รมว.ยุติธรรม คิ๊กออฟ ‘อ่านหนังสือลดวันต้องโทษ‘ หวังเปลี่ยนเรือนจำเป็น มหา‘ลัย ยกระดับ ‘หลักนิติธรรม’ ลดการกระทำผิดซ้ำ ด้าน ‘สำนักพิมพ์มติชน’ ร่วมส่งมอบ 170 ปกสู่ 24 เรือนจำ มูลค่ากว่า 1.2 ล้านบาท
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 3 เมษายน ที่ลานสานฝัน สถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park Park) ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 8 นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ มอบหมายให้ นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีฯ ร่วมเปิดกิจกรรม Kick off ‘โครงการอ่านหนังสือลดวันต้องโทษ’ (Read for Release) โดยมี พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน และแขกผู้มีเกียรติร่วมด้วยคับคั่ง
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ เครือมติชน ร่วมกับ มูลนิธิ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ มูลนิธิบรรจง พงศ์ศาสตร์ ได้ร่วมส่งมอบหนังสือในโครงการ ’Trust in Reading ปันความรู้ สู่โอกาสใหม่‘ ให้แก่เรือนจำและทัณฑสถาน 24 แห่ง จาก 48 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเป็นหนึ่งในแรงสนับสนุนโครงการ Read for Release เพิ่มพูนทักษะความรู้เพื่อต่อยอดโอกาสให้แก่ผู้ก้าวพลาด
นายชาญ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ภารกิจสำคัญของกรมฯ คือการปฏิบัติต่อผู้ก้าวพลาด ตามหลักสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล โดยพันธกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือการแก้ไขและพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ก้าวพลาด อย่างมีประสิทธิภาพ การให้การศึกษาจึงเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และเป็นการเตรียมความพร้อมในการ ‘คืนคนดีสู่สังคม’ ตามสถิติพบว่า ผู้ก้าวพลาดกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ มีวุฒิการศึกษา ต่ำกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นในการส่งเสริมการศึกษา เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและการกระทำผิดซ้ำ
โดย กรมฯ ได้ศึกษาแนวทางขับเคลื่อนภารกิจด้านการพัฒนาพฤตินิสัยในระกับสากล พบว่า การบริหารโทษ ที่เชื่อมโยงกับการศึกษาและการพัฒนาตนเอง จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างแรงจูงใจสำคัญ ให้ใช้เวลาภายในเรือนจำอย่างมีคุณค่า กองพัฒนาพฤตินิสัย จึงจัดทำโครงการนี้ขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ทรงคุณวุฒิและภาคีที่เกี่ยวข้อง โดยเริ่มจากการเชื่อมโยงโครงการด้านการอ่านหนังสือ เข้ากับประโยชน์ด้านการเลื่อนขั้น เป็นหนทางหนึ่งในการกระตุ้นให้ผู้ก้าวพลาด เรียนรู้พัฒนาตนเอง ให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากการเลื่อนชั้น
