม่ได้ เหตุ ”เท้ง” ไม่ได้พูดคนเดียว ขณะที่ ”วิโรจน์” แนะ ทำหนังสือให้ “อิ๊งค์” ควงพ่อเข้าชี้แจงได้

เมื่อเวลา 10.40 น. วันที่ 13 มีนาคม 2568 ที่รัฐสภา ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มาทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร หลังจากที่เปิดให้สมาชิกหารือเสร็จสิ้นก่อนเข้าสู่วาระ นายณัฐพงศ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้านฯ ได้ลุกขึ้นหารือเรื่องการบรรจุญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่าตามหนังสือที่ประธานได้ตอบกลับมาถึงตนเมื่อวันที่ 12 มีนาคม เป็นหนังสือด่วนที่สุด เนื่องจากเป็นหนังสือที่โต้แย้งกลับมาในเรื่องของความเห็นที่เรามีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องการตีความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากหนังสือฉบับนี้ลงนาม โดยเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตนจึงอยากขอความชัดเจนอย่างแรกว่า หนังสือฉบับนี้ทุกถ้อยคำในหนังสือฉบับนี้เป็นการใช้อำนาจของประธานและประธานก็พร้อมที่จะรับผิดรับผิดชอบต่อทุกข้อสงสัย และทุกการตอบในหนังสือฉบับนี้ใช่หรือไม่

นายวันมูหะมัดนอร์ชี้แจงว่า ตนมีหน้าที่ และต้องรับผิดชอบ ยินดีรับผิดชอบทุกอย่าง ถ้าเป็นการถามที่เกิดขึ้นจากเลขาธิการฯ เพราะตนได้ดำเนินการตามหน้าที่ และเลขาธิการฯก็ตอบตามที่หนังสือของนายณัฐพงษ์ โต้แย้งมา

นายณัฐพงษ์กล่าวอีกว่า อยากได้ความชัดเจนในเรื่องที่หนังสือฉบับนี้ตอบมาว่าคำว่าข้อบกพร่อง ประธานได้วินิจฉัยแล้วว่า ท่านมีอำนาจในการที่จะชี้ข้อบกพร่องในเชิงเนื้อหา แต่ขณะเดียวกันคำตอบของท่านในหน้าถัดไป ท่านบอกว่าท่านยินดีจะให้แก้คำในญัตติ เนื่องจากการแก้คำนั้นไม่ได้กระทบสาระสำคัญในญัตติ ซึ่งถ้าตนอยากจะเดินหน้าต่อ สมมุติว่าพวกตนยอมปรับคำตามที่ประธานได้นำเสนอ เนื้อหาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ สมมุติถึงวันในการอภิปรายจริง ตนมีสิทธิเต็มที่ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญในการอภิปรายเนื้อหาตามกรอบในญัตติโดยที่พวกตนจะไม่ถูกเบรกหรือระงับโดยประธานใช่หรือไม่

ADVERTISMENT

นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ยืนยันว่าถ้าท่านได้อภิปรายตามญัตติ ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ ก็สามารถอภิปรายได้เต็มที่ ไม่มีใครขัดขวางท่านได้ยกเว้นว่าท่านอภิปรายผิดข้อบังคับก็อาจจะมีผู้โต้แย้ง ผู้เป็นประธานในที่ประชุมก็ต้องพิจารณาและให้ความเป็นธรรมตรงไปตรงมาตามข้อบังคับเราอยากจะให้การประชุมของสภาแห่งนี้ได้ดำเนินไปได้ด้วยดีเพราะไม่ใช่แต่พวกเราเท่านั้น พี่น้องประชาชนทั่วประเทศเขาก็อยากฟังแต่ไม่ใช่อยากฟังการประท้วงโต้ตอบไปมาจนกระทั่งสารัตถะของการประชุมที่ท่านต้องการและประชาชนอยากฟังนั้นมันขลุกขลัก

“นี่คือสิ่งที่ผมปรารถนาสุดยอดคือการประชุมโดยที่มีเหตุมีผลตามที่ต้องการและไม่มีผู้ใดที่จะคอยประท้วงทำให้การประชุมดำเนินไปไม่ได้ดี เพราะในที่สุดประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินในเรื่องสารัตถะ ในเรื่องการดำเนินการประชุมที่จะไปด้วยดี ผมเรียนด้วยความเคารพ” ประธานสภากล่าว

