หมายเหตุ : การใช้สิทธิการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) และนายกเทศมนตรี ทั่วประเทศ 76 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา นักวิชาการได้สะท้อนปรากฏการณ์ดังนี้
โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
การเลือกตั้งเทศบาลทั่วประเทศ ภาพรวมประชาชนยังให้ความสนใจน้อยมาก มาใช้สิทธิประมาณ 50% เมื่อเปรียบเทียบเลือกตั้ง อบจ.ทั่วประเทศ การตื่นตัวประชาชนยังน้อย ทั้งที่เทศบาลเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด มีอำนาจดูแลประชาชนโดยตรงและรอบด้าน ในการแข่งขันจะเห็นบรรยากาศค่อนข้างชัดเจนเป็นการฟื้นตัวบรรดากลุ่มการเมืองบ้านใหญ่ ถึงแม้กลุ่มบ้านใหญ่จะไม่ส่งคนในครอบครัวลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยตนเอง แต่ยังมีบรรดา ส.อบจ.ในกลุ่มบ้านใหญ่ให้การสนับสนุนให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง
นอกจากนี้จะเห็นว่าการสื่อสารทางการเมือง พยายามชี้ให้เห็นความเป็นกลุ่มเป็นก้อน ไม่ว่าจะเป็นมอตโตหรือข้อความสำคัญๆ ไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งชื่อกลุ่มทำให้สะท้อนถึงความเป็นเอกภาพกลุ่มบ้านใหญ่ และยังเห็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งมีการเปลี่ยนรูปแบบวิธีการหาเสียงชัดเจน ผิดกับรูปแบบปี 2564 เพราะมีการใช้สื่อออนไลน์อย่างเข้มข้นในเชิงนโยบาย มากกว่าจะเน้นตัวบุคคล ทรัพยากรกระสุนเหมือนการเลือกตั้งในอดีต
ด้านพรรคประชาชน (ปชน.) ส่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งแต่ไม่สบความสำเร็จโดยเฉพาะเทศบาลนคร ที่เป็นเป้าหมายหลักของพรรค แสดงว่าสนามเลือกตั้งท้องถิ่นในนาม ปชน.คะแนนนิยมไม่สูงมาก บวกกับมีปัญหาในการคัดตัวผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่ไม่เข้าใจ ความเป็นธรรมชาติของการเมืองท้องถิ่น และไม่มีความพร้อมส่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาล เห็นได้จากผู้ลงสมัครสมาชิกสภาเทศบาล ปชน.บางเขตเทศบาล ส่งไม่ครบไม่เต็มทีม นอกจากนี้เมื่อส่งลงสมัครสมาชิกสภาเทศบาลก็ยังมีคดีค้ายาเสพติด สะท้อนถึงความไม่พร้อม เมื่อกลุ่มการเมืองบ้านใหญ่ปรับตัวได้ ทำให้มีชัยชนะ เหมือนกับเป็นการฟื้นตัวของกลุ่มบ้านใหญ่อีกทางหนึ่งด้วย
การที่ ปชน.ออกมาประกาศถึงชัยชนะเทศบาลเมือง เทศบาลตำบล ผมมองว่าเป็นการแก้เกี้ยวมากกว่า หากย้อนไปดูมติ ปชน.พบว่าจะส่งเฉพาะเทศบาลนคร ส่วนการเทศบาลเมือง เทศบาลตำบลอยู่ในการตัดสินใจของ ส.ส.ในเขตนั้นๆ หรือ ส.อบจ.ที่ชนะในเขตว่าจะส่งหรือไม่ส่ง แต่เมื่อ ปชน.ตัดสินใจส่งผู้สมัครนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาลนคร แต่ไม่ประสบชัยชนะเลย จึงพยายามแก้เกี้ยวว่าทั้งหมดเป็นของ ปชน. ทั้งที่มติพรรคกำหนดว่าจะส่งเฉพาะเทศบาลนครเท่านั้น กลยุทธ์ในการหาเสียงสมัยพรรคก้าวไกลก่อนที่จะมาเป็น ปชน.ถือว่าล้ำสมัย แต่ช่วงระยะหลังกลุ่มบ้านใหญ่ปรับตัวได้ จากการเก็บข้อมูลพบว่า จ.ชลบุรี มีการจ้างมืออาชีพมาดูแลในเรื่องนโยบาย การสื่อสาร คอนเทนต์ต่างๆ สามารถสู้กับพรรคประชาชนได้ โดยเฉพาะนโยบายจะเขียนจากข้อเท็จจริงในพื้นที่ แต่ ปชน.เป็นนโยบายจากกรุงเทพฯ แล้วนำมาเปลี่ยนชื่อมาหาเสียงในท้องถิ่นเท่านั้นเอง
