อนุทิน รับภารกิจช่วยเหลือ-กู้ซากตึกสตง. ยากพอๆ กับถ้ำหลวง สมอ.ลุยเก็บชิ้นส่วนตรวจสอบ

รองนายกฯ ‘อนุทิน’ ควง ‘เอกนัฏ’ รมว.อุตฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุตึก ‘สตง.’ ถล่ม เผยตัวเลขผู้ติดค้างใต้ซากอีก 50 คน พร้อมตั้งกรรมการสอบขีดเส้น 7 วัน ด้าน สมอ.นำชิ้นส่วนโครงสร้างตรวจหามาตรฐาน

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 30 มีนาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) พร้อมด้วย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) นำเจ้าหน้าที่สภาวิศวกรรมและเจ้าหน้าที่ มอก. เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุอาคารกำลังก่อสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เกิดถล่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา

นายอนุทินเปิดเผยว่า ขณะนี้หลายหน่วยงานอยู่ระหว่างเร่งค้นหาผู้รอดชีวิตและผู้เสียชีวิต ซึ่งยังคงพบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายในที่เกิดเหตุมีทีมแพทย์ประจำการสำหรับประเมินความเป็นไปได้ เพื่อวางแนวทางให้ความช่วยเหลือ เพราะขณะนี้ยังไม่สามารถใช้เครื่องจักรทั้งหมดเข้าไปดำเนินการเต็มที่ได้ แต่ก็มีความหวังจะยังคงมีผู้รอดชีวิตอยู่

ADVERTISMENT

นายอนุทินระบุว่า การช่วยเหลือกรณีหากพบผู้รอดชีวิตนั้น จากการตรวจสอบภายในพบช่องอากาศที่สามารถจะใช้ในการสอดท่อลมเข้าไปได้ แต่ประเด็นคือผู้ที่ยังไม่สามารถออกมาได้ เนื่องจากถูกทับด้วยโครงสร้างขนาดใหญ่ ทำให้ไม่สามารถขยับตัวได้ ถือเป็นความยากลำบากในการทำงาน ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ยังมีทีมวิศวกรคอยประเมินการทำงานด้านการเจาะโครงสร้าง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ติดค้างอยู่ภายในซากอาคารและผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ ขณะนี้ได้เครื่องมือเข้ามาเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก เช่น เครนขนาด 500 ตัน และ 600 ตัน ซึ่งก็จะนำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้ในการทยอยยกคานขนาดใหญ่ซึ่งมีน้ำหนักมากลงมาด้านล่างเพื่อลดแรงกดทับจากด้านบน ลดความเสี่ยงในการถล่มเพิ่มเติม

“การได้เครนขนาดใหญ่มาเป็นจำนวนมากถือเป็นผลดี เพราะจะช่วยถ่วงดุลน้ำหนักของโครงสร้าง โดยขณะนี้พบหน่วยกู้ภัยจากต่างประเทศเข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงานทั้งหน่วยกู้ภัยและผู้เชี่ยวชาญ” นายอนุทินระบุ

ADVERTISMENT

นายอนุทินกล่าวต่อว่า ส่วนการตรวจสอบหาสัญญาณชีพขณะนี้อยู่ระหว่างใช้เครื่องมือในการตรวจสอบ แต่ต้องยอมรับว่าสัญญาณค่อนข้างอยู่ในระดับต่ำ ส่วนนี้อาจมาจากการที่ผู้ติดค้างอยู่ในซากอาคารติดค้างอยู่ภายในเป็นเวลานานหลายวัน อาจทำให้ไม่มีแรงในการขยับตัว ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องหาวิธีค้นหาผู้ติดค้างในทุกวิถีทาง โดยในวันพรุ่งนี้ก็จะครบเวลา 72 ชั่วโมงที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่จึงเพิ่มแผนปฏิบัติงาน โดยจะต้องมีการประเมินและวิเคราะห์การปรับใช้เครื่องมือตลอด 24 ชั่วโมงโดยผู้เชี่ยวชาญ

รองนายกฯอนุทินกล่าวอีกว่า สำหรับตัวเลขผู้สูญหาย จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่ายังคงมีผู้ที่ติดค้างอยู่ภายใต้เศษซากอาคารอีกประมาณ 50 คน แต่ไม่ได้หมายความว่าหากครบทั้ง 50 คน แล้วจะหยุดการค้นหา ซึ่งภารกิจในครั้งนี้ยอมรับว่ามีความยากลำบากและสำคัญเทียบเท่าใกล้เคียงกับภารกิจถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ส่วนการตรวจสอบสาเหตุเบื้องต้นได้มีการตั้งคณะกรรมการโดยขีดเส้นให้ดำเนินการภายใน 7 วัน โดยมีวิศวกรใหญ่ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรม และนักวิชาการเป็นคณะทำงานตรวจสอบ โดยการตรวจสอบจะเน้นไปที่วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งขณะนี้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ลงพื้นที่เก็บชิ้นส่วนไปตรวจสอบ

“ส่วนตัวมองว่าตึกนี้น่าจะมีปัญหา เนื่องจากในพื้นที่กรุงเทพฯมีตึกเป็นจำนวนกว่า 10,000 ตึก บางตึกมีอายุมากกว่า 30-50 ปี แต่ก็ไม่เห็นเกิดปัญหาเหมือนเช่นอาคารแห่งนี้ ซึ่งเดิมทีประเทศไทยก็มีมาตรฐานในการก่อสร้างอาคารสูง เพราะฉะนั้น ผมไม่อยากให้นำข้อมูลการก่อสร้างของอาคารแห่งนี้มาเปรียบเทียบกับตึกอื่นๆ” รองนายกฯอนุทินกล่าว

ขณะที่ ปภ.สรุปความคืบหน้าตึกถล่ม ณ เวลา 15.00 น. วันที่ 30 มีนาคม พบว่า มีผู้ประสบเหตุ 96 ราย เสียชีวิต 11 ราย (ชาย 8 ราย หญิง 3 ราย) บาดเจ็บ 9 ราย อยู่ระหว่างการติดตาม 76 ราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image