อนุทิน เปิดงาน มหกรรมเทศกาลอาหารและศิลปวัฒนธรรมไทย เที่ยวสุขใจวัดนางในถิ่นอ่างทอง 2568 กระตุ้นเศรษฐกิจพื้นที่
เมื่อวันที่ 12 เมษายน ที่วัดนางในธัมมิการาม อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมเทศกาลอาหารและศิลปวัฒนธรรมไทย เที่ยวสุขใจวัดนางในถิ่นอ่างทอง 2568″โดยมี น.ส.ธนนนท์ นิรามิษ ภริยารองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง นายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาฯ คนที่ 2 นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ประธานคณะกรรมาธิการปกครอง สภาฯ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรองประธานสภาฯ นายสุรเชษ นิ่มกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง และประชาชนชาวจังหวัดอ่างทองกว่า 2,000 คน ร่วมงาน
นายอนุทิน กล่าวว่า การเปิด “มหกรรมเทศกาลอาหารและศิลปวัฒนธรรมไทย เที่ยวสุขใจวัดนางในถิ่นอ่างทอง 2568” ที่ อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ถือเป็นฤกษ์ดีที่ทุกคนได้เริ่มต้นความสุขในเทศกาลวันปีใหม่ไทยหรือวันสงกรานต์ประจำปี 2568 ซึ่งจะช่วยเติมพลังไปดำเนินชีวิตในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ ได้ทำประโยชน์ให้กับตนเอง ให้กับครอบครัว ตลอดจนประเทศชาติ
นายภราดร กล่าวว่า งานในวันนี้เกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มของนายอนุทิน ที่อยากเห็นทุกจังหวัดของประเทศไทยนำของดีของจังหวัดตนเองมาเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน ซึ่ง จ.อ่างทองได้นำของดีของตนเองมากำหนดเป็น Pilot Project นำร่องคืออาหาร ศิลปวัฒนธรรม มารวมไว้ที่นี่ ภายใต้ชื่อ “มหกรรมเทศกาลอาหารและศิลปวัฒนธรรมไทย เที่ยวสุขใจวัดนางในถิ่นอ่างทอง” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับประชาชน เฉกเช่นเดียวกับ จ.บุรีรัมย์ ที่มีงาน Colors of Buriram
นายชวนินทร์ กล่าวว่า งานมหกรรมเทศกาลอาหารและศิลปวัฒนธรรมไทย เที่ยวสุขใจวัดนางในถิ่นอ่างทอง จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 11-15 เม.ย.ณ วัดนางในธัมมิการาม อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวของ จ.อ่างทอง และประชาสัมพันธ์อาหารพื้นถิ่น ขนมโบราณ ผลิตภัณฑ์ชุมชนและศิลปวัฒนธรรมของ จ.อ่างทอง ให้เป็นที่รู้จักทั่วกัน เกิดการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชน โดยมีอาหารและขนมพื้นถิ่นผลิตภัณฑ์ชุมชนสินค้าโอทอป มากกว่า 120 ร้าน และมีการแสดงศิลปะวัฒนธรรมไทยตลอดทั้งวัน มีการแข่งขันอาหารจากวัตถุดิบ คือ ปลาช่อน ซึ่ง จ.อ่างทอง เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงมากที่สุดในประเทศไทย มียอดเพาะเลี้ยงมากกว่า 1,500,000 กิโลกรัมต่อปี