ส่วนพรรคเพื่อไทย (พท.) ส่งผู้สมัครท้องถิ่นแล้วประสบชัยชนะใน จ.เชียงใหม่ มองว่าเมื่อส่งแล้วจะต้องประสบชัยชนะเท่านั้น เพราะเป็นพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ พท. และเป็นพื้นที่นายทักษิณ ชินวัตร จะต้องแสดงศักยภาพตัวเองว่าไม่ได้ถดถอย โดย พท.ต้องการใช้พื้นที่เทศบาลสร้างภาพลักษณ์ทางการเมือง และคะแนนนิยมให้ พท.ด้วย เพราะถูกโจมตีว่าพรรคถดถอยไปมาก ผลงานไม่มี จึงต้องหยิบโอกาส และจังหวะการเลือกตั้งเทศบาลเป็นกระแสตัวเองด้วย
หากให้มองในพื้นที่เลือกตั้งเทศบาลทุกภาค พบว่าตระกูลการเมืองครองพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการปรับภาพลักษณ์ทางการเมืองเข้าสู่วาระการเมืองเชิงนโยบาย ส่วนทำได้จริงหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เป็นการสร้างเนื้อหาในรูปแบบใหม่ที่พยายามปรับตัวร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น เพื่อปรับตัวสู้ ปชน.
ประการต่อมาทุกกลุ่มการเมืองมีการใช้เงินสูงมากในครั้งนี้ มีการซื้อเสียงกันอย่างกว้างขวาง สิ่งที่น่าตกใจ กกต.ไม่สามารถดำเนินการจับผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ทั้งที่มีการซื้อสิทธิขายเสียงกันมากผิดปกติ ทั้งที่เรื่องเหล่านี้ผิดกฎหมาย แต่สามารถทำกันได้แบบเปิดเผย แสดงถึงภาวะถดถอยการบริหารการเลือกตั้ง กกต.ที่ดูล้มเหลวอย่างหนัก
ประการต่อมายังแสดงให้เห็นว่า ปชน.ไม่ยอมถอดบทเรียน ทำให้เกิดสภาวะตกต่ำจากการเลือกตั้งท้องถิ่นอีกด้วย
หากมองการเลือกตั้งเทศบาลภาคตะวันออกจะพบว่ากลุ่มบ้านใหญ่หลายจังหวัดฟื้นตัว เช่น ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สามารถใช้การเลือกตั้งเทศบาลกระจายเครือข่ายอำนาจและคว้าชัยชนะได้ แสดงว่ากลุ่มบ้านใหญ่จะมีบทบาทมากในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้า นอกจากนี้ยังเกิดการแข่งขันกันเองระหว่างกลุ่มต่างๆ ในจังหวัดนั้นๆ เห็นได้จากกลุ่มพลังใหม่ นายสุชาติ ชมกลิ่น รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ส่งผู้สมัครหลายเทศบาลและพ่ายแพ้หลายเทศบาล เหลือเพียงเทศบาลตำบลเสม็ด เทศบาลเมืองชลบุรี แสดงให้เห็นกลุ่มพลังใหม่ในการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2570 จะต้องทำงานการเมืองหนักมากขึ้น
สำหรับชัยชนะผู้ลงสมัครนายกเทศมนตรีทั่วประเทศ ปัจจัยสำคัญมองว่าการปรับตัวการเมืองเชิงนโยบายที่สื่อสารเข้าถึงประชาชนได้ง่ายมากยิ่งขึ้น และมีการใช้เงิน กระสุน จดคะแนนกันอย่างโจ๋งครึ่ม แสดงให้เห็นถึงบทบาทอ่อนแอของ กกต.
