“อิ๊งค์” เสียงเข้ม ไล่บี้แก้ไขปัญหาส่ง SMS เตือนภัย ช้า ชี้ เป็นช่องทางเตือนเชิงรุก ด้านหน่วยงานรัฐ-ค่ายมือถือ โยนเผือกร้อน ต้นเหตุแจ้งช้า
เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 31 มีนาคม 2568 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามและแก้ไขปัญหาการเตือนภัย SMS มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายภาสกร บุญญาลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดย นายประเสริฐ ได้รายงานนายกรัฐมนตรี และประชุม หลังจากนายกฯได้สั่งการ ให้กระทรวงดิจิทัล ปภ.กสทช. และโอเปอเรเตอร์ ประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 29 มีนาคมผ่านมา เพื่อหาสาเหตุถึงความล่าช้าในการส่ง SMS แจ้งเตือนประชาชน หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา
โดยคณะทำงานได้ประชุมร่วมกัน ได้ข้อสรุป 3 ส่วนถึงดำเนินการที่ช้า คือในช่วงสรุปข้อความ และขั้นตอนการส่งข้อความ เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ที่ประชุมร่วมกันได้สรุปว่า ในส่วนของ ปภ.ได้ให้ทำระบบปฏิบัติการใหม่ในเรื่องการเตือนภัย ซึ่งเป็นหน้าที่ของปภ.อยู่แล้ว ตามพ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย พ.ศ. 2550 ส่วนที่สอง คือกำหนดระยะเวลาไทม์ไลน์ ถ้าเกิดเหตุแล้วใช้เวลากี่นาทีเพื่อที่จะให้เกิดความเร็ว และอีกส่วนคือเรื่องของโอเปอเรเตอร์ ได้เรียกค่ายโทรศัพท์มือถือมาพูดคุยศึกษาดูว่า ระบบที่เป็นแมนนวนก่อนที่ระบบเซลล์บอร์ดแคส ยังทำงานไม่ได้ จะต้องมีการใช้ระบบสำรองอย่างไรในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน
ด้าน นายกฯได้สอบถามว่า ความจากใคร เวลาส่งแจ้งเตือนประชาชน ออกมาจากหน่วยงานใด
ทำให้อธิบดี ปภ. ชี้แจงว่า หลังจากได้รับข้อมูลจากกรมอุตุฯ ศูนย์เฝ้าระวังแผ่นดินไหวของ สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี หากข้อมูล 2 ทางยืนยันตรงกัน จะเริ่มทำการวิเคราะห์ข้อมูล โดยวันเกิดเหตุได้รับข้อมูล จากกรมอุตุนิยมวิทยา และในเว็บไซต์ของสหรัฐอเมริกาที่ยืนยันตรงกันใน เวลา 13.36 น.
ทำให้นายกฯ แย้งขึ้นว่า ปภ.ส่งครั้งแรก ในเวลา 14:40 น จำได้ โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
อธิบดีปภ. จึงชี้แจ้งต่อว่า การวิเคราะห์ข้อมูลของเราใช้เวลาประมาณ 10 นาที แต่ในขณะที่เหตุการณ์จริงใช้เวลา 4 นาที หลังจากฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลได้รับข้อมูลตรงกัน เพราะต้องดูแลสั่นสะเทือนและระยะ เวลาที่จะมาถึงเรา และหลังจากรับ SMS แจ้งเตือนจากกรมอุตุฯก็ได้ส่งกระจายข้อมูลทันที
จากนั้น นายกฯ กล่าวขึ้นว่า ต้องปรึกษาภาคเอกชน ว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหวก็ชัดเจนอยู่แล้ว ความแรงของแผ่นดินไหวเอาไว้ก่อน แต่ถามเอกชนว่า ถ้าเกิดภายใน 5 นาที สามารถที่จะสื่อสาร และสรุปได้หรือไม่ เข้าใจว่า ต้องรอให้ข้อมูลชัด แต่ในเมื่อแผ่นดินไหวเกิดขึ้นแล้ว สามารถส่ง SMS ได้เลยหรือไม่ เช่นข้อความสั้นแจ้งเตือนให้ออกจากตึก ต้องสอบถามจากเอกชนว่า มีวิธีการหรือไม่ว่าจะต้องทำอย่างไร ให้รวดเร็ว
ขณะที่ นายจักรกฤษณ์ ตัวแทนบริษัททรู กล่าวว่า การส่ง SMS ต้องเรียนตามตรงว่า ไม่ใช่เป็นการสื่อสารหลักในการแจ้งเตือนภัย เพราะวิธีการส่งเราต้องรู้เลขหมายก่อน อย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นครั้งนี้ทาง ปภ.ส่งมายัง Operator ว่า ขอให้ส่งแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เราต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์ข้อมูล ว่ามีหมายเลขใดบ้างที่อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงชาวต่างชาติที่เปิดโรมมิ่ง ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จึงจะทราบจำนวนเบอร์ที่อยู่ในพื้นที่ จึงจะสามารถส่ง SMS แจ้งเตือนได้ เพราะเราต้องรู้ก่อนว่าใครอยู่ตรงไหนบ้าง ซึ่งคำสั่งแรกบอกให้เราส่งในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรีและปทุมธานี แต่ปริมาณในการส่ง ข้อความแจ้งเตือนก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละค่ายมือถือ ดังนั้น การจัดส่ง SMS อย่างเดียว จึงไม่เพียงพอจำเป็นจะต้องมีการโทรแจ้งเตือนด้วย แต่หากมีเหตุจำเป็นจริงๆเราก็จะมีการเพิ่มปริมาณในการส่งข้อความในแต่ละครั้ง ไม่ใช่ช่อง แต่ขอย้ำว่า SMS ไม่ใช่ช่องทางเดียวในการส่งข้อความแจ้งเตือน
ขณะที่ นายกฯเห็นด้วยว่า SMS ไม่ใช่ช่องทางเดียว แต่เรื่องของแผ่นดินไหวเราไม่ทราบล่วงหน้า และตนก็คิดว่าการส่ง SMS เป็น การแจ้งข้อมูลเชิงรุก เช่น หากเรานั่งต่อจิ๊กซอว์อยู่ ไม่ได้กำลังเล่นมือถือ จะรู้ได้อย่างไร ดังนั้น SMS จึงเป็นหนึ่งในช่องทางการแจ้งเตือนเชิงรุก ซึ่งเมื่อช่วงเช้า ตนก็ต้องชี้แจงว่า ไม่ใช่แผ่นดินไหวทั้งการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนและชี้แจงในช่องทาง โซเชียลมีเดีย เพื่อเป็นการยืนยันว่า ไม่ใช่แผ่นดินไหว