สถานีคิดเลขที่ 12 : สภาวะชั่วคราว
ถ้ าเทศกาล “สงกรานต์” ถือเป็นสภาวะ “ชั่วคราว-ยกเว้น” ในทางสังคมและวัฒนธรรม ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้มีความสุขสนุกสนานกันอย่างเต็มที่ ในห้วงเวลาวันหยุดยาว “ช่วงสั้นๆ”
ก่อนจะต้องกลับไปเผชิญกับโลกความเป็นจริงของการทำงาน หรือการต่อสู้ปากกัดตีนถีบเพื่อดำรงชีวิตกันต่อ ในอีกสามร้อยกว่าวันที่เหลือของปี
ในทางการเมือง ก็อาจมีสภาวะ “ชั่วคราว” ที่คล้ายคลึงกัน
เพียงแต่สภาวะ “ชั่วคราว” ในโลกการเมืองนั้น ไม่ได้กินเวลาแค่เพียงช่วงวันหยุดไม่กี่วันในเดือนเมษายน
หากเป็นสภาวะ “ชั่วคราว” ในการดำรงอยู่ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งต้องมีอายุขัยไม่เกิน 4 ปี
ในกรณีของการเป็น “รัฐบาลผสม” ที่เกิดจากการรวมตัวกันของหลายพรรคการเมือง มีพรรคการเมือง “ใหญ่” มากกว่าหนึ่งพรรค/หนึ่งขั้ว ดำรงตนเป็น “ศูนย์อำนาจ”
(ซึ่งมีได้หลายศูนย์) ของรัฐบาล
การร่วมงาน-การประสานความร่วมมือในลักษณะนี้ ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงแค่เพียง “ความเป็นจริง” ทางการเมือง หรือผลลัพธ์ของการต่อรองผลประโยชน์ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งมิใช่ “สัจจะ” แท้จริงของสังคมการเมือง
ในทางตรงกันข้าม “รอยปริแยกแตกร้าว” ที่ดูเหมือนเล็กน้อย ท่ามกลางการดำรงอยู่อย่างชั่วครู่ชั่วคราวของ “รัฐบาลผสม” ชุดหนึ่งต่างหาก ที่อาจบ่งบอกบ่งชี้ให้เห็นถึง “สัจจะ” จริงๆ ในทางการเมือง
“สัจจะ” ที่จะแบ่งมิตรแยกศัตรูออกจากกันได้อย่างเด่นชัด
“สัจจะ” ที่จะสะท้อนภาพการมีอยู่ของกลุ่ม/ขั้วทางการเมืองทุกกลุ่มได้อย่างชัดเจน
“สัจจะ” ของสนามแข่งขันในทางการเมือง ว่าถึงที่สุดจะมีพรรค/กลุ่มใดลงแข่งบ้าง และแต่ละฝ่ายมีใครเป็นคู่ต่อสู้ที่สำคัญที่สุดในแต่ละพื้นที่-ชัยภูมิ
“สัจจะ” ทำนองนี้ ปรากฏขึ้นจนเป็นที่ประจักษ์ชัด ตั้งแต่ช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ปีนี้
หรือเอาเข้าจริงๆ ก็เป็นสมบัติที่ติดตัวรัฐบาลผสม อันมี “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคภูมิใจไทย” เป็นสองแก่นแกนหลัก ที่มิได้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแนบสนิท มาตั้งแต่ตั้งต้นแรกเริ่ม
ขึ้นอยู่ว่าแต่ละฝ่ายที่ข้องเกี่ยวกับเกมอำนาจกระดานนี้ จะอยากยืดระยะเวลา “ชั่วคราว” ของรัฐบาลผสมออกไปนานแค่ไหน
หรือพร้อมจะเร่งผลักดันความขัดแย้งไม่ลงตัว อันเป็น “สัจจะ” ที่ซ่อนแฝงอยู่ประหนึ่งรากลึกตรงฐานล่าง ให้กลายมาเป็น “เครื่องมือตัดสินชี้ขาด” ทางการเมืองเร็วขึ้น (กว่ากำหนดอายุ 4 ปีของรัฐบาล)
ยังไม่นับรวมว่าแผงชนชั้นนำอื่นๆ ในสังคมการเมืองไทย อาทิ องค์กรอิสระต่างๆ หรือกองทัพ เป็นต้น อ่านเกมนี้อย่างไร และเลือกข้างไหน ในบริบทที่กฎกติกาทางการเมือง (ซึ่งยังไม่ถูกแก้ไข) ได้ออกแบบให้ “รัฐราชการ” มีอำนาจขยายใหญ่เกินควบคุม ส่วน “รัฐบาลของนักการเมือง” มีข้อจำกัด-อุปสรรคขวากหนามเยอะแยะเต็มไปหมด
ยังไม่นับรวมอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญว่าประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย “แท้จริง” กำลังประเมิน “เกมการเมืองแบบชั่วคราว” และ “สัจจะทางการเมือง” เหล่านี้ ด้วยมุมมองแบบใด และเห็นใครเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของพวกตนในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งหน้า
ปราปต์ บุนปาน