ต้องยอมรับว่า กกต.ขณะนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันเยอะ แต่ กกต.ยังไม่ปรับตัว ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบกฎหมาย อย่างไรก็ตามยังมองว่า กกต.ยังมีความสำคัญในการเลือกตั้ง แต่ต้องปรับการได้มาของ กกต. เพราะที่ผ่านมาผู้ที่มาทำหน้าที่ กกต.ยังไม่ให้ความสำคัญของการเลือกตั้ง แต่มาเป็นเพื่อต้องการสายสะพาย ได้เงินทอง ค่าตอบแทนมากกว่า จึงต้องปรับเปลี่ยนให้คนที่มีความรู้ความสามารถ เกี่ยวกับการเลือกตั้งมาทำหน้าที่ และทำงานเชิงรุกมากกว่านี้ ไม่ใช่ทำงานตามระบบกลไกข้าราชการ และไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม
หากให้มองการเลือกตั้งเทศบาล สะท้อนไปถึงการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2570 ผมคิดว่าบ้านใหญ่คงให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะสามารถสร้างโครงข่ายชิงความได้เปรียบทางการเมือง ท้ายที่สุดแล้วก็ยังไม่สามารถชี้ขาดได้ เพราะการเมืองใหญ่ต้องดูกระแสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น มีนโยบายที่แหลมคม มีผู้นำพรรคที่โดดเด่น จึงไม่สามารถอาศัยฐานการเมืองท้องถิ่นได้ เพราะหลายครั้งจะเห็นเลือกตั้งท้องถิ่น บ้านใหญ่ประสบความสำเร็จ พอการเมืองใหญ่พ่ายแพ้การเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งท้องถิ่นก็ยังเป็นหลักประกันสามารถครองพื้นที่ในภาครวมได้ ปรับกลยุทธ์ใหม่อาจจะต่อสู้ทางการเมืองระดับชาติได้
ฝากว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นหลายเทศบาลมีการปรับตัว และหาเสียงเชิงนโยบาย สัญญาหาเสียงกับประชาชนแล้ว อยากให้ขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นรูปธรรม นอกจากนี้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และ กกต.จะต้องรณรงค์ให้คนเห็นความสำคัญในการเลือกตั้งท้องถิ่น ทำให้คนเข้าใจบทบาทหน้าที่เทศบาล มีความสำคัญกับประชาชน เพื่อให้คนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ ส่งผลต่อการพัฒนาท้องถิ่นเจริญมากยิ่งขึ้น
ณัฐกร วิทิตานนท์
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภาพรวมการเลือกตั้งท้องถิ่นในภาคเหนือ เฉพาะการเลือกตั้งเทศบาลนคร เทศบาลเมือง ส่วนใหญ่เบอร์หนึ่งแต่ละจังหวัดยังรักษาแชมป์ไว้ได้ อาทิ เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลเมืองลำพูน ยกเว้น เทศบาลเมืองแพร่ ที่อดีตนายกหลายสมัยแพ้การเลือกตั้ง และเทศบาลนครลำปาง ตัวแทนของอดีตนายกคนเดิมลงชิงเก้าอี้ แต่ก็แพ้ให้กับผู้สมัครหน้าใหม่
หากมองผู้สมัครที่มีพรรคการเมืองสนับสนุน เช่น พรรคประชาชน (ปชน.) ที่ส่งผู้สมัครลงใน จ.เชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า วิธีคิดและการตัดสินใจเลือกผู้สมัครไม่เหมือนกับการเลือกตั้ง อบจ.และ ส.ส. ในแง่ของปัจจัยเรื่องตัวบุคคลที่ถูกคำนึงถึงมากที่สุด ไม่ใช่เอาใครลงก็ได้
