หมายเหตุ – ส่วนหนึ่งของร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ มีสาระสำคัญของร่าง พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวคือการเพิ่มหมวดใหม่ เรื่อง การสืบสวนและสอบสวนโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สามารถสืบสวนและสอบสวนความผิดบางประเภทได้ด้วยตนเอง พร้อมให้ ก.ล.ต.มีอำนาจสั่งฟ้องได้หากอัยการมีความเห็นแย้งและคดีใกล้หมดอายุความ
ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ คณะที่ 5 (ด้านเศรษฐกิจและการเกษตร) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายพิชัย ชุณหวชิร) เป็นประธานกรรมการ ในคราวประชุม ครั้งที่ 3/2568 เมื่อวันศุกร์ที่ 14 มีนาคม 2568 เสนอ ซึ่งได้รับฟังความคิดเห็นและข้อชี้แจงของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รายงานต่อที่ประชุมว่าเห็นด้วยในหลักการเรื่องการให้อำนาจสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ดำเนินการสอบสวนคดีที่มีผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ (High Impact) ทั้งนี้ มาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 กำหนดให้กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ อาจเสนอให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานอื่นมาปฏิบัติหน้าที่ในกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อช่วยเหลือในการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษได้ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงมีมติ ดังนี้
1.อนุมัติหลักการของร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศที่จะตราพระราชกำหนด ตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับความเห็นของสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด และกรมสอบสวนคดีพิเศษในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงรายละเอียดของร่างพระราชกำหนดฯ ไปประกอบการพิจารณาต่อไปด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
2.เห็นควรมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินงานและการเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากร รวมทั้งแนวทางในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าร่วมดำเนินงานด้านการสอบสวนคดีในกรณีที่มีเหตุจำเป็น เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานเมื่อพระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้โดยเฉพาะในด้านการสอบสวนคดีต่อไป
ผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน ได้แก่ ผู้สอบบัญชีและสำนักงานสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้ประเมินราคาทรัพย์สินสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และผู้ให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดทุนที่อยู่ต่างประเทศ
สาระสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ฯ มี 7 ประเด็น
1.การเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบและการกำกับดูแลการขายหลักทรัพย์โดยหลักทรัพย์อยู่ในครอบครอง (การขายชอร์ต) เพื่อให้การกำกับดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ในลักษณะการขายชอร์ตภายใต้หลักการร่าง พ.ร.ก.นี้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่า สำนักงาน ก.ล.ต.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลสามารถได้มาซึ่งข้อมูลที่จำเป็นต่อการตรวจสอบการขายชอร์ตอย่างครบถ้วนและบังคับใช้กฎหมายได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะเป็นการรักษาความเชื่อมั่นในการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยเพิ่มบทบัญญัติ ดังนี้
1) เพิ่มหน้าที่ผู้ลงทุนในการขายหลักทรัพย์ที่ยังไม่มีหลักทรัพย์นั้นอยู่ในครอบครองต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด เช่น ต้องแสดงได้ว่ามีการยืมหลักทรัพย์ก่อนส่งคำสั่ง เป็นต้น เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับการกำกับดูแลการขายชอร์ตของสากล
2) เพิ่มหน้าที่ของผู้ให้บริการในต่างประเทศ ซึ่งทำหน้าที่รับฝากหลักทรัพย์ (Custodian) หรือถือครองหลักทรัพย์แทนบุคคลอื่น (Nominee Service) หรือบริการอื่นใดให้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงต่อสำนักงาน ก.ล.ต.
3) เพิ่มบทยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการเปิดเผย การแลกเปลี่ยน การเข้าถึง ตลอดจนการเก็บ การรวบรวม หรือการใช้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับประโยชน์ที่แท้จริง แต่ผู้ได้รับหรือครอบครองร้องจะเปิดเผยให้บุคคลอื่นในชื่อที่ไม่เกี่ยวข้องทราบไม่ได้ กำหนดโทษทางอาญาและการเปรียบเทียบปรับสำหรับผู้ที่ขายชอร์ตโดยฝ่าฝืน หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนกำหนด หรือแสดงข้อความอันเป็นเท็จโดยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญ หรือโดยประการอื่นที่น่าจะกระทบต่อเสถียรภาพต่อตลาดทุน ต้องระวางโทษ
จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับเป็นเงินไม่เกิน 2 เท่าของราคาขายของหลักทรัพย์ทั้งหมด แต่ทั้งนี้ เงินค่าปรับต้องไม่น้อยกว่า 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งการฝ่าฝืนหน้าที่การรายงานข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 300,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
2.การยกระดับการทำหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุนเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน โดยกำหนดเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน (เช่น ผู้สอบบัญชีและสำนักงานสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้ประเมินราคาทรัพย์สิน) ต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. และเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต.ในการมีหนังสือเตือน การสั่งให้แก้ไข การเสนอมาตรการแก้ไขด้วยตนเองได้ (Enforceable Taking) และการสั่งจำกัด หรือพักการประกอบการ หรือสั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ประกอบวิชาชีพมีความน่าเชื่อถือและสามารถทำหน้าที่เป็นแนวป้องกันการกระทำที่ไม่เหมาะสมที่อาจเกิดขึ้นในตลาดทุนได้
