ตัดเกรดศึกซักฟอก อิ๊งค์-ฝ่ายค้าน ประชาชนได้อะไร!??

ตัดเกรดศึกซักฟอก อิ๊งค์-ฝ่ายค้าน ประชาชนได้อะไร!??

ผลการโหวตมติไว้วางใจให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ต่อไป อย่างท่วมท้นด้วยคะแนน 319 เสียง ไม่ได้นับเป็นเรื่องประหลาดแต่อย่างใด

ยิ่งในสถานการณ์การเมือง ที่พรรคร่วมรัฐบาลยึดครองเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จ แถมยังมี ส.ส.หลายคนที่ต้องมาอยู่ฝ่ายค้าน พร้อมจะตีจาก แม้จะมีแก๊งผู้เฒ่าของประชาธิปัตย์ งดออกเสียง ก็ไม่ได้กระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลมากนัก

แต่ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ได้สะท้อนถึงอะไร และจะส่งผลอะไรต่อไปในอนาคต

ADVERTISMENT

หากอ่านตามความเห็นของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ก็บอกว่าได้เห็นจุดยืนของพรรคเพื่อไทยชัดเจน

แต่หากมองอีกมุม ที่ผ่านมาตลอดเวลาเกือบ 2 ปี ที่รัฐบาลเพื่อไทยดำรงตำแหน่ง หรือระยะเวลาร่วม 7 เดือนที่ผ่านมา ที่ น.ส.แพทองธาร ดำรงตำแหน่งนายกฯ

ADVERTISMENT

ทุกอย่างยังไม่ชัดเจนอีกเหรอ!??

ดังนั้นที่น่าสงสัยใคร่รู้จริงๆ ก็คือประชาชนได้อะไรจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ต่างหาก

หากตามอ่านความเห็นของแฟนคลับ ถ้าเป็นคนที่เชียร์ฝั่งแดง ก็อาจจะสะใจ การตอบโต้แบบเจนวาย ของนายกฯ ส่วนคนที่เชียร์ฝั่งส้ม ก็ชูมือสนับสนุนว่าเรียบเรียงข้อมูลจำเพาะเจาะจง ให้เห็นว่ามีดีลแลกประเทศจริงๆ และส่งผลความเสียหายทมางการเมืองอะไรบ้าง

แต่ถ้าเอาความสะใจของกองเชียร์ออกไปแล้ว มองให้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในกระบวนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มันคืออะไรกันแน่

เพราะหากยึดตามหลักการตรวจสอบของสภาแล้ว การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็คือการทำงานของฝ่ายตรวจสอบ เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้เห็นว่าฝ่ายบริหารคนไหน ทำงานบกพร่อง ผิดพลาด จนไม่สมควรจะให้ดำรงตำแหน่งอีกต่อไป

ดังจะเห็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจหลายครั้งที่ผ่านมา เกิดแรงกระเพื่อมต่อรัฐมนตรีที่ตอบคำถามไม่ได้ ตอบไม่เคลียร์ หรือเรียกว่า รมต.ยี้ แม้เสียงโหวตจะช่วยอุ้มให้ผ่าน แต่สังคมก็ตั้งคำถาม จนหลายครั้งเกิดการปรับ ครม. เอาบุคคลที่มีปัญหาออกไป

แล้วครั้งนี้การที่ฝ่ายค้านพุ่งเป้าเอาที่ตัวนายกฯแพทองธาร ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลว่าเป็นจุดอ่อนของรัฐบาล หรือบริหารงานบกพร่องผิดพลาดจริงๆ กลายเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุุดจริงแล้วเหรอ!?? 

เพราะหากฟังหลายเรื่องที่อภิปราย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปลาหมอคางดำ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม2.5 ปัญหาเศรษฐกิจ ล้วนเป็นเรื่องสำคัญที่กระทบต่อคุณภาพชีวิต ปากท้องของประชาชน

หากทิ่มแทงไปที่รัฐมนตรีที่รับผิดชอบ กางข้อมูลออกมาว่าบกพร่องผิดพลาดอย่างไร ย่อมทำให้กระบวนการตอบคำถาม หรือการชี้แจงของแต่รัฐมนตรี มีมิติมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

แม้แต่เรื่องไอโอกองทัพ ที่ฮือฮากับข้อมูลที่ปิดลับ หากพุ่งเป้าไปที่การใช้งบประมาณ รัฐมนตรีที่ต้องรับผิดชอบอย่างนายภูมิธรรม เวชยชัย ก็มีหน้าที่ตอบคำถามให้กระจ่าง ว่าข้อที่กล่าวหานั้นจริงหรือไม่อย่างไร

เพราะเมื่อทุกอย่างถูกมัดรวมไปที่ตัวนายกฯแพทองธาร เราจึงเห็นรัฐมนตรีตีกรรเชียง กลายเป็นมวยยก 5 ถอยถีบหนีไปเรื่อยๆ อ้าง ไม่มีนโยบายบ้าง ไม่รับรู้บ้าง หรือการชี้แจง ก็ทำไปแกนๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

ขณะที่นายกฯ ก็แทบไม่ได้ตอบอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะเรื่องราวสารพัดที่ไม่ได้พุ่งไปที่ตัวนายกฯโดยตรง เราจึงจะเห็นการตอบโต้ด้วยวาทกรรมที่ดุเดือด ราวกับการเอาใจแฟนคลับให้ได้ซี้ดซ้าดเพียงเท่านั้น

ส่วนเรื่องที่พุ่งเป้าที่ไปนายกฯ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ตั๋ว P/N หรือโรงแรมเขาใหญ่ ก็เป็นเรื่องก่อนที่จะดำรงตำแหน่ง แถมยังกลายเป็นประเด็นเรื่องความสุจริตเป็นที่ประจักษ์ ที่ใช้เล่นงานเรื่องจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ใช่การทำผิดกฎหมาย หรือทุจริตใดๆ

แถมเรื่องจริยธรรมนี้ เป็นข้อหาที่เคยมีคนแสดงความเห็นแล้วว่า ไม่ควรจะให้ศาลมาชี้เป็นชี้ตายนักการเมือง แต่สุดท้ายพรรคประชาชนก็นำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นเสียเอง

แน่นอนว่าการตอบโต้ของนายกฯ ก็ยังถูกตั้งคำถามเรื่องการนำเสนอวาระต่อสังคม ต่อสภา อย่างมีวุฒิภาวะ เป็นที่น่าเชื่อถือในฐานะผู้นำประเทศ ไม่ใช่จะทำตัวเป็นนางฟาด ตอกกลับใช้วาทกรรมโดยไม่มีเนื้อหาสาระใดๆ

กล่าวโดยสรุปเป็นการอภิปรายที่เต็มไปด้วยวาทกรรม ตอบโต้กันทางการเมือง กองเชียร์ทั้ง 2 ฝ่าย ก็อาจจะสะใจกันบ้าง

แต่ที่สุดแล้วประชาชนทั่วไป ที่หวังการบริหารงานของรัฐบาลจะช่วยให้ชีวิตเขาง่ายขึ้น หรือการตรวจสอบของฝ่ายค้าน จะช่วยตีกรอบให้รัฐบาลเดินตรงเส้นตรงทาง

ก็ยังไม่รู้จะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร!??

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image