อาจารย์ชี้ 3 ภัยคุกคามรบ. ถอยกม.คอมเพล็กซ์ สะท้อนภาพซ้ำ พร้อมสลัดทิ้ง ทุกความเสี่ยง
เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 ดร.วีระ หวังสัจจะโชค อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงสถานการณ์ทางการเมือง หลังรัฐบาลชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ว่า ในสถานการณ์ทางการเมืองตอนนี้ ต้องยอมรับโดยข้อเท็จจริงว่า รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร กำลังเผชิญกับ ภัยความ และความเสี่ยงรอบทิศทาง โดยเริ่มจาก 3 ระดับ ภัยคุกคามแรก เป็นภับในระดับ ไกลตัวหน่อย คือการเมืองระหว่างประเทศ รัฐบาลต้องเผชิญกับการขึ้นภาษีของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ตั้งกำแพงภาษีอันส่งผลกระทบต่อการค้าขาย และรายได้ในการส่งออกของประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขในลักษณะที่สังคมมองว่า อาจจะยังตอบสนองต่อสถานการณ์ได้ไม่ดี เท่าที่ควรและอาจจะดูล่าช้าจนเกินไป
ภัยคุกคามที่สอง ภัยคุกคามจากการเมืองนอกสภาฯ เรื่องนี้ก็ชัดเจนว่า เป็นผลมาจากร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ซึ่งมีหัวใจ อยู่ที่การมีกาสิโน 10 % ของเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ทั้งหมด โดยแท้จริงแล้ว เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ สามารถสร้างได้เลย โดยไม่ต้องออกกฎหมายใหม่ ถ้าไม่มีกาสิโน เพราะฉะนั้นต้องยอมรับ โดยข้อเท็จจริงร่างกฎหมายฉบับนี้ ใช้คำว่า เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ แท้จริงแล้วคือการให้เปิดกาสิโนในประเทศไทย
แน่นอนการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ต้องไปปลุกกลุ่มคนที่เป็นพลังอนุรักษ์นิยม ที่มีความคิดความเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับศีลธรรม ซึ่งคนกลุ่มนี้จะไม่เอากาสิโน หรือพนันออนไลน์ เอามาไว้บนดินอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลมีชุมนุมมาเป็นเดือนแล้ว แล้วก็มีมวลชนเข้าร่วมเพียงหลัก 100 เท่านั้น แต่ในช่วง 1 อาทิตย์ที่ผ่านมา เมื่อมีความพยายาม ผลักดันร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เข้าไปหยั่งดู ร้อนรนเป็นพิเศษ ทำให้กระแสของสังคมในภาคอื่นๆ ไม่ว่าเป็นภาคประชาสังคม ภาควิชาการและมวลชนในฝั่งอนุรักษ์นิยมที่เคยเงียบไปฟื้นขึ้นมาโดยพร้อมเพียงกัน ทำให้ความเสี่ยงตรงนี้ รัฐบาลต้องถอย
“แต่ตรงนี้สำคัญต่อให้รัฐบาลถอยพลังอนุรักษ์นิยมที่ปลุกขึ้นมาแล้วเขาก็ยังไม่กลับ เขายังยกระดับข้อเสนอมากไปกว่านี้อีก เช่น เราเห็นการชุมนุมของกลุ่มพี่เรียกว่า คปท. ก็ยกระดับ ว่ารัฐบาลถอยเราก็ไม่กลับ และต่อให้รัฐบาลเอาร่างออกไปเขาก็จะยกระดับต่อไป เป็นการขับไล่รัฐบาลที่ไม่ซื่อตรงหรือรัฐบาลสีเทา ตามที่ คปท. กล่าวอ้าง นี่คือภัยคุกคามอันที่ 2 ที่รัฐบาลต้องเผชิญ” ดร.วีระระบุ
ดร.วีระ กล่าวว่า และ สุดท้าย ภัยคุกคามที่ 3 คือภัยคุกคามภายในพรรคเพื่อไทยเอง การทำงานของในพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลมีความไม่เสถียรภาพอยู่ เห็นได้จากข่าวเรื่องการปรับ ครม. ว่าใ ครไม่เห็นด้วย กับพรรคเพื่อไทย อย่างเช่น กาสิโนก็จะ ถูกปรับออก เรื่องนี้มันคือสัญญาณที่ถูกส่งออกมาในลักษณะการโยนหินถามทาง ต่อให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯไม่ได้เป็นคนพูด แต่ก็หมายถึงบรรยากาศภายในที่อยากจะส่งเสียงออกให้พรรคร่วมพรรคอื่นรับทราบ ซึ่งพอการส่งเสียงสัญญาณแบบนี้ออกมา มันก็มีผลมีมุมที่ไม่เป็นผลดีกับการอยู่ร่วมกันภายในพรรคร่วมรัฐบาล เห็นได้จากนักการเมืองหลายกลุ่ม อาทิ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาชาติ ส่วนหนึ่งของพรรครวมไทยสร้างชาติ แสดงออกให้เห็นถึงความว่า ไม่พึงพอใจกับกระแสแบบนี้ที่ออกมาว่า ไม่ให้เกียรติพรรคร่วมรัฐบาล
แล้วแน่นอนว่า เรื่องนี้จะส่งผลออกไปถึงการทำงานในฝ่ายบริหารว่า ถ้ารัฐบาลหรือนายกฯแพทองธาร จะดำเนินการปรับ ครม. ก็จะยิ่งสร้างความไม่มีเสถียรภาพมากขึ้นหรือไม่ หรือรัฐบาลอาจจะถ้าต้องการรักษาสภาพเดิมเอาไว้ การปรับ ครม. ก็จะปรับได้เพียงขนาดเล็ก เป็นการปรับเฉพาะตำแหน่งที่มีอยู่ในพรรคเพื่อไทยเท่านั้น ซึ่งหากสภาพเป็นเช่นนี้ เมื่อปรับออกมาแล้วก็จะขัดต่อสายตาของประชาชน ที่มองว่า มีหลายกระทรวงที่ทำงานได้ไม่เต็มที่ และกระทรวงดังกล่าวนั้นไปอยู่กับพรรคการเมืองอื่น ซึ่งพรรคเพื่อไทยและในยุคนายกฯแพทองธาร ไม่สามารถไปแตะต้องได้ ต่อให้ปรับ ครม.แล้ว ก็ยังค้านต่อสายตาของประชาชนอยู่ดี
“3 ความท้าทายเหล่านี้ ทั้งระหว่างประเทศ ทั้งการเมืองบนท้องถนน และการทำงานร่วมกันในรัฐบาลของรัฐบาลเพื่อไทย ตรงนี้ทำให้ภาพของสถานการณ์การเมืองรัฐบาลเปราะบางมากยิ่งขึ้น และภายใต้ความเปราะบางยี้ จะมีผลถึงอดีตนายกฯทักษิณมากขึ้นด้วย เพราะทุกครั้งที่รัฐบาลต้องเผชิญกับปัญหา หลายครั้งที่นายกฯแพทองธาร ไม่ใช้คนจัดการแก้ไขปัญหาเอง แต่จะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทย และตัวคุณพ่ออย่างอดีตนายกฯทักษิณ ออกมาแก้ปัญหา” ดร.วีระ กล่าว
ดร.วีระ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ดี รัฐบาลนี้ต้องปกป้องไม่ให้เดินก้าวพลาด เพราะถ้าเดินก้าวพลาด อนาคตของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งหมายถึงพรรคเพื่อไทย และตระกูลชินวัตร ต้องกลับไปสู่สภาวะเดิม อย่างสมัยรัฐประหารปี 2549 และ หลังรัฐประหาร ปี 2557 เพราะฉะนั้นทุกความเสี่ยงต้องสกัดออกไปให้ได้หมด ถ้าจะมีม็อบก็ต้องถอยกฎหมาย จะปรับครม. ถ้ามีพรรคอื่นไม่พอใจก็ต้องถอย เลยทำให้อีกด้านหนึ่ง ก็น่าเห็นใจรัฐบาลที่ไม่สามารถทำนโยบายอะไรอย่างจริงจังได้เลย
ซึ่งจริงๆแล้วเป็นเรื่องน่าเสียดาย ถ้ารัฐบาลแพทองธาร มั่นใจจริงๆว่า กาสิโนจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยดีขึ้นจากหน้ามือเป็นหลังมือ รัฐบาลก็ควร ทำเลย ส่วนผลจะดีไม่ดีอย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่การที่รัฐบาลชักเข้าชักออกแสดงให้เห็นถึงความกลัวไม่กล้าที่จะเดินในเส้นทางที่ตัวเองวางไว้อย่างเต็มที่ ความกลัวตรงนี้ตามหลักการเมืองพรรคร่วม รวมถึงประชาชนก็จับได้เช่นเดียวกัน ตรงนี้ก็ทำให้เกิด ความไม่มั่นใจทางการเมืองต่อรัฐบาลชุดนี้ อาจจะทำให้เปราะบางมากขึ้นลงไปอีก
“ทั้งหมดนี้ ยังไม่นับรวมการเผชิญกับการตรวจสอบของฝ่ายค้านด้วย ซึ่งแม้ว่า ฝ่ายค้านจะไม่มาเล่นประเด็นเรื่องกาสิโน เมื่อเทียบกับม็อบที่อยู่บนท้องถนนก็ตาม แต่ฝ่ายค้านก็จะมีประเด็นเฉพาะของเขาอยู่ เช่น ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของประชาชน ว่ารัฐบาลจะเอาอย่างไร ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่มาร่วมโหวตอีก ก็จะถูกกล่าวหาอีกว่า ตระบัดสัตย์ หรือในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญก็ยังไม่มีอะไรแน่นอน จนถึงปัจจุบัน ตรงนี้เลยกลายเป็นว่ารัฐบาลนอกจากไม่มีผลงานเป็นที่ชัดเจนแล้ว ความพยายามทำผลงานใหม่ๆ ก็ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่เพราะไม่กล้าเสี่ยง อนาคตถ้ายังกลัวอยู่แบบนี้อีก ถ้ารัฐบาลอยู่ได้ครบวาระ 4 ปี ก็จะอยู่ได้อย่างไม่มีผลงานที่ชัดเจน” ดร.วีระ ทิ้งทาย