ทั้งนี้ ได้ดำเนินควบคู่ไปกับการแก้ไข พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 เพื่อนำไปสู่การอ่านหนังสือลดวันต้องโทษจำคุก ในระยะเวลาต่อไป
“โครงการอ่านหนังสือประกอบการพิจารณาเลื่อนชั้น พิจารณาคัดเลือกจากเรือนจำที่มีห้องสมุดพร้อมปัญญา ที่ได้รับรางวัลห้องสมุด และเรือนจำที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับการอ่านหนังสือ จำนวน 21 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.จูงใจให้พัฒนาความรู้และทักษะอาชีพ 2.ส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน แสวงหาความรู้ เห็นคุณค่าตนเอง และพร้อมกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพ 3.ลดความแออัดในเรือนจำ
ซึ่งการอ่านหนังสือจะประกอบไปด้วย 1.การอ่านภาคบังคับที่ได้รับการสนับสนุนหนังสือ 8 หมวด 2.ในภาคเสรี มีหน่วยงานและพันธมิตรให้การสนับสนุน อาทิ สำนักพิมพ์มติชน วิระธุรกิจ คณะกรรมการฯ คณะคู่สมรสรัฐมนตรี ฯลฯ และจากบุคคลและหน่วยงานที่สนับสนุนโครงการอ่านลดวันต้องโทษอีกมากมาย
ถือเป็นโอกาสสำคัญในการเปิดโอกาสการศึกษา และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน” นายชาญกล่าว
ด้าน พ.ต.อ.ทวี รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแห่งการให้โอกาส และคนที่เห็นคุณค่าของโอกาสมากที่สุดคือผู้ต้องราชทัณฑ์ ซึ่งในปัจจุบันมีประมาณ 280,000 คน บางครั้งก็เลื่อนไป 300,000 คน
โดยในจำนวนนี้ เราพบว่าจากข้อมูลทางทะเบียน 76% มีการเรียนต่ำกว่าการศึกษาที่รัฐบาลให้เรียน คือ ม.6 แต่ถ้าเราเอาการศึกษาขั้นพื้นฐานไปรวมด้วย คือ 17 % ในเรือนจำ แต่ถ้าเรามองคนที่จบสูงกว่า ม.6 ขึ้นไปมีแค่ 23% ส่วนระดับ ป.ตรี โท มีเพียง 3 % เท่านั้น
ถ้าวันนี้เราสามารถทำให้คนไทย เรียนหนังสือได้ เข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานภาคบังคับ คาดว่าเราจะมีผู้ต้องขัง 6.7 หมื่นคน
“การศึกษาจะแก้ปัญหาทุกอย่าง รวมถึงผู้ต้องราชทัณฑ์ ในจำนวนนั้นส่วนใหญ่ติดยาเสพติด ผมจึงคิดว่าเป็นสาระสำคัญ โดยกฎหมายราชทัณฑ์ เราได้เปลี่ยนแปลงจากการข่มขู่ สู่ ‘การพัฒนาพฤตินิสัย’ เราอยากให้เรือนจำเป็นพื้นที่สร้างความมั่นคง ปลอดภัย เพื่อออกไปสร้างความเจริญให้ประเทศ
ในกฎหมาย เขียนบังคับให้ ‘ผู้บัญชาเรือนจำ’ (143 แห่ง) ต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยปัจจุบันมี 2.6 แสนคน ที่ต้องจัดการศึกษาให้คนกลุ่มนี้ได้เคลื่อนมาจบ ป.6 หรือ ปวช. เป็นอย่างน้อย ในเรือนจำไม่มีคนจบครูเลย เราไปเขียนกฎหมายซ่อนไว้อยู่ใน 1 มาตรา ซึ่งถ้าจะเรียนสูงกว่านั้น เช่น ปวส. ปริญญาตรี ก็ให้ผู้ต้องขังออกสตางค์เองได้
ถ้าเราสามารถทำให้คนไทยทุกคน เรียนฟรี จบ ป.ตรี อย่างมีคุณภาพ เรือนจำแทบจะไม่มีนักโทษเลย จะอยู่แค่ 6,000-7,000 คนเท่านั้น การศึกษาจึงเป็นยา เป็นอะไรที่สำคัญที่สุด” พ.ต.อ.ทวีชี้
พ.ต.อ.ทวีกล่าวต่อว่า กฎหมายเขียนไว้ดีมากว่า หากผู้ต้องขังเป็นผู้มีความประพฤติดี มีความอุตสาหะ และมีความก้าวหน้าทางการศึกษา เขาสามารถได้ลดโทษจำคุกได้เดือนละ 5 วัน แต่เรายังไม่ได้ออกกฎกระทรวงเรื่องนี้อย่างชัดเจน
