เท้ง-สมาคมวิศวกรโครงสร้าง ร่วมตรวจสภาพคอนโด ย่านนนทบุรี หลังแผ่นดินไหว

เท้ง ณัฐพงษ์ ร่วมสมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ ตรวจสภาพตึกที่มีรอยร้าวจากแผ่นดินไหว ประเดิมคอนโดย่านนนทบุรี ย้ำบทบาทพรรคประชาชน พร้อมสนับสนุนการทำงานทุกภาคส่วน เพื่อให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือเร็วที่สุด

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2568 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน พร้อมด้วย ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย และทีมวิศวกรอาสาของสมาคม ร่วมตรวจโครงสร้างอาคารเอกสิน เพลส คอนโด อ.เมือง จ.นนทบุรี ประเดิมความร่วมมือระหว่างพรรคประชาชนกับสมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ ในการนำทีมวิศวกรออกตรวจสภาพตึกที่มีรอยร้าวจากแผ่นดินไหวใน 4 จังหวัดปริมณฑล คือ สมุทรปราการ สมุทรสาคร นนทบุรี และปทุมธานี โดยมี ส.ส.พรรคประชาชน ได้แก่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรค, นายสุรพันธ์ ไวยากรณ์ ส.ส.นนทบุรี เขต 1 และนายนนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ ส.ส.นนทบุรี เขต 8 ร่วมด้วย

นายณัฐพงษ์กล่าวว่า วันนี้เป็นภารกิจต่อเนื่องจากเมื่อวานที่ตนมาสำรวจหน้างาน และได้ประสานงานกับสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ซึ่งต้องขอบคุณสมาคมที่ส่งวิศวกรผู้เชี่ยวชาญมาช่วยตรวจสอบอาคารให้ผู้อยู่อาศัยมีความเชื่อมั่นมากขึ้น

ADVERTISMENT

พรรคประชาชนต้องการเข้ามาสนับสนุนเติมเต็มกำลังการทำงานของทุกภาคส่วนเพื่อให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด เกิดความมั่นใจและได้รับการดูแลจากคนที่มีความรู้และเป็นผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบอาคารโดยตรง ขณะนี้มีประชาชนในพื้นที่ปริมณฑลแจ้งเรื่องมาที่พรรคอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งพรรคจะส่งต่อให้สมาคมช่วยตรวจสอบต่อไป

ADVERTISMENT

ด้าน ศ.ดร.อมรกล่าวว่า แผ่นดินไหวที่ผ่านมาถือเป็นเหตุการณ์ในระดับรุนแรงมาก และส่งผลกระทบต่ออาคารสูงโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทางสมาคมจึงตั้งทีมวิศวกรอาสากว่า 20 ทีม ทีมละประมาณ 20 คน รวมเกือบ 500 คน แบ่งเป็น กทม. 10 ทีมและปริมณฑล 10 ทีม เป้าหมายคือเข้าไปตรวจสอบโครงสร้างที่ได้รับความเสียหาย สำหรับคอนโดวันนี้มีความสูง 36 ชั้น ต้องตรวจดูว่าได้รับความเสียหายระดับใด วันนี้เราเน้นดูความมั่นคงของเสา ถ้าเสาแข็งแรง อาคารนั้นจะอยู่ได้

โดยขั้นตอนการทำงาน ลำดับแรกต้องคุยกับนิติบุคคล ดูแบบแปลนอาคารเพื่อทำให้เห็นว่าตำแหน่งใดเป็นโครงสร้างรับน้ำหนัก เสาและปล่องลิฟต์อยู่ตรงไหนบ้าง เนื่องจากเวลาเกิดแผ่นดินไหว ความเสียหายจะเกิดที่เสา ถ้าเป็นอาคารสูง เราจะตรวจความเสียหายที่โคนเสาด้านล่าง ปลายเสาด้านบน ชั้นล่างของอาคาร และชั้นกึ่งกลางความสูงอาคาร

หลังจากตรวจสอบดูแล้วก็จะประเมินความรุนแรงของรอยร้าว ซึ่งตอนนี้จัดไว้ 4 ระดับ

(1) ไม่พบรอยร้าวหรือรอยร้าวมีขนาดเล็กมาก ไม่มีปัญหา สามารถเข้าใช้สอยอาคารได้

(2) มีรอยร้าว แต่รอยร้าวมีขนาดเล็ก ไม่สามารถสอดบัตรประชาชนเข้าไปได้ แต่ถ้าสอดบัตรเข้าไปได้ ถือว่ารอยร้าวมีขนาดใหญ่ เข้าอยู่ได้แต่ควรซ่อมด้วยการฉีดประสานรอยร้าว (EPOXY) จะช่วยให้รอยร้าวประสานตัว โครงสร้างจะมีความสามารถในการรับน้ำหนักแบบเดิมได้

(3) ร้าวมาก คอนกรีตกะเทาะหลุดออกมา ถ้าหลุดแล้วเห็นเหล็กเสริม แต่เหล็กยังตรงอยู่ ยังมีกำลังรับแรง ก็ควรซ่อมแซมให้เรียบร้อย แต่ถ้าไปถึงระดับรุนแรงที่สุดคือ

(4) คอนกรีตกะเทาะถึงแกนกลางด้านใน ทำให้เหล็กต้องรับแรงแทนจนเกิดการโก่งงอ ถือเป็นความเสียหายระดับโครงสร้าง บางแห่งแค่ซ่อมผิวโดยเอาปูนไปแปะเฉยๆ แบบนั้นไม่ได้ ก่อนซ่อมแซมต้องเสริมเหล็กก่อน โดยใช้เหล็กเสริมเส้นใหม่ซึ่งเป็นเส้นตรงเอาไปทาบกับเส้นเดิม รัดเหล็กปลอกเส้นใหม่แล้วเทคอนกรีตหุ้ม

ศ.ดร.อมรกล่าวว่า หลังจากได้ผลตรวจสอบจะมีระบบเช็กลิสต์และบันทึกเข้าฐานข้อมูลทำ Google Maps เพื่อสรุปว่าในพื้นที่นนทบุรี หรือพื้นที่ กทม. เราไปตรวจที่ไหนแล้วบ้าง แต่ละอาคารมีความเสียหายมากน้อยระดับใด ก่อนทำรายงานสรุปให้หน่วยงานรัฐต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image