เปิดร่างพรก.ป้องภัยไซเบอร์ เข้มแบงก์-ค่ายมือถือร่วมรับผิด
หมายเหตุ – สาระสำคัญร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่…) พ.ศ. … และร่างพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2568 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2568 บังคับใช้วันที่ 13 เมษายน 2568
ร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่…) พ.ศ. …
สาระสำคัญของเรื่อง
1.ร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่…) พ.ศ. …ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว เป็นการเพิ่มมาตรการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์และมิจฉาชีพ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้ตรวจพิจารณา และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญ ดังนี้
1) แก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
(1) แก้ไขวันใช้บังคับ โดยกำหนดให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (เดิมใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา)
(2) แก้ไขบทนิยามคำว่า ผู้ประกอบธุรกิจ โดยกำหนดให้มีความหมายรวมถึงผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและเพิ่มบทนิยามคำว่า กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล และบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์
(3) เพิ่มเติมให้มีการเปิดเผย หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล และเพิ่มเติมให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์สินดิจิทัลเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการร่วมกับหน่วยงานอื่น เพื่อตรวจสอบและกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านระบบ หรือกระบวนการเปิดเผย หรือแลกเปลี่ยนข้อมูล (เดิมไม่ได้กำหนดไว้)
(4) เพิ่มเติมการกำหนดมาตรฐาน หรือมาตรการเพื่อป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อคัดกรองจากข้อความที่เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นข้อความที่เสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงซึ่งไม่ต้องกดเข้าไปอ่านเนื้อหาภายในข้อความนั้น เช่น ข้อความชักชวนให้เล่นการพนันออนไลน์ หรือข้อความที่หลอกลวงชักชวนให้นำเงินไปลงทุน (เดิมไม่ได้กำหนดไว้)
(5) แก้ไขเพิ่มเติมมาตรการด้านการระงับการให้บริการโทรคมนาคม โดยกำหนดให้ชัดเจนว่า เมื่อปรากฏพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการใช้บริการโทรคมนาคมเพื่อกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีต้องแจ้งให้สำนักงาน กสทช.สั่งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น หรือผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง ระงับการให้บริการโทรคมนาคม (เดิมกำหนดให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น ผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือสำนักงาน กสทช. แล้วแต่กรณี สั่งระงับการให้บริการหมายเลขโทรศัพท์)
(6) เพิ่มเติมการระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมายออกจากระบบคอมพิวเตอร์โดยกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมายออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้ เมื่อปรากฏข้อมูลว่ามีผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (เดิมไม่ได้กำหนดไว้)
(7) แก้ไขเพิ่มเติมการคืนเงินให้แก่ผู้เสียหาย โดยให้นำรายละเอียดที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน รวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคืนเงินให้แก่ผู้เสียหายกำหนดไว้ในกฎกระทรวง และเพิ่มเติมการดำเนินการกรณีที่ไม่มีผู้เสียหาย หรือผู้ที่เกี่ยวข้องมายื่นคำร้องภายใน 10 ปีนับแต่วันที่ครบกำหนดที่ต้องยื่นคำร้องคัดค้าน หรือมีเงินที่เหลือภายหลังจากได้คืนเงินแก่ผู้เสียหายแล้ว ให้เงินดังกล่าวตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (แต่ไม่ตัดสิทธิเจ้าของเงินที่จะขอรับเงินคืนจากกองทุนป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)
(8) แก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดภาระการพิสูจน์ของหน่วยงานเอกชน โดยให้หน่วยงานเอกชนมีภาระการพิสูจน์เพื่อไม่ต้องมีความรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าได้ปฏิบัติตามมาตรฐาน หรือมาตรการเพื่อป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีกำหนดโดยหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลแล้ว (เดิมไม่ได้กำหนดไว้)
(9) เพิ่มบทกำหนดโทษกรณีผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นสถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงินและผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้ระวางโทษปรับ เนื่องจากเป็นนิติบุคคล เพิ่มบทกำหนดโทษกรณีที่ผู้แทนสถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวต้องรับผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพิ่มบทกำหนดโทษกรณีที่ผู้ซื้อเลขหมายโทรศัพท์ หรือผู้ขายเลขหมายโทรศัพท์ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการลงทะเบียนให้แก่ผู้ใช้บริการ ลงทะเบียนไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่กำหนดโดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือความผิดทางอาญาอื่นใด (เดิมไม่ได้กำหนดไว้)