”เป็นกฎหมายที่ดีมาก เพราะเรือนจำเรามีไว้ออก ไม่ได้มีไว้เข้า เราต้องการให้เขาออกอย่างมีคุณภาพ ‘โครงการอ่านหนังสือลดวันต้องโทษ’ มีหลายประเทศไปทำ เช่น บราซิล กระทั่งผู้ต้องโทษในเรือนจำอ่านหนังสือมากกว่าประชาชน 9 เท่า
“คนไทยอ่านหนังสือปีละ 7 บรรทัด อย่างน้อยเรามีคนเกือบ 40,000 คน ไม่ได้เรียนหนังสือ สถานที่ดร็อปเอาต์มากที่สุดคือ ในเรือนจำ ไม่ต้องไปหาที่ไหน จึงเป็นโครงการที่เราอยากจะเปลี่ยน อย่างน้อยที่สุดคนที่ไม่เคยได้รับการศึกษาเลย ก็ได้ศึกษา อย่างน้อยอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น สำคัญที่สุด” พ.ต.อ.ทวีกล่าว
พ.ต.อ.ทวีเผยว่า กว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ต้องขังที่เสพยาบ้า เช่น เสพยาเพื่อใช้แรงงานไปกรีดยา เป็นต้น
”ปัจจุบันในภาคอีสานมีผู้ต้องขังยาเสพติดเยอะ เพราะเขาต้องไปกรีดยาง ที่บึงกาฬมีมาก คนก้าวพลาดกลุ่มนี้ ถ้าเขาไม่ได้เป็นอาชญากร เขาจะเป็นกำลังหลักของพ่อแม่ ของลูก เราควรให้โอกาสเขา
เราควรเปลี่ยนเรือนจำ เป็นมหาวิทยาลัยได้แล้ว คงไม่มีมหาวิทยาลัยไหน มีนักศึกษา ราว 300,000 คน เป็นมหาวิทยาลัยชีวิต” พ.ต.อ.ทวีเผย
พ.ต.อ.ทวีกล่าวต่อว่า ราชทัณฑ์มีความโชคดีที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานโครงการ ‘ห้องสมุดพร้อมปัญญา’ ซึ่งเรือนจำหลายแห่งมีหนังสือมากถึง 30,000-40,000 เล่ม รวมถึงมีโครงการ To Be Number One เพื่อฝึกอาชีพด้วย
“อยากฝากว่า วันนี้เป็นสำคัญคือ ทุกท่านได้มาทำสิ่งที่เป็นอนาคตให้กับประเทศ เขาบอกว่าจะดูอดีตสังคมใดให้ดูที่พิพิธภัณฑ์ ถ้าจะดูอนาคต ให้ดูที่การศึกษา วันนี้เรากำลังสร้างอนาคต ผมขอเปิดกิจกรรมคิ๊กออฟ ‘โครงการอ่านหนังสือลดวันต้องโทษ’ อย่างเป็นทางการ ขอให้โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่และก้าวสำคัญของกระบวนการยุติธรรม ที่เราจะยกระดับ หลักนิติธรรม และหวังว่าการกระทำผิดซ้ำจะลดน้อยลง รวมทั้งเป็นการสื่อไปยังกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาล ถ้าเราอยากให้ลูกหลานมีอนาคตที่ดี เราต้องการให้การศึกษา เราจึงมาร่วมกันสร้างการศึกษามนเรือนจำทุกแห่ง” พ.ต.อ.ทวีกล่าว
จากนั้น รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ มอบของที่ระลึก เป็นภาพวาดฝีมือผู้ต้องขังหญิง เรือนจำกลางธนบุรี ก่อนร่วมถ่ายภาพหมู่คณะผู้บริหาร คณะกรรมการ ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติ
