ปล่อย พอล แชมเบอร์ส กลางดึก หลังศาล-ตม.ให้ประกัน วางเงินรวม 6 แสน ติด EM-ยึดพาสปอร์ต

ปล่อย ‘พอล แชมเบอร์ส’ กลางดึก หลังศาลอุทธรณ์ภาค 6 – ตม.ให้ประกัน วางเงินรวม 600,000 พร้อมติด EM – ยึดพาสปอร์ต

เมื่อวันที่ 10 เมษายน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองอนุญาตให้ประกันตัว พอล แชมเบอร์ส แล้วทั้งนี้ ทนายต้องยื่นอุทธรณ์ที่เจ้าหน้าที่ ตม.ได้เพิกถอนวีซ่าของ ดร.พอล ต่อ โดยมีเวลา 48 ชั่วโมง หรือจนถึงวันที่ 11 เมษายน เวลา 16.00 น. จึงต้องจับตาต่อไปว่า ตม.จะยกเลิกการเพิกถอนวีซ่าของผู้ต้องหาหรือไม่

สำหรับรายละเอียดคดีดังกล่าวนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว ดร.พอล แชมเบอร์ส นักวิชาการสัญชาติอเมริกัน ซึ่งประจำอยู่ที่สถานประชาคมอาเซียนศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในคดีที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความแนะนำงานเสวนาทางวิชาการในเว็บไซต์ของสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการของสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2567

โดยตั้งแต่เวลา 09.00 น.ของวันที่ 9 เมษายน ทนายความได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 โต้แย้งคำสั่งไม่ให้ประกันของศาลชั้นต้นลงวันที่ 8 เมษายน โดยมีคณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้ร้องขอประกันตัว

ADVERTISMENT

ต่อมา ทนายความได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดพิษณุโลกว่า ผู้บัญชาการตรวจคนเข้าเมืองได้มีคำสั่งเพิกถอนวีซ่าของ ดร.พอลแล้ว ก่อนที่ในเวลาประมาณ 15.30 น. เจ้าหน้าที่ ตม.ได้เข้าไปแจ้งคำสั่งดังกล่าวใน ดร.พอลทราบในเรือนจำ

หนังสือแจ้งการเพิกถอนวีซ่าระบุว่า การเพิกถอนวีซ่านี้อาศัยอำนาจตามมาตรา 36 ของ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เนื่องจาก ดร.พอล เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว พร้อมทั้งระบุว่า หากประสงค์จะยื่นอุทธรณ์คำสั่ง ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 11 เม.ย.2568 เวลา 16.00 น.

ADVERTISMENT

ราว 16.00 น. เจ้าหน้าที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรแจ้งกับทนายความว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมหมายค้นออกโดยศาลจังหวัดพิษณุโลก ได้เดินทางเข้าไปขอตรวจค้นห้องทำงานของ ดร.พอล ทนายความจึงได้เดินทางไป การตรวจค้นใช้เวลากว่า 15 นาที ตำรวจได้ตรวจยึดสิ่งของไปรวม 4 รายการ ได้แก่ คอมพิวเตอร์, อแดปเตอร์, เมาส์ และคีย์บอร์ด โดยบันทึกตรวจค้นและตรวจยึดระบุว่า จะใช้เวลาตรวจสอบข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ประมาณ 5 วัน และจะนำมาคืนมาแก่คณะสังคมศาสตร์ภายในเวลาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 19 การเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทําความผิด พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จะต้องได้รับคำสั่งอนุญาตจากศาล และต้องส่งสําเนาบันทึกเหตุอันควรเชื่อที่ทําให้ต้องใช้อํานาจเข้าถึงข้อมูลมอบให้ผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์นั้นไว้เป็นหลักฐานก่อน