การเลือกตั้งท้องถิ่นกับการเลือกตั้งระดับชาติยังคู่ขนานกัน เปอร์เซ็นต์ผู้ใช้สิทธิท้องถิ่นยังต่ำ เทศบาลนครเชียงใหม่มีผู้ออกมาใช้สิทธิเพียง 57% แต่การเลือกตั้ง ส.ส.สูงถึง 70-80% สัดส่วนผู้ใช้สิทธิที่หายไปถึง 20% มีผล เพราะแค่ 1-2% คะแนนก็หายไปเกือบครึ่ง หมายความว่า การเลือกตั้งระดับชาติมีโอกาสพลิกผัน ระหว่างคะแนนที่มีเจ้าของ ต้องต่อสู้กับคะแนนสะวิงโหวตที่เป็นตัวแปรสำคัญ
อย่างไรก็ตามต้องดูหลายปัจจัยประกอบ เช่น กระแสพรรค ที่ประกอบด้วย หัวหน้าพรรค นโยบาย และวิธีการสื่อสารสมัยใหม่ที่ได้จังหวะ
เหมือนรอบที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลขณะนั้น ได้รับการเลือกตั้ง ทั้งหมดนี้มีผลหมด ทำในระดับภาคใหญ่ทั้งประเทศ คนไม่ได้เลือกเฉพาะ ส.ส.แต่เลือกปาร์ตี้ลิสต์ด้วย
ส่วนผลการเลือกตั้งเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ผู้สมัครจาก ปชน.มีคะแนนต่ำกว่าเป้าหมาย เมื่อเทียบกับผลคะแนนการเลือกตั้งนายก อบจ. ซึ่งเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ได้คะแนนสูงกว่า 23,000 คะแนน แต่การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีกลับได้ไปเพียง 15,715 คะแนน มองว่ามาจาก 2 ปัจจัย คือ คะแนนเลือกตั้ง อบจ.เชียงใหม่ เป็นการแข่งขันกันระหว่างผู้สมัคร 2 ราย แม้มีผู้สมัครอีกรายก็ไม่ใช่ตัวแปรที่สามารถเบียดแย่งคะแนนได้
ดังนั้นผลการเลือกตั้ง อบจ.เชียงใหม่ คะแนนจึงเทไปที่ผู้สมัครจาก 2 พรรค คือ พท.และ ปชน. ซึ่งในเขตตัวเมืองคะแนน ปชน.ได้มาค่อนข้างสูง แต่ในการเลือกตั้งเทศบาลนครเชียงใหม่ซับซ้อนกว่า อาจเกี่ยวเนื่องกับ ส.ท.ที่มีส่วนโน้มน้าวหรือชี้นำให้คนเลือก และนายอัศนี บูรณุปกรณ์ อดีตนายกมีความได้เปรียบ เพราะมี ส.ท.เก่าในมือที่ส่งลงสมัครถึง 20 คน และชนะมาถึง 18 คน
ฐาน ส.ท.ส่งผลต่อการเลือกตั้งเทศบาลนครเชียงใหม่มาก เพราะ ส.ท.เหล่านี้ทำงานใกล้ชิดประชาชนอยู่ในพื้นที่มานานกว่า 4 ปี ขณะที่กระแส ปชน.ยังไม่แรงพอที่จะเปลี่ยนการตัดสินใจให้คนมาเลือก แต่อาจได้ความนิยมชมชอบ
ขณะเดียวกันผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ หมายเลข 1 น.ส.ปนันรัตน์ วิริยะกุลศานต์ จากกลุ่มเพื่อเชียงใหม่ เป็นทางเลือกที่ 3 หากใครไม่อยากเลือกฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน เสนอตัวเป็นคนตรงกลางพร้อมทำงานทุกฝ่าย และประกาศล้างภาพสีแดงโดยใช้สีเขียวเป็นสัญลักษณ์ เน้นบุคลิก หน้าตา มีความเป็นไปได้ว่าผู้สมัครรายนี้ดึงคะแนนที่เคยลงให้นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ อดีตผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ ปชน. ที่ควรเป็นของนายธีรวุฒิ แก้วฟอง ผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ปชน. ทำให้คะแนนของนายธีรวุฒิหายไป ส่วนคะแนนนายอัศนี บูรณุปกรณ์ พรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้นแค่หลักหน่วย
