นายกฯ ต้อนรับ 7 ผู้นำ ร่วมประชุม BIMSTEC ถก มินอ่องลาย ร่วมแก้อาชญากรรมข้ามชาติ-แก๊งคอล-หมอกควัน

เริ่มแล้ว! นายกฯ ต้อนรับ 7 ผู้นำ ร่วมประชุม BIMSTEC ครั้งที่ 6 ถก มินอ่องลาย ร่วมแก้อาชญากรรมข้ามชาติ-แก๊งคอล-หมอกควัน

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 4 เมษายน ที่โรงแรมแชงกรี-ลา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล สำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ครั้งที่ 6 ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างประเทศครั้งแรกแบบตัวต่อตัว ในรอบ 7 ปี โดยมีผู้นำประเทศในกลุ่มสมาชิกเข้าร่วม ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส ประธานคณะที่ปรึกษารัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ, ดาโช เชริง โตบเกย์ นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏาน, นายนเรนทร โมที นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐอินเดีย, พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ไลง์ นายกรัฐมนตรีเมียนมา, นายเค พี ศรรมะ โอลี นายกรัฐมนตรีเนปาล และ ฮารินี อมราสุริยา นายกรัฐมนตรีศรีลังกา

ซึ่งการประชุม BIMSTEC จะมีการหารือเพื่อกำหนดแนวทางสำหรับความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุน การเชื่อมโยงทางกายภาพ ดิจิทัล เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ และเป็นการริเริ่มและผลักดันของไทย ตามนโยบายมองตะวันตก ปัจจุบันบิมสเทคมีความร่วมมือ 7 สาขา คือ 1.การค้า การลงทุน และการพัฒนา 2.สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3.ความมั่นคง 4.การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร 5.การปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน 6.วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และ 7.ความเชื่อมโยง ไทยรับตำแหน่งประธานบิมสเทคต่อจากศรีลังกา ซึ่งผู้นำทุกประเทศสมาชิกได้เข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง สะท้อนถึงการยึดมั่นในพันธสัญญาที่ทุกประเทศร่วมกันในฐานะสมาชิก ที่มีประชากรทั้งหมดราว 1,800 ล้านคน เป็นพลังและความจำเป็นที่ทุกประเทศจะต้องมีความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ

ADVERTISMENT

ก่อนเริ่มการประชุม น.ส.แพทองธาร พบหารือทวิภาคีกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย นายกรัฐมนตรีเมียนมา กล่าวแสดงความซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานสิ่งของแก่ประชาชนเมียนมา ซึ่งได้จัดส่งถึงเมียนมาแล้วเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยผู้นำทั้งสองฝ่ายได้หารือครอบคลุมทั้งความร่วมมือด้านการป้องกันพิบัติภัย ทั้งภัยธรรมชาติ และภัยจากมนุษย์ อาชญากรรมข้ามพรมแดน ยาเสพติด และการลักลอบการค้าที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะความร่วมมือ ในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และขบวนการอาชญากรรมออนไลน์ รวมทั้งประสานเหยื่อผู้ถูกหลอกลวงกลับประเทศ ซึ่งมาตรการที่เด็ดขาดของประเทศไทย ทำให้การส่งข้อความและการโทรศัพท์หลอกลวง ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยนายกฯ กล่าวว่า ได้สั่งการหน่วยความมั่นคงให้มีการดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมภัยไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองฝ่าย ยังให้ความสำคัญต่อการดำเนินการในการเดินหน้าตาม ยุทธศาสตร์ฟ้าใส เพื่อยกระดับการป้องกันและแก้ไขไฟป่า ฝุ่นละออง และหมอกควัน โดยมีสมาชิก 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว และเมียนมา โดยที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างมาก จุดความร้อน และปัญหาฝุ่น ควันลดน้อยลง นอกจากนี้ ไทยและเมียนมา ยังได้ร่วมกันเตรียมการป้องกันปัญหาน้ำท่วมด้วยการเร่งขุดลอก รื้อถอน สิ่งกีดขวางทางน้ำในแหล่งน้ำ และแม่น้ำระหว่างสองประเทศเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ ก่อนฤดูฝนในปีนี้ ประเทศไทยและเมียนมา จะร่วมกันแบ่งปันองค์ความรู้ทางการเกษตรและปศุสัตว์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกษตรสมัยใหม่ เช่นข้าวโพด ให้มีผลผลิตมากขึ้น ให้ทำลายธรรมชาติน้อยลง และลดการเผาพืช รวมทั้งการส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ ไก่ โค สุกร ซึ่งจะสร้างรายได้และความมั่นคงให้กับเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น

จากนั้นในช่วงบ่ายน.ส.แพทองธาร มีกำหนดหารือทวิภาคีกับกับศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส ประธานคณะที่ปรึกษารัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ และหารือทวิภาคีกับ หรินิ อมรสูริยะ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image