สิริพรรณ เตือนอันตราย หากองค์กรอิสระถูกยึดกุม ยันถ้าไม่แก้รธน. ปัญหาตามหลอกหลอนแน่

สิริพรรณ เตือนอันตราย หากองค์กรอิสระถูกยึดกุม ยันหากไม่แก้รธน. ปัญหาตามหลอกหลอนแน่ 

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อเขียนผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง มีความพยายามยึดกุมผูกขาดองค์กรอิสระโดยบุคคลและพรรคการเมืองจริงหรือไม่ โดยมีเนื้อหาดังนี้

อันตรายหากองค์กรอิสระกลายเป็น “องค์กรภายใต้กำกับ” แทนที่จะเป็นองค์กรตรวจสอบที่ “เป็นอิสระจากการถูกแทรกแซงทางการเมือง” คือ พื้นที่การแข่งขันทางการเมืองจะปราศจากความเท่าเทียม เป็นธรรม และไม่มีหลักประกัน ความพร้อมรับผิดของบุคลากรและองค์การทางการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้การเมืองไทยตกหล่มมาตลอดหลายปี

รัฐธรรมนูญไทย ออกแบบให้การรับรองและตรวจสอบเป็นวงจร การได้มาซึ่งองค์กรอิสระต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา เมื่อเข้ารับตำแหน่ง องค์กรอิสระมีอำนาจกำกับตรวจสอบวุฒิสภา

หากไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีก 4 ปีข้างหน้า ปัญหาเรื่องที่มาของวุฒิสภาและองค์กรอิสระ จะกลับมาหลอกหลอนเราอีก

ADVERTISMENT

ตลอดวาระ 5 ปีที่ดำรงตำแหน่ง วุฒิสภาชุดนี้มีอำนาจรับรอง/ปัดตก ผู้ทำหน้าที่ในองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถึง 33 จาก 42 ตำแหน่ง

ในระบบที่การคานอำนาจไม่สมดุล เป็นหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาที่จะตรวจสอบกันเองเพื่อธำรงรักษาศักดิ์ศรีของสภาที่ตนเป็นสมาชิก มาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญจึงเปิดช่องให้ 1 ใน 10 ของสมาชิกแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดสิ้นสุดลง

นอกจากการสอบสวนคุณสมบัติ และการเลือกกันเอง ที่ดำเนินอยู่โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว

การกระทำและพฤติกรรมการลงคะแนนในเรื่องต่าง ๆ ที่สมาชิกด้วยกันสังเกตเห็นได้ ก็อาจนำมาใช้เป็นข้อมูล ในการเขียนคำร้องเพื่อยืนยันว่าสมาชิกวุฒิสภาได้ใช้อำนาจตามกฎหมายกำหนดหรือไม่

รัฐธรรมนูญ มาตรา 113 สมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ฝักใฝ่หรือยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใด ๆ

มาตรา 114 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงําใดๆ

มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ซึ่งใช้กับ ส.ส. สว. และคณะรัฐมนตรีด้วย “หมวดที่ 1 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์”

ข้อ 7 ต้องถือผลประโยขน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน

ข้อ 8 ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติกรรมที่รู้เห็นยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

ความยากอยู่ที่

1) ประธานวุฒิสภาจะส่งคําร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญไหม
2) ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องหรือไม่

หากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณา และ “ปรากฏเหตุอันควรสงสัย”

ว่าวุฒิสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง จะมีคําสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ทุกประการ หรือเฉพาะบางส่วน ตามที่ได้วางแนวคำวินิจฉัยไว้ในกรณีรัฐมนตรียุติธรรม คุณทวี สอดส่อง

ในประเด็นนี้ เห็นว่า ศาลตีความรัฐธรรมนูญในลักษณะจำกัดขอบเขตอำนาจที่ใช้ เพื่อไม่สร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองโดยไม่จำเป็น ซึ่งที่ผ่านมา ไม่ค่อยเห็น

มาตรา 27 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ศาลใช้ระบบไต่สวนในการค้นหาความจริง

มีหลายท่าน “ได้ยินมากับหู” ว่าผู้อยู่เบื้องหลังมีปฏิบัติการอย่างไร แม้จะทำในที่เงียบ แต่เสียงกลับดังอื้ออึงได้ยินไปทั่ว

เรามีหน้าที่และสำนึกในความถูกต้อง ที่จะช่วยกันขยับเส้นที่ล้ำจากมาตรฐานการเมืองที่ดี ให้กลับมาตรง

มิเช่นนั้น ความเสียหายจะอยู่กับประเทศไทยยาวนานและยากเกินกว่าจะเยียวยาได้