2) ตัดหลักการที่กำหนดมาตรการห้ามการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์ม Peer-to-Peer (P2P) และตัดการกำหนดบทกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนโดยซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์ม P2P
3) ตัดบทกำหนดโทษกรณีการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะเป็นการพนัน หรือพนันออนไลน์
4) เพิ่มเติมให้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกำหนดให้มีหน้าที่ เช่น แจ้งรายชื่อบุคคล หรือเลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
ร่างพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่…) พ.ศ. … มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
2.1 กำหนดวันใช้บังคับ โดยให้ร่างพระราชกำหนดฉบับนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
2.2 กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ประกอบธุรกิจอยู่นอกราชอาณาจักรแต่ให้บริการแก่บุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรต้องได้รับอนุญาตตาม
พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลฯ
2.3 กำหนดลักษณะที่ถือว่าเป็นการให้บริการแก่บุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร เช่น มีการแสดงผลโดยผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมด หรือบางส่วนเป็นภาษาไทย สามารถเลือกชำระเงินเป็นสกุลเงินบาท มีการรับชำระเงินผ่านบัญชีเงินฝาก หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย หรือมีเงื่อนไขให้ใช้กฎหมายไทยเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ธุรกรรมซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือกำหนดให้ดำเนินคดีในศาลไทย เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ให้ความเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชกำหนด จำนวน 2 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ตรวจพิจารณาแล้ว
ประเสริฐ จันทรรวงทอง
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่…) พ.ศ. … และร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่…) พ.ศ. … ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้ตรวจพิจารณาร่างแล้วนั้นจะมีผลบังคับใช้ทันทีในวัดถัดไปหลังจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ร่าง พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับนี้หากมีผลบังคับใช้จะช่วยป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนมีความปลอดภัยในการใช้บริการโทรศัพท์ หรือโทรคมนาคม การทำธุรกรรมด้านการเงิน และในกรณีที่ประชาชนเป็นผู้เสียหายจะได้รับการช่วยเหลือและติดตามเส้นทางการเงินเพื่อนำเงินมาคืนได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดให้หน่วยงานของเอกชนมีส่วนร่วมรับผิดในความเสียหาย โดยมีการกำหนดมาตรฐาน หรือมาตรการที่เกี่ยวข้องโดยหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการควบคุมกำกับดูแล ทำให้หน่วยงานของเอกชนเกิดความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่และเป็นมาตรการที่จะช่วยเยียวยาผู้เสียหายได้ โดยครอบคลุมผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนใน 5 มิติ ได้แก่
1.มิติการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ช่วยยับยั้งการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีของมิจฉาชีพ โดยการสกัดช่องทางที่มิจฉาชีพใช้ในการก่ออาชญากรรม เช่น การใช้ซิมผี บัญชีม้า การส่ง SMS แนบลิงก์ ฯลฯ
2.มิติการบูรณาการร่วมกัน โดยกระทรวงดีอีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันบูรณาการกำหนดมาตรการในการป้องกันและปราบปรามฯ อาทิ มาตรการการบูรณาการเชื่อมต่อข้อมูลของศูนย์ AOC ธนาคาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กสทช. ปปง. และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ฯลฯ
3.มาตรการบังคับทางกฎหมาย เพื่อนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ โดยร่าง พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับ มีมาตรการทางกฎหมายที่ครอบคลุมการบังคับใช้ เพิ่มบทลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
4.มิติการยับยั้งความเสียหาย การกำหนดมาตรการการมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ซึ่งจะเป็นผลสกัดช่องทางการสร้างความเสียหายให้กับประชาชน พร้อมทั้งทำให้เกิดการป้องกันการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่รัดกุม ซึ่งที่ผ่านมาสามารถลดมูลค่าความเสียหายได้อย่างมีนัยสำคัญอย่างต่อเนื่อง
5.มิติการเยียวยา ร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ มีเนื้อหาสาระสำคัญที่กำหนดให้มีการเยียวยาประชาชนผู้เสียหาย ซึ่งได้รับผลกระทบจากการกระทำของมิจฉาชีพ โดยกำหนดให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดวิธีการ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชน