อาจารย์ มองนัยยะชัดภูมิใจไทย จากโลโก้ ถึงลูกเนวิน เกมชิงการนำ ขั้วอนุรักษนิยม
เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 ดร.วีระ หวังสัจจะโชค อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ทัศนะผ่าน “มติชน” ถึงกรณีที่ นายไชยชนก ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ประกาศอย่างชัดเจนในสภาฯว่า ไม่เห็นด้วยกับประเด็นเรื่องกาสิโน ซึ่งในภาพใหญ่ร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์มองว่า พรรคภูมิใจไทยรู้เรื่อง และวางแผนไว้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ไม่ใช่ความขัดแย้งในพรรคภูมิใจไทย เห็นได้จากการเปลี่ยนสัญลักษณ์ของพรรคภูมิใจไทยในวันจักรี โดยเปลี่ยนสีแดงออกให้เหลือเฉพาะสีน้ำเงินนั้น ส่งความหมายว่า พรรคภูมิใจไทย และหัวหน้าพรรค อย่างนายอนุทิน ได้ประกาศแล้วว่า พรรคภูมิใจไทยจะเป็นอนุรักษนิยมใหม่
ฉะนั้น เมื่อพรรคการเมืองประกาศเป็นอนุรักษ์นิยมก็จะไม่ทำนโยบายที่กระทบต่อหลักศีลธรรมระดับประเทศ ซึ่งการทำกาสิโนให้ถูกกฎหมาย ถือเป็นเรื่องขัดต่อศีลธรรม และขัดต่อกระแสของสังคมที่มองประเทศไทยยังไม่พร้อม ที่จะนำการพนันขึ้นมาถูกกฎหมายเต็มรูปแบบแบบนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อนำชุดอุดมการณ์ การเปลี่ยนสัญลักษณ์พรรค และบทบาทของแกนนำในพรรค อย่างนายไชยชนก รวมถึงนายเนวิน ชิดชอย คุณพ่อของนายชัยชนก ที่เป็นไปในทางเดียวกัน ก็ถือเป็นการแสดงออกของกลุ่มพลังใหม่ในขั้วของฝ่ายอนุรักษ์นิยม
ส่วน บทบาทของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยนั้น ดร.วีระ มองว่า อย่างน้อยที่สุดยังต้องทำงานในรัฐบาลก็ต้องรักษาน้ำใจกันไว้ จึงต้องรับบทมาเล่นในลักษณะการเจรจา ไปอ่อนน้อมถ่อมตนกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งการอ่อนน้อมถ่อมตนและแสดงอาการขอโทษต่อนายกฯ มันก็เท่ากับส่งสัญญาณไปว่าเป็นการแสดงความขอโทษต่อ นายทักษิณด้วย ดังนั้น ถามว่าเรื่องทั้งหมดเป็นความขัดแย้งกันพรรคภูมิใจไทยหรือไม่นั้น ส่วนตัวคิดว่า ไม่ใช่ เรียกสถานการณ์แบบนี้ว่า แบ่งบทกันเล่น อย่าง คุณอนุทิน มีบทในรัฐบาล คุณไชยชนก มีบทอยู่ในฝั่ง ส.ส. และมี ส.ว.สีน้ำเงิน ก็เล่นบทของเขาอยู่ ถือเป็นการเล่นเป็นแพคเกจเดียวกัน เป็นแพคเกจ ของพรรคภูมิใจไทย
เมื่อถามว่า จะทำให้เรื่องนี้มีผลกระทบขนาดพรรคภูมิใจไทยกับพรรคเพื่อไทยแตกกันหรือไม่นั้น ดร.วีระ มองว่า ไม่ พรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทย ต้องปะทะกัน มีเรื่องต้องขัดกันแบบนี้มาโดยตลอดอยู่แล้ว ตั้งแต่ร่างกฎหมายประชามติ การแก้รัฐธรรมนูญ การแสดงความเห็นเกี่ยวกับ การนิรโทษกรรมประชาชน นี่คือประเด็นที่ 2 พรรคขัดกันมาตลอด แต่ภายใต้การขัดกันก็ยังต้องเป็นรัฐบาลร่วมกัน เพื่อประโยชน์ของทั้งคู่ เพราะฉะนั้นการที่พรรคภูมิใจไทยกับพรรคเพื่อไทยขัดกัน ก็เป็นการขัดกันของคนที่จำเป็นจะต้องจับมือกัน แม้อยู่คนละขั้วอุดมการณ์ก็ตาม
“ภาษารัฐศาสตร์เรียกว่า สภาวะจำยอมทางการเมืองที่ต้องอยู่ร่วมกัน เป็นลักษณะของรัฐบาลที่มีพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่มีความหลากหลายหรือแตกต่างทางอุดมการณ์และนโยบาย จำใจต้องมาอยู่ร่วมกันบนเงื่อนไขเฉพาะทางการเมือง และต้องมาทำงานในฝ่ายบริหารร่วมกันในบริบทที่ยังมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอยู่ ฉะนั้นภาวะจำใจจะต้องอยู่ร่วมกัน อาจจะมีการทะเลาะกันอยู่บ้าง แต่สุดท้ายก็ไม่สลัดมือกันทิ้ง เงื่อนไขการสลัดมือกันทิ้งจะอยู่บนเงื่อนไขที่อย่างมากที่สุด คือ การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ซึ่งก็มองว่ายังอีกไกลที่จะคิดแบบนั้นได้” ดร.วีระ กล่าว
ดร.วีระ กล่าวว่า ถามว่า แบบนี้จะส่งผลต่อนโยบายของพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ที่จะต้องร่วมงานกับรัฐบาล ส่วนตัวมองว่า พรรคภูมิใจไทย มีชุดนโยบายที่ชัดเจนในตัวของตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งเป็นแนวนโยบายที่กระทบต่อพื้นที่ที่เป็นชนบทมากกว่า เช่น นโยบายกัญชาเพื่อเศรษฐกิจ และล่าสุดพรรคภูมิใจไทยก็มีกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่รออยู่ คือ การเอาพนันออนไลน์ขึ้นมาไว้บนดิน ตรงนี้ก็เลยรู้สึกตลก เวลาเราเห็นนโยบายนี้ของพรรคภูมิใจไทยที่ไม่เห็นด้วยกับกาสิโน แต่เห็นด้วยกับนโยบายพนันออนไลน์ มองดูเหมือนขัดกัน
นี่เป็นเรื่องของพรรคภูมิใจไทยที่แบ่งเกมกันเล่น ถ้าพูดในภาพรวมจริง การนำการพนันออนไลน์ขึ้นบนดินของพรรคภูมิใจไทย กระทบการพนันทั่วประเทศมากกว่าเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่กระทบเฉพาะในกรุงเทพฯ หรือ จังหวัดที่มีเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ไปตั้งเท่านั้น เช่น คลองเตยหรือที่ภูเก็ต ตรงนี้จะได้เห็นเสียงของพรรคภูมิใจไทยอาจเริ่มดังขึ้น อันเนื่องมาจากการที่พรรคภูมิใจไทย สามารถมีอำนาจในการต่อรองกับรัฐบาลได้ แถมควบคุมสภาสูงได้ด้วย ในลักษณะที่มีความใกล้ชิดส.ว.สีน้ำเงินกับพรรคภูมิใจไทย
เหตุเช่นนี้เมื่อมองถึงประเด็นการปรับ ครม. หรือการปรับพรรคภูมิใจไทยออกหรือไม่ ในทัศนะส่วนตัว จึงมองว่า ไม่มีทางเกิดขึ้น อย่างที่กล่าวไป 2 พรรคนี้ต้องอยู่ในภาวะต้องทำงานร่วมกัน เป็นพรรคร่วม ฉะนั้นหากจะปรับ ครม.ก็คงจะปรับในลักษณะปรับเล็ก คือปรับเฉพาะบางตำแหน่งที่อยู่ในอำนาจของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น
ต้องไม่ลืมว่า พรรคเพื่อไทย มีวัฒนธรรมแบบนี้อยู่แล้ว 6 เดือนปรับที จะเป็นการปรับในลักษณะดังกล่าวมากกว่าจะปรับในลักษณะที่กระทบโควต้าของส.ส.ในพรรค หรือของพรรคร่วม รวมถึงบางตำแหน่งต้องให้พรรคไทยสร้างไทยหรือไม่ที่โหวตให้ ถ้าให้ พรรคเพื่อไทยก็ต้องควักเนื้อเอง หรือต้องให้พรรคที่เป็นพันธมิตรโดยตรงยอมสละให้ เช่น พรรคกล้าธรรม แต่พื้นที่ของพรรคภูมิใจไทยจะไม่ถูกแตะต้องแต่อย่างใด
“นี่คือภาพการเมืองหลังจากนี้ ภูมิใจไทยจะยิ่งแสดงบทบาทมากยิ่งขึ้น แต่การแสดงบทบาทยังอยู่ในความสัมพันธ์แบบตบจูบแบบนี้กับเพื่อไทยไปเรื่อยๆ ซึ่งความสัมพันธ์นี้เป็นลักษณะการทะเลาะกัน แต่จับมือกัน เพราะไม่มีทางเลือกอื่น เพราะเนื่องมาจากพรรคอันดับ 1 คือ พรรคประชาชน มีแนวทางทำการเมืองที่แตกต่างจากนักการเมืองอาชีพๆ คือคนที่ทำธุรกิจการเมือง ทำบริษัทรับเหมามีเงินแล้วเอาเงินมา ทำการเมืองต่อ ซึ่งนี่คือนักการเมืองอาชีพ โดยเพื่อไทยและภูมิใจไทยเหมือนกัน แต่พรรคประชาชน อาจมีความแตกต่างที่เป็นภัยคุกคาม ทั้งเพื่อไทยและภูมิใจไทย ฉะนั้น การจับมืออย่างน้อยที่สุด ก็ยังมีอำนาจในรัฐบาลร่วมกันได้ จะทะเลาะกันในบางกฏหมายในบางนโยบาย ก็ถือว่า เป็นเรื่องปกติ” ดร.วีระ ทิ้งท้าย