‘อิ๊งค์’ชูวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ ดัน‘บิมสเทค เอฟทีเอ’เชื่อมศก.

‘อิ๊งค์’ชูวิสัยทัศน์กรุงเทพฯดัน‘บิมสเทค เอฟทีเอ’เชื่อมศก.

หมายเหตุน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าว “วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030” ระหว่างเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ครั้งที่ 6 โดยมีผู้นำจาก 7 ประเทศสมาชิกบิมสเทครวมทั้งไทย เข้าร่วมประชุม ที่โรงแรมแชงกรี-ลา เมื่อวันที่ 4 เมษายน

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี

การประชุมครั้งนี้ มีผู้นำทั้ง 7 ประเทศรวมทั้งไทยเข้าร่วมประชุม ได้แก่ ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส (His Excellency Professor Muhammad Yunus) ประธานคณะที่ปรึกษารัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ

ADVERTISMENT

นายดาโช เชริง โตบเกย์ (His Excellency Dasho Tshering Tobgay) นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏาน นายนเรนทรา โมดี (His Excellency Mr. Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐอินเดีย

พล.อ.มิน อ่อง ลาย (His Excellency Senior General Min Aung Hlaing) ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา นายเค พี ศรรมะ โอลี (Rt. Hon. Mr. K P Sharma Oli) นายกรัฐมนตรีแห่งเนปาล ดร.หริณี อมรสุริยะ (Her Excellency Dr. Harini Amarasuriya) นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา

ADVERTISMENT

นับเป็นความภาคภูมิใจของไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม หลังจากที่ไม่ได้จัดการประชุมแบบพบหน้ากันมาเป็นเวลากว่า 7 ปี เป็นโอกาสสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ และหารือแนวทางในการเสริมสร้างความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ในกลุ่มสมาชิก โดยบิมสเทค เป็นกลุ่มประเทศที่มีประชากรรวมกันกว่า 1,800 ล้านคน คิดเป็น 22% ของประชากรโลก และมีจีดีพีรวมกันประมาณ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ความร่วมมือนี้ถือเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนในอนาคต

ประเด็นสำคัญที่ได้เสนอในที่ประชุมคือ “วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030” เป็นกรอบความร่วมมือที่จะนำประเทศสมาชิกบิมสเทคไปสู่อนาคตที่มีความเจริญรุ่งเรือง ยืดหยุ่น และเปิดกว้าง วิสัยทัศน์นี้ถูกออกแบบเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ส่งเสริมความเชื่อมโยง และการเสริมสร้างศักยภาพในการรับมือกับปัญหาระดับโลก โดยศักยภาพทางเศรษฐกิจของบิมสเทคที่มีจำนวนประชากรรวมกันเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรโลก การค้าภายในอยู่ที่ประมาณ 6% จึงเสนอให้สมาชิกเร่งผลักดันการจัดทำบิมสเทคเอฟทีเอ (BIMSTEC FTA) ที่จะเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจ การค้า

แนวคิดหลักภายใต้การดำรงตำแหน่งประธานบิมสเทคของไทยคือ “บิมสเทค ที่มั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้าง” ท่ามกลางสถานการณ์ระหว่างประเทศและความท้าทายในภูมิภาค บิมสเทคจะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือและการดำเนินการร่วมกัน โดยเฉพาะในด้านการเตรียมความพร้อม การบรรเทาผลกระทบและการฟื้นฟูประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ ผ่านกรอบความร่วมมือที่มีอยู่ รวมถึงการจัดตั้งกลไกที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นบนพื้นฐานจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้น

วันนี้ผู้นำรัฐสมาชิกบิมสเทคได้รับรองเอกสารผลลัพธ์สำคัญ 6 ฉบับ ได้แก่ ฉบับแรก วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญของการประชุมสุดยอดครั้งนี้ และถือเป็นวิสัยทัศน์ฉบับแรกของพวกเราที่กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อสร้าง “บิมสเทคที่มั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้าง” (PRO BIMSTEC) ภายในปี ค.ศ.2030 โดยให้ความสำคัญกับการบูรณาการทางเศรษฐกิจ การเชื่อมโยง และความมั่นคงของมนุษย์

ฉบับที่สอง ปฏิญญาการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ซึ่งเป็นการยืนยันถึงเจตนารมณ์ของพวกเราในการส่งเสริมบิมสเทคและผลักดันวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030

ฉบับที่สาม กฎระเบียบสำหรับกลไกการดำเนินงานของบิมสเทค ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานที่เป็นระบบและมีกฎเกณฑ์เป็นพื้นฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความเป็นระเบียบแบบแผนในการดำเนินงานของบิมสเทค

ฉบับที่สี่ รายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิว่าด้วยทิศทางของบิมสเทคในอนาคต ซึ่งนำเสนอข้อเสนอแนะสำคัญที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030