เวลา 13.45 น. เข้าสู่พิธีรับมอบหนังสือบริจาค เพื่อสนับสนุนโครงการฯ โดยเริ่มจาก ผู้แทนคณะคู่สมรสคณะรัฐมนตรี ได้แก่ นางสุนีย์ สอดส่อง คู่สมรส รมว. มอบหนังสือ ‘พลิกมุมคิด ชีวิตเปลี่ยน’, นางอภิญญา เวชยชัย คู่สมรส รมว.กลาโหม มอบ ‘มาสู้กับปัญหากันเถอะ‘, นางสุทธาสินี สกุลคู คู่สมรส รมว.คลังมอบ ‘เด็กแนว‘, ดร.นาที รัชกิจประการ คู่สมรส รมว.แรงงาน มอบ ‘แค่เริ่มต้นใหม่ไม่ใช่พ่ายแพ้’, นางก่อกาญจน์ เสงี่ยมพงษ์ คู่สมรส รมว.ต่างประเทศ มอบ ‘พักให้ไหวค่อยไปต่อ‘ , นางวรัญญา โรจนสกุล คู่สมรส รมช.คลัง มอบ ‘ซึมสุข’, พญ.มัธนา เลิศสุริย์เดช คู่สมรส เลขาธิการนายกฯ มอบ ‘จุดเทียนทั้ง 2 ปลาย‘ , นางวนิดา นาคพาณิชย์ คู่สมรส รมช.กลาโหม มอบ ‘เข้าใจโลก’, นางธัญยธรณ์ นริพทะพันธุ์ คู่สมรส รมว.พาณิชย์ มอบ ‘แพ้ได้แต่ไม่ยอม’, วิภา จันทรรวงทอง คู่สมรส รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มอบ ‘EQ ดี อารมณ์ดี ชีวิตสดใส, คนทำงานสำเร็จไม่ตำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ, ชีวิตอภิแซ่บงานสุดขีดจี๊ดสุดติ่ง‘
จากนั้น ตัวแทน ‘เครือมติชน’ นำโดย นายสรพันธุ์ บุนปาน กรรมการผู้จัดการบริษัทงานดี จำกัด, นายเจตนา จนิษฐ ที่ปรึกษาบริษัทงานดีฯ นายนฤตย์ เสกธีระ บรรณาธิการ กองบรรณาธิการมติชน, และ นายมณฑล ประภากรเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักพิมพ์มติชน ร่วมส่งมอบหนังสือแห่งละ 170 เล่ม โดยส่งไปแล้ว 24 แห่งทั่วประเทศ มูลค่ากว่า 1.2 ล้านบาท
ตามด้วย นายพงศ์พันธ์ ประภาศิริลักษณ์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน), นางริสรวล อร่ามเจริญ กรรมการผู้จัดการบริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด, นายเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก, นายพีรพล สุนทรินคะ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เวลตี้ฟู้ด แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด, น.ส.สุคนธา สินธพ ผู้บริหารงานวรรณกรรมเด็ก ประภาคารเอ็ดดูเคชันในเครือ บริษัท สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช, นางสุชาดา สหัสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทพาส เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ร่วมส่งมอบหนังสือ รวมถึงออดิโอ้บุ๊ก (หนังสือเสียง) 70 เรื่อง เพื่อผู้ต้องขังที่มีปัญหาทางสายตา อีกด้วย
โดย พ.ต.อ.ทวี รมว.ยุติธรรม ยังมอบของที่ระลึกจากทัณฑสถานให้กับผู้สนับสนุนโครงการฯ ได้แก่ ผู้แทนคู่สมรสคณะรัฐมนตรี สำนักพิมพ์มติชน บุคคลและหน่วยงานที่สนับสนุนกิจกรรม ตลอดจนสถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ก่อนเดินเยี่ยมชมบูธนิทรรศการ ประกอบด้วย นิทรรศการกิจกรรมอ่านหนังสือของผู้ต้องขัง การจัดชั้นผู้ต้องขัง การเลื่อนชั้น และการลดวันต้องโทษ รวมทั้งนิทรรศการเรือนจำ/ทัณฑสถานนำร่อง 21 แห่ง และตัวอย่างหนังสือภาคบังคับและเสรี
จากนั้น มีเวทีเสวนาพิเศษในหัวข้อ “ความสำคัญของการอ่านหนังสือเพื่อประกอบการเลื่อนชั้นและลดวันต้องโทษจำคุก” โดย นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์, ตัวแทนคณะกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการ Read for Release ร่วมด้วย ผู้พ้นโทษที่ประสบความสำเร็จจากการอ่านหนังสือ