ADVERTISMENT

จากนั้น นายณัฐพงศ์กล่าวอีกว่า ประการหนึ่งที่อยากจะได้ความชัดเจนเช่นเดียวกัน ประธานยืนยันว่าถ้าตนไม่ทำผิดตามข้อบังคับก็ไม่น่ามีประเด็นอะไรซึ่งตามข้อบังคับระบุไว้ชัดเจนว่าพวกเราสามารถอภิปรายกล่าวถึงชื่อบุคคลภายนอกได้หากไม่ได้ทางความเสียหายหรือถ้าสร้างความเสียหายผู้อภิปรายเป็นผู้รับผิดชอบเอง ซึ่งจากการให้ข่าวที่ผ่านมาของประธานฯระบุไว้อย่างชัดเจนว่าที่ประธานฯไม่สามารถให้พวกตนระบุชื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯลงไปในญัตติได้ เพราะท่านประธานฯเสี่ยงที่จะเป็นคนที่ถูกฟ้องร้องเอง ดังนั้นถ้าวันนี้พวกตน ปรับคำในญัตติ หมายความว่าพวกตนยังสามารถเดินหน้าการอภิปรายต่อและพูดชื่อบุคคลใดก็ได้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยที่พวกตนเป็นผู้รับผิดชอบเอง อย่างนี้ประธานฯยืนยันตามหลักฐานตามหลักการหรือไม่

ประธานสภาชี้แจงว่า ตามที่ผู้นำฝ่ายค้านฯบอกว่าจะเอ่ยชื่อบุคคลใดก็ได้ โดยที่ท่านจะรับผิดชอบเอง ตนคิดว่าเป็นประเด็นของที่ประชุมนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้พูดจะรับผิดชอบเพียงผู้เดียวเท่านั้น ถ้าไม่เป็นไปตามข้อบังคับประธานในที่ประชุม ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยก็จะถูกตำหนิและเดินหน้าต่อไปไม่ได้ แต่ตนก็ยินดีถ้าหากท่านไม่เอ่ยชื่อบุคคลภายนอกซึ่งบุคคลภายนอก ตนพูดตรงๆ ว่าไม่ได้หมายความถึงนายทักษิณ จะเป็นผู้อื่นหรือใครก็ถือว่าเป็นบุคคลภายนอก ซึ่งไม่สามารถที่จะดำเนินการอภิปรายได้

“ไหนๆ ก็พูดมาแล้วว่าที่เราจะดำเนินการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ซึ่งระบุชัดเจนว่าการยื่นญัตติเป็นการอภิปรายคณะรัฐมนตรีทั้งคณะหรือเป็นรายบุคคลท่านสามารถจะระบุรายชื่อรัฐมนตรีทั้งคณะหรือเป็นรายบุคคลได้ แต่ถ้าในญัตติใส่ชื่อบุคคลภายนอกเข้าไปด้วย ท่านคงทราบว่าจะดำเนินการประชุมได้หรือไม่ เพราะเมื่อช่วงท่านอภิปรายเกี่ยวโยงอย่างไรท่านก็สามารถจะพูดได้ บางครั้งการพูดอาจไม่ต้องใช้ชื่อ ท่านจะใช้อย่างอื่นคนก็รู้ได้ คนประท้วงก็ประท้วงไม่ได้ ไม่ได้เชิงแนะนำ แต่อยากให้ไปด้วยดี ไม่ได้บอกว่ามีชื่อนายทักษิณไม่ได้แต่บุคคลภายนอกเป็นคนอื่น ถ้าเอามาใส่ในญัตตินี้ก็คงจะกระทำไม่ได้เช่นเดียวกัน” นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว

นายณัฐพงษ์กล่าวอีกว่า สิทธิการประท้วง เป็นสิทธิอยู่แล้วถ้ามีการเอ่ยชื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่สมาชิกอีกฝั่งหนึ่งไม่เห็นด้วยเขามีสิทธิประท้วงแต่สิ่งที่พวกตนไม่อยากเห็นคือบรรยากาศในที่ประชุมที่ประธานฯอาจจะไม่ได้วางตัวเป็นกลาง หรือไม่ได้เป็นไปตามข้อบังคับ เพราะหนังสือที่ประธานฯตอบกลับตนมาหน้าที่ 3 เขียนไว้อย่างชัดเจนว่าการอภิปรายของสมาชิกผู้แทนราษฎรผู้ใดที่อาจเป็นเหตุให้บุคคลอื่น ซึ่งมิใช่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับความเสียหายสมาชิกผู้นั้นต้องเป็นผู้รับผิดชอบผลแห่งการกระทำนั้นเอง ดังนั้นวันนี้ตนอยากได้ความชัดเจนจากประธานฯ เพราะการบรรจุหรือไม่บรรจุญัตติอยู่ที่ถ้อยคำในญัตติ ซึ่งเป็นอำนาจของประธานฯ แต่เราตีความต่างกัน ตนยืนยันว่าพวกเราเห็นว่าประธานฯไม่มีอำนาจวินิจฉัยในเรื่องของเนื้อหาสาระของญัตติ

