อนุทิน นั่งปธ. สอบ หาต้นเหตุตึกสตง.ถล่ม พาณิชย์พบ บริษัทรับเหมาจีน รับงานราชการ 11 แห่ง
เมื่อวันที่ 1 เมษายน นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการในการประชุม กรณีสถานการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา ส่งผลต่อหลายพื้นที่ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคเหนือ และกรุงเทพมหานคร โดยขอสั่งการให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงาน และระดมทุกสรรพกำลัง จากทั้งภาครัฐ เอกชน และอาสาสมัครในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์ดังกล่าว และรัฐบาลขอขอบคุณจากใจในทุกภาคส่วนถึงความเสียสละของทุกๆ ท่านที่ร่วมมือกันจนสถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว แต่เพื่อเป็นการป้องกัน การเตรียมรับมือและมีมาตรการที่ชัดเจนในการรับมืออุบัติภัย ภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ทุกประเภท ทั้งอุทกภัย สึนามิ ไฟป่า รวมถึงแผ่นดินไหว โดยขอสั่งการดังต่อไปนี้
1.ให้กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการจัดทำแผนและมาตรการในการป้องกันภัยพิบัติต่างๆ โดยมีการแบ่งหน้าที่และขั้นตอนต่างๆ อย่างชัดเจน (Flowchart) เพื่อให้เกิดความเข้าใจกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับมาเสนอภายในสิ้นเดือนนี้ และขอให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หามาตรการในการประสานงานกับทางกระทรวง DE กรมอุตุนิยมวิทยา และ กสทช. ในการส่งข้อความเตือนภัยที่ชัดเจนและรวดเร็วมากขึ้น ให้มีการใช้ระบบ Virtual cell broadcast กับอุปกรณ์โทรศัพท์ทุกรูปแบบ
ทั้งนี้ ระหว่างการรอระบบ Cell broadcast ที่จะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อให้ระบบสื่อสารเตือนภัยมีประสิทธิภาพสูงสุดในการเตือนภัยแก่สาธารณชนในสถานการณ์ต่างๆ ทั้งจากภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว น้ำท่วม ดินถล่ม อุบัติเหตุ อุบัติภัยต่างๆ เช่น ไฟไหม้ อุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นต้น แม้กระทั่งการรุกรานจาก cyber crime โดยให้ศึกษาในประเทศต่างๆ ที่มีบทเรียนที่ดีในเรื่องภัยพิบัติต่างๆ และให้กรมโยธาธิการฯ เร่งออกมาตรการ ข้อกำหนดในการตรวจสอบอาคารสูงทุกอาคารเพื่อให้ได้มาตรฐาน โดยร่วมมือกับทาง กทม.และสมาคมที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญ และควรจะกำหนดเกณฑ์มาตรฐานและออกใบรับรองมาตรฐานอาคารเพื่อให้เกิดความมั่นใจกับประชาชนและนักท่องเที่ยว
2.สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศ เร่งปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศที่มีความพร้อมในระบบเตือนภัย เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป นิวซีแลนด์ และอิสราเอล โดยประสานผ่านสถานทูต เพื่อเชิญมาประชุมกับผู้ที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับประเทศไทยให้เร็วที่สุด
3.ให้กระทรวงสาธารณสุขวางแผนในการเตรียมการรับมือทั้งแพทย์ฉุกเฉิน เตียงสนามให้เพียงพอ รวมถึงจิตแพทย์ที่จะดูแลฟื้นฟูผู้ที่รับผลกระทบ
4.กระทรวงการท่องเที่ยวฯ สั่งการให้เร่งสื่อสารกับนักท่องเที่ยว หรือชาวต่างชาติที่มาทำงานในประเทศไทยให้ได้รับข้อความเตือนภัย และแผนรับมือกับเหตุการณ์ได้อย่างชัดเจน
5.ให้กระทรวงทรัพยากรฯ ระดมนักวิชาการทางด้านธรณีวิทยา เพื่อรวบรวมข้อมูลและจัดทำข้อเสนอแนะในมาตรการรับมือที่ถูกต้อง และป้องกันภัยได้อย่างรัดกุมที่สุด รวมถึงการตรวจระบบอุปกรณ์เตือนภัยต่างๆ ที่เคยมีอยู่ให้สามารถใช้งานได้อย่างปกติ เช่น ระบบเตือนภัยสึนามิ ตลอดจนการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้มากยิ่งขึ้น
6.ให้กระทรวงศึกษาธิการ เร่งเพิ่มเติมหลักสูตรและแผนการรับมือภัยธรรมชาติในทุกรูปแบบให้กับนักเรียน นักศึกษาทุกระดับ
7.ให้กระทรวงคมนาคม เร่งตรวจสอบเส้นทางคมนาคมทุกมิติให้มีความพร้อมในการให้บริการกับประชาชน รวมถึงตรวจสอบงานก่อสร้างขนาดใหญ่ให้ได้มาตรฐาน สามารถรองรับภัยธรรมชาติต่างๆ ได้
8.ให้สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมมือกับ ปภ.เร่งสรุปมาตรการในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวโดยเร็วตามที่กฎหมายกำหนด และให้กรมประชาสัมพันธ์-เป็นศูนย์กลางในการกระจายข่าวสารที่ถูกต้องอย่างทั่วถึง รวมทั้งกระจายไปยังช่องทางต่างๆ ให้ครบถ้วน ทั้งสถานีวิทยุ โทรทัศน์ และแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น Facebook หรือ LINE รวมทั้งให้ประสานขอความร่วมมือกับเอกชนที่มีป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ที่สามารถขึ้นภาพได้ทันทีเพื่อให้เกิดการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง
นายจิรายุกล่าวต่ออีกว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้คณะกรรมการสืบหาต้นเหตุของตึกก่อสร้าง สตง.ถล่มในครั้งนี้ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ให้เร่งตรวจสอบหาข้อเท็จจริงภายใน 7 วัน หากมีความผิดต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป
“อาคารก่อสร้างถล่มครั้งนี้ต้องหาสาเหตุ และหาผู้รับผิดชอบให้ได้ ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะอยู่ยาก ต้องมีผู้รับผิดชอบเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวต่อไป” นายกรัฐมนตรีกล่าว
จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้สอบถามในแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้รายงานต่อ ครม.ว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ได้รับเป็นคดีพิเศษเพื่อติดตามตรวจสอบการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวที่พบว่ามีนอมินีมากถึง 17 บริษัท
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าวรับงานส่วนราชการไปทั้งหมด 11 งาน 10 งาน อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ส่วนงานที่แล้วเสร็จเป็นอาคารเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งจะเข้าดำเนินการตรวจสอบต่อไป
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม รายงานว่า ผลของการตรวจสอบเหล็กพบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยจะส่งข้อมูลให้พนักงานสอบสวนเพื่อประกอบสำนวนการสอบสวนต่อไป