3.การกำหนดสิทธิของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ให้ครอบคลุมถึงการดำเนินแทนผู้ถือหุ้นกู้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการและล้มละลายทั้งกระบวนการจนกว่าคดีจะเสร็จสิ้น ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้ถือหุ้นกู้ที่จะดำเนินการในนามของตนเอง เนื่องจากในปัจจุบันผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ยังไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวในนามของตนเองเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้ทั้งปวงได้ ทั้งนี้ การปรับปรุงอำนาจของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ภายใต้หลักการร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้จะช่วยให้สามารถดูแลรักษาประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้ได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ที่กำหนดให้ถือว่าการกระทำของผู้แทนผู้ถือ
หุ้นกู้เป็นการกระทำของผู้ถือหุ้นกู้โดยตรง โดยไม่ตัดสิทธิผู้ถือหุ้นกู้ที่จะดำเนินการในนามของตนเอง
4.การรายงานข้อมูลการก่อภาระผูกพันในหลักทรัพย์ โดยให้บุคคลใดที่กระทำการก่อภาระผูกพันในหลักทรัพย์มีหน้าที่รายงานการก่อภาระผูกพันในหลักทรัพย์นั้นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และให้สำนักงาน ก.ล.ต.มีอำนาจเปิดเผยรายงานดังกล่าวต่อประชาชนเป็นการทั่วไป
ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้นักลงทุนได้รับข้อมูลสำคัญอย่างครบถ้วน และเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุน ลดช่องว่างการรับรู้ข้อมูลที่ไม่เท่าเทียมกัน รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์และการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ
5.การเพิ่มมาตรการทางกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการกระทำความผิดและยับยั้งความเสียหาย และการมอบหมายบุคคลอื่นจัดการทรัพย์สินที่ยึดอายัด กรณีนิติบุคคล ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เช่น บริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์ มีการเข้าทำธุรกรรมที่ไม่เหมาะสม และอาจส่งผลกระทบต่อนิติบุคคลและประชาชนผู้ลงทุน ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต.มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือยับยั้งการทำธุรกรรมนั้นไว้ชั่วคราวได้ภายในเวลาที่กำหนดแต่ไม่เกิน 60 วันทำการ และในกรณีที่มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของนิติบุคคล สำนักงาน ก.ล.ต.มีอำนาจปล่อยทรัพย์สินดังกล่าวได้ โดยอาจมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้ดำเนินการแทนโดยไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้มีเครื่องมือในการระงับยับยั้งการทำธุรกรรมของผู้ต้องสงสัยเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลดังกล่าวยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินอันจะช่วยป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นกับบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และผู้ลงทุนได้ รวมทั้งเพื่อช่วยให้กระบวนการตรวจสอบเพื่อปล่อยทรัพย์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
6.การสอบสวนคดีที่อาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน หรืออาจมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ (คดี High Impact) โดยเพิ่มหมวด “การสอบสวนคดี” เพื่อช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปด้วยความรวดเร็วและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปราบปรามการกระทำความผิดที่เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ โดยกำหนดให้สำนักงาน ก.ล.ต.มีพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบซึ่งมีอำนาจสืบสวนและสอบสวน คดี High Impact รวมทั้งให้อำนาจคณะกรรมการ ก.ล.ต.ในการเป็นผู้พิจารณาและมีมติกำหนดให้คดีใดเป็นคดี High Impact ที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีอำนาจสืบสวนและสอบสวนได้ นอกจากนี้ ในกรณีที่เลขาธิการ ก.ล.ต.เห็นว่า เพื่อประสิทธิภาพในการปราบปรามการกระทำผิดจะให้มีการสอบสวนร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้
กำหนดให้เลขาธิการ ก.ล.ต.และพนักงานที่เลขาธิการ ก.ล.ต.มีอำนาจสืบสวนและสอบสวนคดี High Impact และกำหนดให้คดีที่มีการกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบท และบทหนึ่งเป็นคดี High Impact ให้พนักงานสอบสวนตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ มีอำนาจสืบสวนสอบสวนสำหรับความผิดบทอื่นด้วย โดยให้ถือว่าการสอบสวนนั้นเป็นการสอบสวนคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ
กำหนดให้ในกรณีที่พนักงานสอบสวนตาม ป.วิอาญา (ฝ่ายตำรวจและฝ่ายปกครอง) หรือพนักงานสอบสวนคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษได้ทำการสอบสวนคดีในเรื่องใดไปแล้ว แต่ในภายหลังคณะกรรมการ ก.ล.ต.ได้มีมติให้คดีนั้นเป็นคดี High Impact ให้พนักงานสอบสวนตามกฎหมายอื่นดังกล่าวส่งมอบสำนวนการสอบสวนคดีดังกล่าวให้พนักงานสอบสวนตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อดำเนินการสอบสวนคดีต่อไป กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจในการเสนอให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานใดในหน่วยงานของรัฐมาปฏิบัติงานที่สำนักงาน ก.ล.ต.เป็นการชั่วคราวภายในระยะเวลาที่ ครม.กำหนดในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวนคดี
7.มาตรการการลงโทษกรณีมีการปฏิบัติฝ่าฝืน หรือไม่เป็นไปตามบทบัญญัติ เพิ่มบทกำหนดโทษอาญาสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต.ตามระดับความรุนแรงของการกระทำความผิด (เช่น กรณีผู้สอบบัญชีปฏิบัติงานสอบบัญชีเพื่อแสดงความเห็นต่องบการเงินไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชี หรือข้อกำหนดเพิ่มเติมตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด หรือทำรายงานเท็จหรือโดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี-10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสน-1 ล้านบาท
รวมทั้งเพิ่มบทกำหนดโทษอาญาสำหรับการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกรณีการขายชอร์ต และกรณีการไม่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับ End Beneficiary ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และเพิ่มบทกำหนดโทษมาตรการปรับเป็นพินัยให้มีความเหมาะสมและได้สัดส่วนกับความรุนแรงของการกระทำความผิดสำหรับผู้ให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดทุนที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด หนังสือเตือน และคำสั่งของสำนักงาน ก.ล.ต.