นอกจากนี้จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเทศบาลนครเชียงใหม่ลดลงมากเหลือ 57% เมื่อเทียบกับ อบจ.เชียงใหม่ 68% คะแนนของนายธีรวุฒิที่ตั้งเป้าจะได้ใกล้เคียงกับคะแนนของนายพันธุ์อาจจึงเป็นไปได้ยาก เมื่อเปรียบเทียบย้อนกลับไปในการเลือกตั้งเทศบาลนครเชียงใหม่เมื่อปี 64 มีผู้ออกมาใช้สิทธิ 59% จำนวนผู้ใช้สิทธิแค่ 2% ที่หายไป คะแนนก็หายไปเกือบ 5,000 กว่าคะแนนแล้ว โดยครั้งนี้นายธีรวุฒิมีคะแนนแพ้คู่แข่งถึง 4,000 คะแนน จำนวนผู้ใช้สิทธิจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ ปชน.แก้ไม่ได้ เพราะไม่สามารถจูงใจให้คนกลับมาใช้สิทธิเลือกตั้งได้
ประเทือง ม่วงอ่อน
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ข้อค้นพบจากการเลือกตั้งเทศบาลในภาคอีสานปรากฏการณ์ที่สะท้อนการเมืองในยุคปัจจุบัน ดังนี้
1) มายาคติที่ว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นใช้เงินมากกว่าระดับชาติเป็นความเชื่อแบบผิดๆ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเลือกตั้งทุกระดับในภาคอีสานเชื่อมโยงกระแสการซื้อสิทธิขายเสียง และเกิดมายาคติว่า การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นใช้เงินสูงกว่าระดับชาติ โดยวัดจากปริมาณเงินที่แจกต่อหัว แต่ความจริงเป็นเพียงมายาคติหรือความเชื่อที่ผิดๆ การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นอีสานโดยเฉพาะระดับเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร โดยเฉลี่ยแล้วในแต่ละเขตเลือกตั้งจะมีประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งหลักพันคน มีไม่กี่แห่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งหลักหมื่นคน
ส่วนใหญ่กรณีการเลือกตั้งระดับเทศบาล ประชาชนจะมาใช้สิทธิเลือกตั้งประมาณร้อยละ 70 ตัวอย่างเช่น เขตเทศบาลตำบลนั้นมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 7,000 คน โดยส่วนใหญ่จะมาใช้สิทธิประมาณร้อยละ 70 แสดงว่าจะมีประชาชนที่มาเลือกตั้งและเป็นเป้าหมายของผู้สมัคร/หัวคะแนน/แกน ที่จะต้องหาคะแนนจากผู้มาเลือกตั้ง
เหล่านี้เพียง 4,900 คน มิใช่หลักหมื่นหรือหลักแสนเหมือนการเลือกตั้งระดับชาติ ซึ่งผู้สมัครหรือหัวคะแนนจะมีรายชื่อผู้มาใช้สิทธิการเลือกตั้งอยู่ในมือทั้งหมด โดยปกติพฤติกรรมทางการเมืองคนภาคอีสานพบว่าคนที่เคยออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง มักจะออกมาใช้สิทธิโดยตลอด ส่วนนอนหลับทับสิทธิมักจะมีพฤติกรรมเช่นเดิม โดยส่วนใหญ่ เหล่านักการเมืองและหัวคะแนนจะเข้าใจพฤติกรรมและมีรายชื่ออยู่ในแฟ้มทั้งหมด รู้แม้กระทั่งว่าบ้านแต่ละหลังจะมีคนมาใช้สิทธิเลือกตั้งกี่คน