ฉบับที่ห้า เราได้เป็นสักขีพยานในการลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล ซึ่งมีเป้าหมายในการเสริมสร้างการเชื่อมโยงทางทะเลระหว่างเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ ลดต้นทุนการค้า และอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าและประชาชน

ฉบับที่หก ที่ประชุมได้รับรองแถลงการณ์ร่วมของผู้นำบิมสเทคว่าด้วยผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาและไทย ซึ่งเป็นการแสดงความเสียใจ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และความมุ่งมั่นของบิมสเทคในการสนับสนุนประเทศที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงเป็นการยืนยันความร่วมมือที่แน่นแฟ้นด้านการจัดการภัยพิบัติ และเสริมสร้างกลไกตอบสนองต่อภัยธรรมชาติให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ กรอบแนวคิด PRO BIMSTEC จะทำให้บิมสเทคสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับองค์การระดับภูมิภาคและองค์การระหว่างประเทศได้อย่างแข็งขันมากขึ้น สิ่งนี้จะทำให้ประชาคมโลกได้ยินเสียงของเราในประเด็นสำคัญต่างๆ อาทิ การค้า ความเชื่อมโยง และความมั่นคงของมนุษย์

นอกจากนี้การลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล จะเป็นการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าทางทะเลที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะที่โครงการแลนด์บริดจ์ของไทยจะช่วยเสริมการเชื่อมโยงระหว่างอ่าวไทยกับอ่าวเบงกอลด้วย

ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมุ่งมั่นร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อเร่งรัดการก่อสร้างทางหลวงสำคัญระหว่างประเทศที่จะเชื่อมโยงประเทศไทยไปยังเมียนมาจนถึงอินเดียให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดได้ส่งผลกระทบต่อความคืบหน้าของโครงการนี้ นอกจากนี้ สันติภาพ ความมั่นคง ความปลอดภัย และเสถียรภาพ ตามเส้นทางดังกล่าวยังมีความสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการ ซึ่งไทยพร้อมทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกเพื่อเผชิญกับความท้าทายเหล่านี้

นอกจากนี้บิมสเทคจำเป็นต้องเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและความสามารถทางเทคโนโลยี โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เอไอ (AI) และการเชื่อมต่อทางดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาเร่งด่วน และเตรียมความพร้อมของภูมิภาคในการรับมือกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคต

ด้านความยืดหยุ่น ความท้าทายระดับโลก เช่น มลพิษทางอากาศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรคระบาด ทำให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเสริมสร้างความยืดหยุ่นของระบบสาธารณสุขและห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายเหล่านี้ ไทยได้เสนอจัดตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชศาสตร์เขตร้อน” ของบิมสเทค

เหตุการณ์แผ่นดินไหวสะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อจัดการภัยพิบัติในกลุ่มบิมสเทค ซึ่งไทยสนับสนุนข้อเสนอของอินเดียในการจัดตั้งศูนย์จัดการภัยพิบัติบิมสเทค เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการตอบสนองต่อภัยธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบเตือนภัย พร้อมสนับสนุนการจัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านความร่วมมือการจัดการภัยพิบัติของบิมสเทค ครั้งที่ 2 เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นต่อภัยธรรมชาติ

ทั้งนี้ประเทศไทย เน้นย้ำถึงการแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด และอาชญากรรมทางไซเบอร์ โดยขอความร่วมมือจากประเทศสมาชิกในการดำเนินการตามอนุสัญญาบิมสเทค ว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ และการค้ายาเสพติด เพื่อยกระดับความมั่นคงในภูมิภาคและความยืดหยุ่นพร้อมต่อการตอบสนองต่อภัยพิบัติ และการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ทั้งในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาค SMEs จะมีบทบาทสำคัญในอนาคตของบิมสเทค โดยประเทศไทยได้เสนอจัดตั้งสภาที่ปรึกษาธุรกิจบิมสเทค (BIMSTEC Business Advisory Council) เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายระหว่างภาคธุรกิจ สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ และเพิ่มความยืดหยุ่นและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในระยะยาว พร้อมเน้นย้ำความสำคัญของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม รวมถึงชุมชนที่ถูกมองข้าม ผู้หญิง และเยาวชน ขอยกตัวอย่างการจัดงาน “BIMSTEC Young Gen Forum” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ไอคอนสยาม กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเวทีสำหรับผู้นำธุรกิจรุ่นใหม่ในการแลกเปลี่ยนแนวคิดและเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ

การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนในบิมสเทค โดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในภูมิภาค การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงสถานที่สำคัญระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจร่วมกัน และเน้นย้ำถึงบทบาทของบิมสเทค ในการส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน โดยประเทศไทยในฐานะประธานปัจจุบันของกรอบ Asia Cooperation Dialogue (ACD) มุ่งมั่นที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างบิมสเทคกับเวทีระหว่างประเทศอื่นๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สันติภาพ และเสถียรภาพในภูมิภาค

