ส.ส.ปชน. แนะรัฐบาล ยกระดับองค์ความรู้รับมือภัยพิบัติ ทั้งแนวปฏิบัติของภาครัฐ-ประชาชน

‘นิติพล’ แนะ รบ. ยกระดับองค์ความรู้ให้ประชาชนทุกวัยรับมือสภานการณ์ภัยพิบัติ พร้อม เตรียมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน

เมื่อวันที่ 2 เมษายน นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาชน เปิดเผยว่า กรณีแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน สะท้อนความจริงให้เห็นว่าการเตรียมความพร้อมและองค์ความรู้เกี่ยวกับการรับมือภัยพิบัติของเรายังน้อยเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเผชิญหน้ากับภัยที่ไม่เคยเจอมาก่อนยิ่งทำตัวไม่ถูก ซึ่งอาจนำไปสู่ความสับสนโกลาหลและทำให้บริหารจัดการสถานการณ์ได้ยากขึ้นไปอีก จึงถึงเวลาที่สังคมไทยจะต้องถอดบทเรียนและยกเครื่องการรับมือภัยพิบัติอย่างจริงจังทั้งในส่วนของภาครัฐและการเตรียมความพร้อมให้ประชาชน

“แม้ว่าสังคมไทยจะเคยประสบเหตุภัยพิบัติมาแล้วหลายครั้ง แต่ต้องยอมรับว่าทุกครั้งเรามักเจอกับปัญหาเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นไม่มีการแจ้งเตือน เกิดเหตุแล้วไม่รู้จะปฏิบัติตัวอย่างไร หรือหนีได้แต่ก็ไม่รู้อพยพไปไหน แต่สิ่งที่แตกต่างในการบริหารจัดการแผ่นดินไหวครั้งนี้ คือการได้เห็นประสิทธิภาพของการกระจายอำนาจ คือการให้ กทม.เป็นเจ้าภาพหลักในการบริหารสถานการณ์ จึงทำให้สถานการณ์ในหลายด้านคลี่คลายได้เร็วขึ้น แต่พื้นที่นอก กทม. กลับพบว่าเป็นการจัดการตามระบบราชการแบบเก่า จึงเป็นที่น่าเสียดายว่าหากไม่ใช้โอกาสนี้ในการถอดบทเรียนเพื่อออกแบบการรับมือภัยพิบัติทั้งระบบ ในอนาคตหากเกิดเหตุอีก เราก็จะเจอปัญหาแบบเดิมๆ วนเวียนซ้ำไปซึ่งอาจนำไปสู่ความสูญเสียที่มากกว่าเดิมได้” นายนิติพลกล่าว

นายนิติพลกล่าวต่อไปว่า ภาครัฐควรเป็นเจ้าภาพหลักในการยกเครื่ององค์ความรู้ด้านภัยพิบัติ ทั้งแนวปฏิบัติของภาครัฐเองและสำหรับประชาชน สำหรับภาครัฐอาจนำเอาการบริหารจัดการของ กทม.เป็นต้นแบบ โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารต้องมีความชัดเจน รายงานตามข้อเท็จจริงและรายงายอย่างรอบคอบ ไม่สร้างความตื่นตระหนก ระบบแจ้งเตือนต้องใช้งานได้จริง สื่อของรัฐต้องเป็นกลไกสำคัญในการสื่อสารกับประชาชนที่วางใจได้ ไม่ใช่ปล่อยให้ไปค้นหากันเอาเองในโซเชียลซึ่งอาจไปเชื่อข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ ภาครัฐจะต้องเตรียมการให้พร้อมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น เสบียงอาหาร น้ำ ยา ไฟฉาย ต้องมีการกำหนดจุดให้ประชาชนไปรวมตัวกันเมื่อเผชิญเหตุ เช่น สวนสาธารณะต่างๆ เพื่อให้การช่วยเหลือได้ง่าย เป็นต้น

ADVERTISMENT

นายนิติพลกล่าวว่า เราต้องสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชนทุกช่วงวัย วัยเด็กควรมีสอนในโรงเรียน ตั้งแต่การเตรียมถุงยังชีพในสถานการณ์ฉุกเฉินให้พร้อมไว้ในบ้านสำหรับการหยิบฉวยได้ง่ายทุกเวลา การเอาตัวรอดจากภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ เช่น กรณีแผ่นดินไหวหากอยู่ในอาคารชั้นสูง ไม่สามารถออกมากลางแจ้งได้ง่าย ควรหลบอยู่ใต้โต๊ะเพื่อป้องกันเศษปูนเศษกระเบื้องที่อาจหล่นลงมาได้ ให้รอจนแผ่นดินเริ่มสงบแล้วจึงค่อยรีบออกมาอย่างมีสติ เพราะหากรีบออกมาในช่วงเกิดเหตุท่ามกลางความวุ่นวายก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ ในเด็กโตอาจสามารถฝึกให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น การ CPR หรือปั๊มหัวใจเพื่อกู้ชีพ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้นอกจากการเรียนรู้แล้ว ต้องหมั่นซ้อมอย่างจริงจังจนสามารถปฏิบัติได้อย่างเคยชิน ไม่ตื่นตระหนกเมื่อเกิดเหตุ

สำหรับวัยผู้ใหญ่ นอกจากทักษะในการช่วยเหลือตัวเองแล้วอาจต้องมีทักษะในการช่วยเหลือผู้อื่น โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุที่ยังช่วยเหลือตัวเองได้ไม่ดีพอ และจะต้องมีทักษะในการสังเกต ประเมินความเร่งด่วนของสถานการณ์ การตัดสินใจเพื่อสามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์และช่วยชีวิตคนอื่นๆ ได้

ADVERTISMENT

“อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการยกเครื่องการรับมือภัยพิบัติ เพราะปัจจุบันและในอนาคตเราอาจเจอสถานการณ์ที่ไม่รู้จักและมีความรุนแรงมากกว่านี้อีกก็ได้ เราจึงจำเป็นต้องมีองค์ความรู้และหมั่นฝึกฝนจนชำนาญ แน่นอนว่าเราอาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดได้ แต่เราลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ สิ่งสำคัญคือต้องมีเจตจำนงที่แน่ชัดที่จะทำ จากวันนี้เราไม่ควรจะต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่อีกแล้ว สึนามิเราก็เจอมาแล้ว มหาอุทกภัยก็เจอมาแล้ว โควิดก็เจอมาแล้ว ครั้งนี้เจอแผ่นดินไหว แต่หลังจากนี้เราจะต้องไม่เหมือนเดิมวนกลับไปนับหนึ่งเหมือนที่แล้วๆ มา ดังนั้น ในเดือนเมษายนนี้ แม้อากาศจะร้อนแต่เรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ท่านไม่ต้องรีบร้อน กลับไปศึกษาให้ดีก่อนก็ยังทัน แต่สิ่งสำคัญที่เราควรคุยกันภายในสมัยประชุมสภานี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องการถอดบทเรียนแผ่นดินไหวเพื่อยกเครื่องการรับมือภัยบัติให้สามารถนำปฏิบัติใช้อย่างจริงจังให้เร็วที่สุด ผมคิดว่ารีบคุยกันตอนนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนอย่างยิ่ง” นายนิติพลกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image