เท้ง ซัด รบ.รับมือทรัมป์โขกภาษีช้า ชี้ทีมเจรจาต้องสร้างอำนาจต่อรองให้ไทย เหน็บส่งทักษิณ งานเข้าอิ๊งค์แน่
เมื่อวันที่ 6 เมษายน นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์นายกรัฐมนตรีถึงท่าทีของประเทศไทยกับนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ว่า เป็นการดำเนินการของรัฐบาลที่ช้า เพราะเพิ่งจะมีการออกมาชี้แจงให้ชัดเจนมากขึ้น แต่ยังไม่ชัดเจนเพียงพอหลังจากที่มีการประกาศมาตรการทางภาษีของสหรัฐอเมริกา ทั้งที่ก่อนหน้านี้นักวิชาการหลายคนได้ออกมาคาดการณ์แล้วว่า ประเทศไทยเป็นประเทศกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกมาตรการทางภาษี และเห็นการขยับท่าทีของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่แสดงบทบาทประธานอาเซียน 2568 เพื่อใช้กรอบการเจรจาในภูมิภาคอาเซียนในการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับกลุ่มอาเซียน แต่ไทยก็ยังไม่เห็นบทบาท ทั้งที่เป็นประเทศสำคัญในอาเซียน
เมื่อถามถึงกรณีปรากฏชื่อ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมถึง นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่จะเป็นทีมไปเจรจากับสหรัฐอเมริกานั้น นายณัฐพงษ์กล่าวว่า แม้ว่าตัวบุคคลที่จะไปเจรจาจะมีความสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการสร้างอำนาจต่อรองให้ประเทศไทย โดยก่อนที่จะมีการเจรจาควรจะต้องรู้ตัวเองก่อนว่ามีอำนาจต่อรองเรื่องใดบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีอาจจะยังไม่ได้ออกมาชี้แจงความชัดเจนให้กับสังคมว่าประเทศไทยมีอำนาจต่อรองใดบ้าง มีเพียงความเป็นมิตรภาพระหว่างไทยและสหรัฐ แต่ตนเห็นว่าสหรัฐรับรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศมาโดยตลอดอยู่แล้ว แต่ก็ยังเลือกดำเนินนโยบายนี้ ฉะนั้น ก่อนที่จะมีการเจรจาจึงควรรู้อำนาจต่อรองของตนเองก่อน
ส่วนกรณีที่มีผู้เสนอให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นม้าเร็วในการเจรจากับสหรัฐอเมริกา นายณัฐพงษ์กล่าวว่า ควรจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือคณะทำงานที่อยู่ในคณะรัฐมนตรีโดยตรง เพราะตนอยากให้มีนายกรัฐมนตรีตัวจริงที่ทำหน้าที่ไปเจรจา และไม่อยากให้นายทักษิณ ซึ่งเป็นบิดาของนายกรัฐมนตรีไปเจรจาแทน และหากนายทักษิณไปเป็นม้าเร็วในการเจรจาเองจริง ก็จะยิ่งเกิดผลกระทบต่อนายกรัฐมนตรีที่จะขาดความน่าเชื่อถือมากขึ้น
เมื่อถามว่า ตามแถลงการณ์ที่มีการระบุแนวทางการเจรจาเพื่อขอผ่อนปรนอัตราภาษีจากสหรัฐอเมริกา ทั้งเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ และลดเงื่อนไขการนำเข้าต่างๆ จะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบเพิ่มมากหรือไม่นั้น นายณัฐพงษ์กล่าวว่า ตนมองว่ามีความเป็นไปได้ในการที่จะไปเจรจาการค้าเพื่อให้เกิดดุลการค้า โดยที่ประเทศไทยไม่เสียประโยชน์ ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องมีของในมือ หรืออำนาจต่อรองที่สหรัฐอเมริกาอยากได้ ประเทศไทยจะได้ประโยชน์ที่คุ้มเสีย ซึ่งเชื่อว่าประชาชนและภาคเอกชนของไทยก็อยากได้ความชัดเจนจากรัฐบาลเช่นเดียวกันว่าธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมใดจะได้รับผลกระทบบ้าง