ดังนั้น เมื่อคำนวณเฉพาะคนจะมาใช้สิทธิเลือกตั้ง และหักกลุ่มประชาชนที่เป็นกลุ่มที่จะเลือกอีกฝ่ายหรือไม่เลือกฝ่ายตนแน่ๆ จะเหลือจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่หัวคะแนนจะจดรายชื่อประมาณ 3-4 พันคนเท่านั้น
นอกจากนี้ ผู้สมัคร/หัวคะแนน จะแบ่งกลุ่มประชาชนผู้จะมาใช้สิทธิเลือกตั้งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มที่จะเลือกกลุ่มตน หรือมีโอกาสเลือกกลุ่มตน เรียกว่า กลุ่มสีเขียว (2) กลุ่มเทาๆ คือ กลุ่มที่มีโอกาสเลือกทั้ง 2 ฝ่าย (3) กลุ่มแดง คือ กลุ่มที่เป็นฝ่ายตรงกันข้าม หากมั่นใจว่าสามารถหาคะแนนจากทั้งสองกลุ่มแรกได้อย่างเพียงพอ
ที่จะทำให้ชนะการเลือกตั้งได้อย่างแน่นอน กรณีที่ผู้สมัครประเมินแล้วว่า คะแนนจากสองกลุ่มแรกมีโอกาสสุ่มเสี่ยงหรืออาจจะไม่เพียงพอ และหรืออาจจะออกได้สองหน้า สองเบอร์ หรือมีความสูสีกันสูง หัวคะแนนจึงจะมาเสี่ยงกับกลุ่มแดง คือ กลุ่มที่เป็นฝ่ายตรงกันข้าม โดยคาดหวังให้ได้คะแนนแบบไปกลับ คือ ได้คะแนนมาฝ่ายตน ขณะเดียวกันก็ไปลดคะแนนฝ่ายตรงข้ามด้วย
โดยปกติหัวคะแนนจะมีข้อมูลอยู่ในแฟ้มรายชื่อว่า บ้านแต่ละหลังเลือกเบอร์ใด เป็นกลุ่มสีเขียว สีเทา หรือสีแดง ซึ่งหัวคะแนนจะเลือกหาคะแนนจากกลุ่มสีเขียวเป็นลำดับแรก ตามด้วยกลุ่มสีเทาๆ ตามลำดับ ซึ่งขึ้นอยู่กับการคาดการณ์ การคำนวณคะแนนว่าได้คะแนนเสียงเพียงพอที่จะชนะการเลือกตั้งแล้ว
หรือยัง ทั้งนี้ รวมคะแนนที่เผื่อเหลือเผื่อขาดแล้ว
ดังนั้น เมื่อคำนวณเฉพาะคนจะมาใช้สิทธิเลือกตั้ง และหักกลุ่มประชาชนที่เป็นกลุ่มที่จะเลือกอีกฝ่ายหรือไม่เลือกอีกฝ่ายแน่ๆ แล้ว จะเหลือจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพียงหลักพันคนเท่านั้น
2) กระแสความต้องการ “เปลี่ยน” ประชาชนเป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัวสำหรับนักการเมืองหน้าเก่าอยู่ในตำแหน่งยาวนาน โดยเฉพาะการเลือกตั้งระดับเทศบาล ชุมชนเมือง หรือกึ่งเมือง กึ่งชนบท เป็นบ้านมีรั้ว ปิดประตูหน้าบ้าน ไม่ต้อนรับแขกโดยไม่จำเป็น หัวคะแนนเข้าถึงยาก ทั้งนี้ ผู้บริหารท้องถิ่นระดับเทศบาลในภาคอีสานหลายแห่งดำรงตำแหน่งมาอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลพวงจากคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว กำหนดไม่ให้มีการเลือกตั้ง จนกระทั่งกำหนดให้มีเลือกตั้ง วันที่ 28 มีนาคม 2564 ซึ่งหากชนะการเลือกตั้งคราวนั้น จะดำรงตำแหน่งอย่างต่อเนื่องเป็น 10 ปี ในขณะที่เทศบาลมีข้อจำกัดงบประมาณที่จะนำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สวนทางความคาดหวังประชาชนไม่พ้นกระแสอยาก “เปลี่ยน”
สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ยังมีข้อค้นพบสำคัญว่า กระแสการอยากเปลี่ยน มีความเชื่อมโยงกับ “คุณสมบัติส่วนบุคคล” ผลจากการวิเคราะห์สถิติ พบว่า การเลือกตั้งนายกเทศมนตรี ประชาชนจะให้ความสำคัญกับคุณสมบัติส่วนบุคคลถึงร้อยละ 46.1 รองลงมา พิจารณาที่ผลงานที่ผ่านมา ร้อยละ 14.2 และการสังกัดพรรคหรือกลุ่มที่ชื่นชอบ เป็นตัวแปรที่ประชาชนจะพิจารณาในลำดับรองลงมา ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับผู้สมัครทางเลือกใหม่ๆ ที่อายุน้อยกว่าเข้ากับกลุ่มวัยได้หลากหลายกว่า จึงกลายเป็นความหวังใหม่ประชาชนที่อยากจะเปลี่ยนแปลง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่การเลือกตั้งเทศบาลในภาคอีสาน เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม จึงพบว่า เทศบาลหลายแห่งเกิดกระแส “เปลี่ยน” ได้นายกเทศมนตรีคนใหม่ (หน้าใหม่) ผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลและเทศบาลเมือง รวม 52 แห่ง พบว่า อุบลราชธานีได้นายกเทศมนตรีคนเดิมเพียง 15 คน (ร้อยละ 28.85) แต่ได้นายกเทศมนตรีคนใหม่ (หน้าใหม่) ถึง 37 คน (ร้อยละ 71.15)
3) การพ่ายแพ้การเลือกตั้งท้องถิ่นกลุ่มที่สนับสนุนโดยกลุ่มบ้านใหญ่ไม่ได้หมายถึงการพ่ายแพ้หรือการแตกสลายของกลุ่มบ้านใหญ่ กล่าวได้ว่า กลุ่มบ้านใหญ่ในภาคอีสานล้มยาก หากบ้านใหญ่ไม่เกิดความอ่อนแอหรือการแตกสลายภายในกลุ่มบ้านใหญ่เอง
ฉะนั้น การพ่ายแพ้การเลือกตั้งท้องถิ่นของกลุ่มที่สนับสนุนโดยกลุ่มบ้านใหญ่ไม่ได้หมายถึงการพ่ายแพ้หรือการแตกสลายของกลุ่มบ้านใหญ่ หากแต่เป็นหมากเกมทางการเมืองที่กลุ่มบ้านใหญ่ได้คำนวณ คาดการณ์ วางแผนอย่างมีชั้นเชิง และยอมปล่อยให้แข่งขันโดยเสรี เพื่อรักษาพันธมิตรทางการเมืองทั้งสองฝ่ายและรักษาทรัพยากรเอาไว้เพื่อหวังผลทางการเมืองระดับชาติที่ใหญ่กว่านั้นเอง
4) ภาพลวงตาของคะแนนการเลือกตั้งพรรคประชาชน หรือกลุ่มที่เชื่อมโยงหรือเคยเกี่ยวข้องกับพรรคประชาชน
กระแสพรรคการเมืองระดับชาติส่งผลต่อการเมืองระดับท้องถิ่นน้อยกว่าการเลือกตั้งระดับชาติ โดยการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ส่วนใหญ่ต่อสู้กันของผู้สมัครเพียง 2 ฝ่ายเท่านั้นที่มีโอกาสชนะ ในขณะที่ฝ่ายที่ 3 จะสอดแทรกได้ยาก หรือลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองบางประการเท่านั้น (เช่น การสร้างตัวตนให้เป็นที่รับรู้ทางการเมืองเพื่อหวังให้พรรคการเมืองมองเห็น และส่งลงการเลือกตั้งระดับชาติเท่านั้น) ดังนั้น เมื่อมีเพียง 2 ฝ่าย ประชาชนจึงต้องเลือกว่าจะลงคะแนนให้ฝ่ายใด พฤติกรรมทางการเมืองของประชาชนในภาคอีสาน เมื่อยึดมั่นหรือภักดีหรือสนับสนุนกลุ่มการเมืองใดแล้ว ส่วนใหญ่จะยึดมั่นกับกลุ่มการเมืองนั้นตลอด โดยเฉพาะกลุ่มการเมืองที่เคยมีคุณูปการทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจในพื้นที่
หากวิเคราะห์จากคะแนนผลการเลือกตั้งย้อนหลังในการเลือกตั้งทุกระดับในอดีตที่ผ่านมาในหลายพื้นที่ภาคอีสาน เห็นว่าคะแนนกองนี้กับคะแนนฝ่ายต่อต้านหรือไม่เอาบ้านใหญ่ เป็นคะแนนกองเดียวกันนั่นเอง ไม่ใช่คะแนนฝ่ายสนับสนุนพรรคประชาชนทั้งหมด