สภาถก 11 ญัตติ หาทางรับมือแผ่นดินไหว-ภัยพิบัติ ชง ‘ครม.’ ผุดมาตรการตรวจสอบ ‘บ.รับจ้าง’ ขึ้นบัญชีดำผู้รับเหมา หวังป้องกันเหตุซ้ำรอยตึก สตง.ถล่ม ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ เสนอมาตราการ ‘ระยะสั้น-กลาง-ยาว’ แนะ รบ.กอบกู้ความเชื่อมั่น-สื่อสารกับ ปชช.ชัดเจน
เมื่อเวลา 16.15 น. วันที่ 3 เมษายน ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มี นายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง เข้าสู่ระเบียบวาระญัตติด่วนด้วยวาจาของ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชนและผู้นำฝ่ายค้าน เรื่อง ขอให้สภาพิจารณามาตรการในการจัดการผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวอย่างเป็นระบบ โดยมีญัตติจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคกล้าธรรม พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนา เสนอเข้าพิจารณาด้วยทั้งหมด 11 ญัตติ เพื่อส่งต่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการต่อไป และตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญขึ้นมาพิจารณา
นายณัฐพงษ์อภิปรายเสนอญัตติว่า เหตุแผ่นดินไหวในครั้งนี้ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการเขย่าแผ่นดินอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนสูญเสียความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขาดความโปร่งใสในโครงการก่อสร้างต่างๆ เช่น โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ รวมถึงการจัดการเหตุภัยพิบัติที่ประชาชนในหลายภาคส่วนอาจจะยังรอคอยการช่วยเหลือเยียวยา ดังนั้น อยากเสนอมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อจัดการปัญหา
นายณัฐพงษ์กล่าวต่อว่า ระยะสั้น จะเห็นได้ว่าประชาชนยังไม่กล้ากลับเข้าห้องของตัวเอง เนื่องจากยังกังวลในความปลอดภัย และหลายกรณีไม่ได้เกิดเหตุที่มีผลต่อโครงสร้างอาคาร แต่อาจมีความวิตกกังวล หรือเรียกว่าอาการแพนิค ก็มีการอพยพออกมานอกอาคารเป็นจำนวนมาก สิ่งต่างๆ เหล่านี้เชื่อว่าเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเป็นภารกิจที่รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดการให้แล้วเสร็จ เพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่นของประชาชนกลับมา คือการตรวจสอบอาคารในเบื้องต้น โดยใช้วิศวกรควบคุม คนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการเข้าไปตรวจสอบหน้างาน ในหลายกรณีก็สามารถวิเคราะห์ได้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวไม่มีผลต่อโครงสร้างและอาคารมีความปลอดภัยอย่างเพียงพอ โดยกรุงเทพฯได้มีการดำเนินการในส่วนนี้แล้ว
นายณัฐพงษ์กล่าวว่า อีกส่วนคือผู้ตรวจอาคารอย่างเป็นทางการต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตจากกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นผู้ตรวจอาคารที่ได้รับการอนุญาตอย่างเดียวเท่านั้น ในส่วนนี้ยังมีปัญหาคอขวด หากเราเข้าไปในเว็บไซต์ของกรมโยธาธิการฯมีผู้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจทางการมีจำนวนไม่มาก ยิ่งในต่างจังหวัดมีจำนวนน้อย และค่าตรวจสอบอาคารแพง กลายเป็นว่าในขณะนี้เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ ผู้ตรวจตรวจสอบอาคารที่เป็นผู้ตรวจสอบทางการหลายคนเรียกเก็บค่าตรวจเป็นหลักแสนบาท และกระโดดขึ้นมาในช่วงเกิดวิกฤต ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องเข้าไปแก้ไข
“เห็นว่าในต่างจังหวัดมีปัญหาทับซ้อนของราชการ ประชาชนขาดความชัดเจนว่าหากเกิดปัญหาแบบนี้จะต้องไปติดต่อใคร ซึ่งการจัดการอย่างเป็นระบบจะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการจัดการภัยพิบัติของรัฐ ซึ่งสิ่งที่เป็นข้อเสนอแนะของพวกเราคือรัฐบาลต้องมีระบบกลางในการรับเรื่องตรวจอาคาร รวมถึงการรับเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยใช้กับทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะในกรุงเทพฯ” นายณัฐพงษ์กล่าว
ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวว่า ส่วนมาตรการระยะกลาง ต้องเริ่มคิดเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาของผู้ได้รับผลกระทบ ทราบมาว่าขณะนี้คณะกรรมการกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีมติในการจัดสรรเงินช่วยเหลือแล้ว เชื่อว่าประชาชนหลายคนยังไม่รับทราบข้อมูลในส่วนนี้ และไม่ทราบว่าจะต้องติดต่อใคร หรือเตรียมเอกสารในการยื่นเรื่องอย่างไร ดังนั้น จึงเสนอว่าเปิดระบบให้ประชาชนสามารถยื่นเรื่องขอรับเงินชดเชยเยียวยาเข้ามาได้ อาจจะผ่านระบบแอพพลิเคชั่นไลน์ เว็บไซต์ หรือผ่านแอพทางรัฐก็ได้ และเพื่อรองรับประชาชนส่วนหนึ่งที่อาจจะยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีคือการตั้งจุดบริการเคลื่อนที่ในการลงไปรับเรื่องตามพื้นที่ต่างๆ รวมถึงรัฐบาลต้องควบคุมราคาวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ไม่ให้มีการฉวยโอกาสในการขึ้นราคาในช่วงวิกฤต และเร่งรัดในการประสานงานกับธุรกิจประกันภัยที่ต้องมีการเบิกจ่ายเรื่องค่าเบี้ยประกันภัยโดยเร็ว หากเป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้ทำประกันไว้ อย่างไรก็ตาม ประชาชนต้องเข้าถึงสิทธิของพวกเขาได้ โดยที่ไม่ต้องให้วิ่งวุ่น หรือวิ่งเรื่องด้วยตัวเอง
นายณัฐพงษ์กล่าวว่า ส่วนมาตรการระยะยาว คือการสร้างความเชื่อมั่นต่อรัฐ คิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกอบกู้ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐคืนมา คือสร้างความโปร่งใส ขณะนี้สิ่งที่สังคมกำลังตั้งคำถามคือ สัญญาจัดซื้อจัดจ้างของ สตง.ที่มีการว่าจ้างกับบริษัท อาจเป็นบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจจีน และมีประวัติด่างพร้อย โดยมีคำถามว่า สตง. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานในการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐให้มีความโปร่งใส เหตุใดถึงยอมให้บริษัทที่มีประวัติเช่นนี้เข้ามารับโครงการมูลค่ากว่า 2 พันล้านบาทกับ สตง. รวมถึงธุรกิจสีเทาต่างๆ ที่ผลิตสินค้าไม่ได้มาตรฐาน
นายณัฐพงษ์กล่าวด้วยว่า ส่วนที่มีความสำคัญอีกเรื่องคือการรับมือเตรียมแผนในอนาคต ซึ่งแผ่นดินไหวครั้งนี้ เชื่อว่าไม่มีใครคาดคิด คำถามคืออาคารเก่าที่มีการก่อสร้างก่อนกฎกระทรวงปี 2550 ที่ว่าด้วยการก่อสร้างอาคารต้องรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ใครสามารถที่จะให้ความเชื่อมั่นกับประชาชนได้ ดังนั้น สิ่งที่ตนคิดว่ามีความจำเป็นคือรัฐบาลควรจะต้องมีแผนและความชัดเจนว่าจะเข้าไปตรวจสอบอาคารเก่าที่ก่อสร้างก่อนกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวจะบังคับใช้อย่างไร รวมถึงเตรียมจัดสรรงบประมาณต่างๆ หรือมาตรการต่างๆ เพื่อให้มีการเสริมความแข็งแรงของอาคารเหล่านั้นเพื่อรองรับกับแผ่นดินไหวในอนาคต
ด้าน นายธีระชัย แสนแก้ว ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายเสนอญัตติต่อประเด็นตึก สตง.ถล่มหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งมีข้อสังเกตจากสังคมว่าอาจเป็นเพราะการทุจริต โดยการตรวจสอบผู้ถือหุ้นพบว่า ส่อว่าเป็นนอมินีคนจีน ซึ่งแปลกใจว่าทำไม สตง.ไม่ตรวจสอบกรณีดังกล่าว ขณะเดียวกันการตรวจสอบเหล็กเส้นก่อสร้างตึก สตง.พบความไม่ได้มาตรฐาน
“สโลแกนของ สตง.คือเงินแผ่นดินคือเงินภาษีของประชาชนทั้งชาติ แต่ผมขอฝากว่า สตง.กำลังถูกคนทั้งแผ่นดินตรวจสอบกลับ ที่ผ่านมา สตง.ไม่มาชี้แจง หรือให้ข้อมูลใดๆ มีแค่การออกมาบรรยายความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ผมขอถามว่าอะไรคือไม่เป็นธรรมสำหรับ สตง. ประชาชนไม่มีสิทธิสงสัย หรือวิจารณ์การพังของตึกที่มาจากภาษีของประชาชนกว่า 2,000 ล้านบาทหรือ ขณะเดียวกันยังพบเอกสารการซื้อวัสดุที่มีราคาแพง จึงต้องการให้ สตง.ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง” นายธีระชัยกล่าว
จากนั้นผู้เสนอญัตติอภิปรายเหตุผลจนครบ 11 ญัตติ ก่อนที่จะเปิดให้ ส.ส.อภิปราย โดยมีข้อเสนอที่ส่งไปยังรัฐบาลต่อการรับมือภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต คือการตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบโครงการก่อสร้างของรัฐและกำกับให้เป็นไปตามกฎหมายที่ต้องมีการก่อสร้างตามแบบ มีผู้ควบคุมงาน รวมถึงควบคุมมาตรฐานสินค้าในการก่อสร้าง พร้อมกับตั้งข้อสังเกตด้วยว่าในการก่อสร้างอาคารของหน่วยงานราชการพบว่ามีผู้รับเหมาที่ไม่มีความเป็นมืออาชีพ ทำให้เกิดการทิ้งงาน และบางครั้งพบการจ้างก่อสร้างต่อหลายทอด จนทำให้ผู้ที่รับช่วงที่อยู่ในลำดับท้ายไม่มีกำไรและส่อว่าจะขาดทุน จนทำให้ต้องมีการเปลี่ยนสเปกวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ที่ไม่ได้มาตรฐานจนนำไปมาสู่ความเสียหายในอนาคตได้
ดังนั้น รัฐบาลควรยกระดับตรวจสอบบริษัทผู้รับจ้าง รับเหมาก่อสร้าง และหากพบว่าบริษัทใดไม่ทำตามกติกาให้ขึ้นบัญชีดำ และตัดสิทธิการได้รับงานจากหน่วยงานของรัฐ รวมถึงระบบเตือนภัยที่ดี คล่องตัวและแม่นยำในอนาคต