ผลลัพธ์ของการประชุมผู้นำครั้งนี้ จะนำไปสู่ประโยชน์โดยตรงที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้สำหรับประชาชนไทย ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเลจะลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้าและเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานซึ่งจะส่งผลให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นและขยายโอกาสใหม่ด้านการตลาดและการลงทุน การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวและความร่วมมือทางวัฒนธรรมจะกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของไทยและสร้างโอกาสการจ้างงานใหม่ๆ ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่โอกาสทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนไทย

สุดท้ายนี้ ดิฉันขอแสดงความยินดีกับประเทศสมาชิกบิมสเทคทุกประเทศต่อความสำเร็จของการประชุมผู้นำในวันนี้ และรอคอยด้วยความมุ่งหวังที่จะได้เห็นความสำเร็จภายใต้การนำของบังกลาเทศต่อไป

 

วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ2030

เรามุ่งที่จะบรรลุวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 เพื่อสร้างบิมสเทคที่มั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้างภายในปี ค.ศ.2030 โดยยังคงยึดมั่นในหลักการและวัตถุประสงค์ของบิมสเทคที่ปรากฏในปฏิญญากรุงเทพฯ ค.ศ.1997 ผ่านการดำเนินการตามเป้าหมายสําคัญสามประการ ดังนี้

บิมสเทคที่ “มั่งคั่ง” คือ บิมสเทคที่บรรลุเป้าหมายการลดความยากจนและมีความก้าวหน้าอย่างมากในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ เราจะให้ความสำคัญกับประเด็น ดังนี้ เสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่านการยกระดับความเชื่อมโยงด้านคมนาคมและพลังงาน รวมทั้งการส่งเสริมความเชื่อมโยงท่าเรือและทางทะเล ความเชื่อมโยงทางบก การดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงด้านคมนาคม ส่งเสริมการค้าการลงทุน การอำนวยความสะดวกทางการค้า การสร้างงาน การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย และการพัฒนาอย่างยั่งยืนและครอบคลุม รวมทั้งการยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจภาคทะเล เศรษฐกิจภาคภูเขา การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และบรรษัทภิบาล ตลอดจนความพยายามร่วมกันในการดำเนินการตามกรอบความตกลงเขตการค้าเสรีเร่งผลักดันการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการลดความยากจนบิมสเทค ระบุกลุ่มครัวเรือนยากจนและดำเนินมาตรการอย่างตรงกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้กลุ่มประชากรยากจนสามารถเข้าถึงทรัพยากร พัฒนาขีดความสามารถ ได้รับการจ้างงานและปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์

บิมสเทคที่ “ยั่งยืน ฟื้นคืน” คือ บิมสเทคที่เสริมสร้างการเตรียมความพร้อมและการรับมือกับวิกฤต ตลอดจนความมั่นคงของมนุษย์ในหลากหลายมิติ รวมทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพภายหลังการแพร่ระบาดของโรคระบาด เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ เราจะให้ความสำคัญกับประเด็น ดังนี้ ส่งเสริมความมั่นคงด้านสาธารณสุขและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสาธารณสุขเพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ตลอดจนเสริมสร้างความพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านสาธารณสุขในอนาคต ส่งเสริมความร่วมมือด้านการบรรเทาสาธารณภัย การฟื้นฟู และการบูรณะซ่อมแซม ส่งเสริมความร่วมมือด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะ และเทคโนโลยี ตลอดจนการแบ่งปันแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศในสาขาการพัฒนา เพิ่มพูนความร่วมมือทางทะเลผ่านการส่งเสริมการเดินเรืออย่างเสรีและปลอดภัย การต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัด การฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย การทําประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ตลอดจนการลักลอบขนส่งยาเสพติดและสินค้าผิดกฎหมายทางทะเล ส่งเสริมการปกป้องด้านสิ่งแวดล้อม มาตรการการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียนเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจและชุมชนที่ยั่งยืน ฟื้นคืน รวมทั้งผ่านการจัดตั้งคณะมนตรีวิทยาศาสตร์

บิมสเทคที่ “เปิดกว้าง” คือ บิมสเทคที่ครอบคลุมโดยใช้แนวทางที่หลากหลายและคำนึงถึงกระบวนการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ เราจะให้ความสำคัญกับประเด็น ดังนี้ ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้สูง ปลอดภัย และมีความหมาย โดยแสวงประโยชน์จากมรดกและสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและระหว่างประชาชนร่วมกัน รวมทั้งการเตรียมความพร้อมสำหรับการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนและภายในภูมิภาคของประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ส่งเสริมการพัฒนาโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมความร่วมมือและเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ นวัตกร คณะผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย นักวิชาการ นักศึกษา และผู้ประกอบวิชาชีพ รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ตลอดจนศิลปะและการสร้างสรรค์เพื่อใช้ประโยชน์จากลักษณะเด่นของบิมสเทคในการเป็นองค์การเดียวที่เชื่อมภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image