ต่อมา เวลา 17.30 น. ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมกับให้ติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิสก์ติดตามตัว (EM) นอกจากนี้ยังกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล ยึดหนังสือเดินทาง และตั้งผู้กำกับดูแลในระหว่างปล่อยชั่วคราว ในส่วนการติด EM และตั้งผู้กำกับดูแล ให้นายประกันนำตัวผู้ต้องหามาดำเนินการในวันที่ 10 เมษายน ก่อนเวลา 13.30 น. หากนายประกันไม่นำตัวผู้ต้องหามาดำเนินการดังกล่าวก็ให้ถือว่าผิดสัญญาประกัน

ประมาณ 19.00 น. ดร.พอล ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ โดยมีเจ้าหน้าที่ ตม. รอรับก่อนควบคุมตัวขึ้นรถเดินทางไปที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดพิษณุโลก

เมื่อ ดร.พอล ถูกควบคุมตัวถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองฯ ทนายความได้ยื่นประกันตัวเพื่อขออนุญาตอยู่ในประเทศไทยเพื่อต่อสู้คดี โดยมีคณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร วางหลักทรัพย์ประกันเช่นกัน

กระทั่งราว 0.40 น.ของวันที่ 10 เมษายน ตรวจคนเข้าเมืองฯ มีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน ดร.พอล โดยให้วางเงินประกัน 300,000 บาท และให้มารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ทุก 30 วัน ทำให้ ดร.พอลได้รับการปล่อยตัวในช่วงกลางดึก หลังถูกคุมขังรวม 2 วัน และต้องเดินทางไปที่ศาลจังหวัดพิษณุโลกในช่วงบ่ายเพื่อติด EM ต่อไป

สำหรับคดีนี้มีกองทัพภาคที่ 3 เป็นผู้แจ้งความกล่าวโทษ โดย ดร.พอล ถูกศาลจังหวัดพิษณุโลกออกหมายจับลงวันที่ 31 มี.ค.2568 ทั้งที่ยังไม่เคยได้รับหมายเรียกใดๆ มาก่อน หลังอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับหนังสือแจ้งจาก สภ.เมืองพิษณุโลก จึงมอบหมายให้คณบดีคณะสังคมศาสตร์ดำเนินการประสานให้ ดร.พอล เข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 8 เมษายน 2568 ก่อนพนักงานสอบสวนส่งตัว ดร.พอล ฝากขังต่อศาลจังหวัดพิษณุโลก และศาลไม่อนุญาตให้ประกันในระหว่างสอบสวน ทำให้ ดร.พอล ถูกส่งตัวเข้าไปคุมขังในเรือนจำจังหวัดพิษณุโลกทันที

จากการตรวจสอบเนื้อหาที่ ดร.พอล ถูกกล่าวหา พบว่าเป็นข้อความแนะนำงานเสวนาทางวิชาการด้านไทยศึกษาบนเว็บไซต์ของสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ซึ่งมี ดร.พอล นำเสนอในหัวข้อเกี่ยวกับกองทัพไทย เมื่อเดือนตุลาคม 2567 ส่วนข้อความที่ถูกกล่าวหามีลักษณะเป็นการเขียนแนะนำเนื้อหาในงานเสวนาและแนะนำนักวิชาการที่จะนำเสนองาน ไม่ใช่ลักษณะบทความหรือเนื้อหาที่ผู้นำเสนอเป็นผู้เขียนแต่อย่างใด

โดย ดร.พอล ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ระบุว่า ตนเองไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์นี้ และไม่ใช่แอดมินที่จะโพสต์ข้อความได้ แต่ทราบว่าเว็บไซต์นี้เป็นที่รู้จักในแวดวงวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา

ส่วนสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค (ISEAS-Yusof Ishak Institute) ที่ถูกระบุเป็นเว็บไซต์ที่เผยแพร่เนื้อหาในคดีนี้นั้น เป็นสถาบันวิชาการที่มีชื่อเสียงของประเทศสิงคโปร์ ตั้งชื่อตามอดีตประธานาธิบดีคนแรกของสิงคโปร์ สถาบันแห่งนี้บทบาทในด้านการศึกษาวิจัยทางวิชาการทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเผยแพร่งานวิชาการและองค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิภาคนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image