“ถ้าวันนี้พวกผมจะยอมปรับถ้อยคำในญัตติ ผมอยากได้ความชัดเจนว่าถ้าในวันประชุมจริง ท่านประธานฯต้องยึดตามข้อบังคับว่า การอภิปรายพาดพิงถึงบุคคลภายนอกกระทำได้ และพวกตนพร้อมที่จะเป็นผู้รับผิดรับชอบต่อการกระทำนั้นเองโดยที่ประธานจะไม่ใช้อำนาจของประธานในการขัดขวางการอภิปรายไม่ไว้วางใจ” นายณัฐพงษ์กล่าว

นายวันมูหะมัดนอร์ชี้แจงว่า ตนก็เคยใช้วาจาอย่างนี้ และเคยใช้ในสภานี้ อาจจะคราวที่แล้ว โดยตนบอกจะรับผิดชอบเอง หากเอ่ยชื่อบุคคลภายนอกถ้าเขาฟ้อง แต่ประธานก็บอกว่าไม่ได้เพราะพูดในสภา ประธานที่ประชุมต้องรับผิดชอบในเรื่องกติกาและข้อบังคับ แต่ไม่ได้รับผิดชอบในเรื่องที่เขาจะฟ้องใคร ถ้าประธานปล่อยให้มีการประท้วงโดยที่ผู้พูดและผู้ประท้วงบอกว่ารับผิดชอบแล้วประธานมาทำหน้าที่อะไร ทั้งที่มีหน้าที่ในการรักษาความเรียบร้อยในที่ประชุม ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับเพราะฉะนั้นนขอความกรุณาแต่ถ้าท่านพูดไปแล้วไม่มีคนประท้วงประธานก็อาจจะปล่อยได้ แต่ถ้ามีผู้ประท้วงประธานต้องวินิจฉัยข้อบังคับ จะมาบอกล่วงหน้าว่าประธานให้สัญญาได้หรือไม่ ว่าจะไม่ห้ามเมื่อพูดแล้วจะรับผิดชอบเองถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวนอกห้องประชุมก็พูดได้ แต่ในห้องประชุมประธานฯต้องทำหน้าที่ดูแลควบคุมการประชุมให้เกิดความเรียบร้อย เพราะฉะนั้นประธานต้องทักทวงได้ จะไปบอกล่วงหน้าไม่ได้ เพราะไม่ใช่นายณัฐพงษ์คนเดียวที่พูด อาจจะมีสมาชิกคนอื่นหรือรัฐมนตรีทำผิดกติกาข้อบังคับก็ได้ นายกฯทำเองตนก็ต้องทักท้วง

“ผมขอเรียนด้วยความสุจริตใจว่าเราจะให้คนใดคนหนึ่งหรือพูดล่วงหน้าไม่ได้เพราะกติกาข้อบังคับมีหลายข้อขอความกรุณา เมื่อท่านบอกว่ายินดีจะแก้ญัตติก็ขอให้แก้อยู่ในกติกา และผมไม่ใช่คนแรกที่ให้มีการแก้จะติผมอยู่ในสภานี้มา 40 ปีสมัยที่ท่านชวน เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตอนนั้นนายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานสภา ท่านก็ขอ ให้ผู้ยื่นญัตติคือท่านชวนกับคณะไปแก้ไข ซึ่งท่านชวนก็ไม่ได้เห็นด้วยว่าญญัติของท่านบกพร่อง แต่เพื่อให้ความร่วมมือการอภิปรายดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ท่านก็แก้ไขในบางส่วน สุดท้ายการประชุมก็ดำเนินไปด้วยดี ประชุมของสภาเราจะเอาความเห็นส่วนตัวฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้แต่ในที่สุดต้องร่วมมือกันเพื่อให้การประชุมดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยสุดท้ายเราก็มีการลงมติและประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเองในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ยืนยันว่าผมไม่มีอคติ หากนายณัฐพงศ์จะแก้ญัตติก็ยินดีเพื่อให้ความร่วมมือ เป็นไปไม่ได้ถ้าเราจะดำเนินการอะไรโดยไม่มีความร่วมมือ ไม่ได้มีใครแพ้ใครชนะ ผู้ชนะคือประชาชน” ประธานสภากล่าว

ส่วน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ลุกขึ้นเสนอว่าให้ประธานใช้ข้อบังคับที่76 สามารถอนุญาตให้นายกฯและรัฐมตรี เอาบุคคลภายนอกเข้ามาชี้แจงได้เพื่อความสบายใจและเพื่อความเป็นธรรมของนายทักษิณ ประธานฯก็แค่ทำหนังสือถึงนายกฯว่า อนุญาตให้นายกฯพาบิดาเข้ามานั่งชี้แจงร่วมด้วยอันนี้ก็จะเป็นความเป็นธรรมของทั้งนายกฯและบิดาของนายกฯที่ชื่อทักษิณด้วย

