นายกฯอิ๊งค์ ชู วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 ในเวทีบิมสเทค ชวน ผู้นำประเทศสมาชิก ยืนไว้อาลัยเหตุดินไหว เมียนมา ถ้อยแถลงกระชับความร่วมมือ บิมสเทคเอฟทีเอ พัฒนาความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ-เสนอตั้งศูนย์ภัยพิบัติ รับมือสถานการณ์
เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 4 เมษายน ที่โรงแรมแชงกรี-ลา นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนเปิดการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล สำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ครั้งที่ 6 นางสาวแพทอง ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับผู้นำประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมา และส่งผลกระทบที่ไทยได้รับผลกระทบ ว่า แสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต และทุกส่วนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น พร้อมกับขอให้ผู้นำประเทศสมาชิกยืนสงบนิ่งไว้อาลัยให้กับผู้สูญเสียเป็นเวลา 1 นาที
จากนั้นนายกฯ กล่าวต้อนรับผู้นำและผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกสู่การประชุม ว่า เป็นความภาคภูมิใจของไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม หลังจากที่ไม่ได้จัดการประชุมแบบพบหน้ากันมาเป็นเวลากว่า 7 ปี เป็นโอกาสสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ และหารือแนวทางในการเสริมสร้างความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ในกลุ่มสมาชิก โดย BIMSTEC เป็นกลุ่มประเทศที่มีประชากรรวมกันกว่า 1,800 ล้านคน คิดเป็น 22% ของประชากรโลก และมี GDP รวมกันประมาณ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ความร่วมมือนี้ถือเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนในอนาคต
นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่ได้เสนอในที่ประชุมคือ “วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030” เป็นกรอบความร่วมมือ ที่จะนำประเทศสมาชิก BIMSTEC ไปสู่อนาคตที่มีความเจริญรุ่งเรือง ยืดหยุ่น และเปิดกว้าง วิสัยทัศน์นี้ถูกออกแบบเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ส่งเสริมความเชื่อมโยง และการเสริมสร้างศักยภาพในการรับมือกับปัญหาระดับโลก โดยศักยภาพทางเศรษฐกิจของ BIMSTEC ที่มีจำนวนประชากร รวมกันเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรโลก การค้าภายในอยู่ที่ประมาณ 6% จึงเสนอให้สมาชิกเร่งผลักดันการจัดทำ BIMSTEC FTA ที่จะเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจ การค้า
นอกจากนี้ การลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล จะเป็นการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าทางทะเลที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะที่โครงการแลนด์บริดจ์ของไทยทจะช่วยเสริมการเชื่อมโยงระหว่างอ่าวไทยกับอ่าวเบงกอลด้วย
ทั้งนี้ประเทศไทยยังมุ่งมั่นร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อเร่งรัดการก่อสร้างทางหลวงสำคัญระหว่างประเทศที่จะเชื่อมโยงประเทศไทยไปยังเมียนมาจนถึงอินเดียให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดได้ส่งผลกระทบต่อความคืบหน้าของโครงการนี้ นอกจากนี้ สันติภาพ ความมั่นคง ความปลอดภัย และเสถียรภาพ ตามเส้นทางดังกล่าวยังมีความสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการ ซึ่งไทยพร้อมทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกเพื่อเผชิญกับความท้าทายเหล่านี้
นอกจากนี้ BIMSTEC จำเป็นต้องเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและความสามารถทางเทคโนโลยี โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น AI และการเชื่อมต่อทางดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาเร่งด่วน และเตรียมความพร้อมของภูมิภาคในการรับมือกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคต
ด้านความยืดหยุ่น ความท้าทายระดับโลก เช่น มลพิษทางอากาศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรคระบาด ทำให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเสริมสร้างความยืดหยุ่นของระบบสาธารณสุขและห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายเหล่านี้ ไทยได้เสนอจัดตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชศาสตร์เขตร้อน” ของ BIMSTEC
นายกฯ กล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวสะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อจัดการภัยพิบัติในกลุ่ม BIMSTEC ซึ่งไทยสนับสนุนข้อเสนอของอินเดียในการจัดตั้ง ศูนย์จัดการภัยพิบัติ BIMSTEC เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการตอบสนองต่อภัยธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบเตือนภัย พร้อมสนับสนุนการจัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านความร่วมมือการจัดการภัยพิบัติของ BIMSTEC ครั้งที่ 2 เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นต่อภัยธรรมชาติ
ทั้งนี้ประเทศไทย เน้นย้ำถึงการแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด และอาชญากรรมทางไซเบอร์ โดยขอความร่วมมือจากประเทศสมาชิกในการดำเนินการตามอนุสัญญา BIMSTEC ว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ และการค้ายาเสพติด เพื่อยกระดับความมั่นคงในภูมิภาคและความยืดหยุ่นพร้อมต่อการตอบสนองต่อภัยพัติ และการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาค SMEs จะมีบทบาทสำคัญในอนาคตของ BIMSTEC โดยประเทศไทยได้เสนอจัดตั้งสภาที่ปรึกษาธุรกิจ BIMSTEC (BIMSTEC Business Advisory Council) เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายระหว่างภาคธุรกิจ สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ และเพิ่มความยืดหยุ่นและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในระยะยาว พร้อมเน้นย้ำความสำคัญของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม รวมถึงชุมชนที่ถูกมองข้าม ผู้หญิง และเยาวชน โดยยกตัวอย่างการจัดงาน “BIMSTEC Young Gen Forum” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ ICONSIAM กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเวทีสำหรับผู้นำธุรกิจรุ่นใหม่ในการแลกเปลี่ยนแนวคิดและเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ
นายกฯ กล่าวว่า การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนใน BIMSTEC โดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในภูมิภาค การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงสถานที่สำคัญระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจร่วมกัน และเน้นย้ำถึงบทบาทของ BIMSTEC ในการส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน โดยประเทศไทยในฐานะประธานปัจจุบันของกรอบ Asia Cooperation Dialogue (ACD) มุ่งมั่นที่จะสร้างความร่วมมือระหว่าง BIMSTEC กับเวทีระหว่างประเทศอื่น ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สันติภาพ และเสถียรภาพในภูมิภาค
จากนั้นที่ประชุมฯ ได้ร่วมกันรับรองปฏิญญาการประชุมผู้นำบิมสเทคครั้งที่ 6 นอกจากนี้ ยังมีการประกาศให้บังกลาเทศเป็นประธาน BIMSTEC ลำดับถัดไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีมั่นใจว่าบังกลาเทศจะนำพา BIMSTEC ไปสู่ความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรืองในอนาคต