หมอเปรม ยื่นกระทู้สดถาม ‘อิ๊งค์’ พรุ่งนี้ แจ้งเตือนแผ่นดินไหวล่าช้า จี้ปมตึก สตง.ถล่ม

‘หมอเปรม’ เตรียมยื่นกระทู้สดถาม ‘นายกฯอิ๊งค์’ พรุ่งนี้ ถึงความด้อยประสิทธิภาพในการแจ้งเตือนประชาชนรับมือแผ่นดินไหว ซัดมีเครื่องมือพร้อม แต่ทำไมการแจ้งเตือนล้มเหลว

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ส.ว. เปิดเผยว่า จะยื่นกระทู้สดถาม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการประชุมวุฒิสภาในวันพรุ่งนี้ (31 มี.ค.) ถึงเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา แม้ว่าศูนย์กลางอยู่ในประเทศเมียนมา แต่ประเทศไทยได้รับผลกระทบหลายจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ถือว่าเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่กระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยครั้งร้ายแรงมาก แต่ทำไมหน่วยงานที่รับผิดชอบในการแจ้งเตือนประชาชน คือกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถึงไม่มีการแจ้งเตือนและแจ้งเตือนล่าช้า ซึ่งช้ากว่าเว็บไซต์การพนันออนไลน์เสียอีก จนก่อให้เกิดความตื่นตระหนก มีข่าวลือต่างๆ ออกมามากมาย จนเกิดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

นพ.เปรมศักดิ์กล่าวว่า การใช้ช่องทางแจ้งเตือนที่หลากหลายจะช่วยให้เข้าถึงประชาชนได้ทั่วถึง โดยเฉพาะในปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารมีความก้าวหน้า การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ เช่น แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน การแจ้งเตือนผ่าน SMS หรือการใช้สื่อสังคมออนไลน์ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการแจ้งเตือนภัยให้ทันท่วงที และเข้าถึงประชาชนได้อย่างกว้างขวาง รวมถึงการบูรณาการระบบแจ้งเตือนภัยให้เป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศก็จะช่วยให้การแจ้งเตือนมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นพ.เปรมศักดิ์กล่าวต่อว่า ระบบดังกล่าวควรเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ กสทช. เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว และควรมีการเชื่อมโยงระบบเตือนภัยกับประเทศเพื่อนบ้าน

ADVERTISMENT

“สิ่งที่กล่าวมาเหมือนว่าประเทศไทยมีความพร้อมทั้งหมด แต่สงสัยว่าการเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ทำไมถึงไม่มีการแจ้งเตือน และแจ้งเตือนล่าช้า จนทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ต้องยอมรับว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นนี้อย่างมาก ผมจึงจำเป็นต้องยื่นกระทู้สดถามนายกฯว่า 1.จะกำหนดมาตรการการแจ้งเตือนพิบัติภัยและสาธารณภัยให้เท่าทันต่อสถานการณ์อย่างไร 2.จะประสานงานกับหน่วยงานรัฐ เอกชน ไม่ให้มีผลกระทบต่อความเป็นปกติสุขของประชาชนอย่างไร และ 3.ทำไมการก่อสร้างตึกของ สตง.ซึ่งเป็นหน่วยงานตรวจสอบการใช้งบประมาณของส่วนราชการอื่นๆ ถึงถล่มระหว่างการก่อสร้างและถล่มอยู่ตึกเดียว” นพ.เปรมศักดิ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image