นายวันมูหะมัดนอร์ชี้แจงว่า ไม่ได้หมายความว่าตนระแวง หวาดกลัวสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ตนไม่เคยระแวงและไม่ได้หวาดกลัวถ้าเราปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและข้อบังคับ

ด้าน นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ชี้แจงว่า ขออธิบายสิ่งที่นายวันมูหะมัดนอร์พาดพิงถึงในญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจสมัยตอนที่ตนเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ในปีนั้นมีการขอให้แก้ไขถ้อยคำในญัตติไม่ได้เกี่ยวกับชื่อบุคคลใด โดยถ้อยคำที่มีการขอให้แก้ไขคือญัตติที่ระบุว่ารัฐบาลกดขี่ข่มเหงข้าราชการ ซึ่งความจริงแล้วถ้อยคำนี้ไม่ควรต้องแก้ไข แต่ขณะนั้นรัฐบาลกลัวฝ่ายค้านมาก ชนิดที่ว่าต้องเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรมาสู้กับตน แต่เราก็ทำหน้าที่ของเราไปตามปกติ โดยเห็นว่าเมื่อประธานสภาได้ขอให้แก้ไขคำว่า “กดขี่ข่มเหงราชการ” ให้เป็นอย่างอื่น เราจึงแก้เป็น “รัฐบาลชอบอำนาจบาตรใหญ่ข่มเหงรังแกประชาชน” แก้แล้วหนักกว่าเดิม แต่ประธานสภาไม่สามารถให้แก้เป็นครั้งที่ 2 ได้ ทำให้การอภิปรายในวันนั้นอภิปรายไปทั้งข้อความกดขี่ข่มเหงราชการและข้อความที่แก้ไขใหม่ ขอย้ำว่าไม่ได้เกี่ยวกับชื่อบุคคล

ขณะที่ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวว่า ต่อไปนี้ถ้าประธานฯมีการใช้ดุลพินิจว่าห้ามใส่ชื่อบุคคลภายนอกแบบนี้ ต่อไปเราก็จะได้ทราบว่าเป็นบรรทัดฐานของการใช้อำนาจของประธานฯแบบนี้ เพราะหลังจากที่เกิดเรื่องนี้ ตนได้ไปค้นคว้ากว่า 40 ปี ตั้งแต่มีสภามา พบว่ามีหลายครั้งที่มีการพาดพิงบุคคลภายนอก และต้องตั้งคำถามว่าหากต่อไปนี้ท่านประธานฯบอกว่าควรจะมีการถอดชื่อโดยอ้างอิงถึงความบกพร่อง ซึ่งในมุมของพวกเราความบกพร่องต้องเป็นความบกพร่องในรูปแบบ เช่น ลายเซ็นไม่ครบหรือไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นแบบนี้เราพร้อมน้อมรับ แต่เมื่อประธานบอกว่าความบกพร่องเป็นการใส่ชื่อบุคคลภายนอก เราคงต้องยืนยันว่าเราไม่เห็นด้วยกับการใช้ดุลพินิจแบบนี้ และอยากให้เป็นมาตรฐานแบบนี้ต่อไปหรือไม่ ส่วนหนังสือที่ส่งมาที่ผู้นำฝ่ายค้าน แล้วปรากฏว่าเกิน 7 วัน นั่นคือวันที่ 8 มี.ค. ในแง่นี้มีการอ้างข้อบกพร่องตามข้อบังคับ ต้องภายใน 7 วันนั้นจะวินิจฉัยเรื่องนี้อย่างไร

นายวันมูหะมัดนอร์ชี้แจงว่า เรื่องมาตรา 151 เป็นเรื่อง ส.ส.กับรัฐบาล และ ครม. ก็ต้องดำเนินไปตามกติกาการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อย่างไรก็ตาม เรื่องจำนวนวัน ตนได้ถามหลายฝ่าย หลักคือไม่ต้องการให้สภายืดเยื้อซึ่งทางเจ้าหน้าที่กองการประชุม และฝ่ายกฎหมายก็ได้ชี้แจงแล้ว ยืนยันว่าในวันที่ 6 มี.ค. ตนได้เชิญผู้นำฝ่ายค้านฯไปคุยที่ห้องของตน แล้วบอกว่ามีข้อบกพร่องขอให้รับไปแก้ไข ผู้นำฝ่ายค้านจึงบอกว่าขอไปหารือก่อน ทั้งนี้ ตนคิดว่าการแจ้งด้วยวาจาชัดเจนกว่าด้วยซ้ำ และเถียงกันถือว่าเล็กมากประเด็นใหญ่คือทำอย่างไรเราจะได้อภิปราย และถ้าตนทำผิดก็ยินดีให้ดำเนินการตามมาตรา 157 ได้ไม่มีปัญหา

ทั้งนี้ จะมีการหารือกันอีกครั้งในช่วงบ่ายวันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image