‘นิพิฏฐ์’ มั่นใจ ‘มีชัย’ รับข้อเสนอใช้ รธน.2 ขยักของครม. แน่!

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานว่า คิดว่านายมีชัยจะรับข้อเสนอในประเด็นระยะเปลี่ยนผ่านในการใช้รัฐธรรมนูญ 2 ขยัก และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่นายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณ ว่าต้องใช้เป็นเครื่องมือ ที่ผ่านมาเมื่อปี 2519 ในสมัยรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เคยเสนอใช้รัฐธรรมนูญเป็น 3 ช่วงที่สุดถูกปฏิวัติ โดยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ครั้งนี้จะมีแรงต่อต้าน หาก กรธ.เพิ่มใน 2 ประเด็นนี้ แต่ยังมองในแง่ดีว่านายมีชัยจะแก้ไขผ่อนปรนให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น จากที่เขียนล็อกไว้ เพราะถ้าหาก กรธ.ยังคุมเข้มทั้งเรื่องแก้รัฐธรรมนูญให้ยากมาก และเพิ่มเครื่องมือตามข้อเสนอ ครม.แรงต่อต้านจะทวีสูงขึ้น จะเดินหน้าสู่เดดล็อกเข้าทางตันแน่ และอีกเรื่องที่จะเป็นปัญหาคือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่หลายฝ่ายมองตรงกันว่า จะเป็นปัญหาหาในอนาคต

“เพราะจากเดิมยุทธศาสตร์ชาติจะมีอยู่แล้วในทุกกระทรวงที่จะเดินคู่ไปกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของสภาพัฒน์ แต่ครั้งนี้มีการนำมาบัญญัติเป็นกฎหมายทั้งในรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก ซึ่งหาก กรธ. ระบุให้ละเอียดมากจะกระทบต่อรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้ง จะทำอะไรไม่ได้เลยในนโยบายที่ใช้หาเสียงถ้าขัดกับยุทธศาสตร์ชาติที่เขาวางไว้ 20 ปี ซึ่งฟันธงได้ว่า จะลดบทบาทของฝ่ายการเมืองลง และชูบทบาทเป็นรัฐข้าราชการแทน เพราะคนร่างยุทธศาสตร์นี้ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการประจำทั้งสิ้น จึงขัดกับหลักการประชาธิปไตย เพราะนักการเมืองมาจากการเลือกตั้ง แต่เวลานี้ฝ่ายการเมืองพูดอะไรไปก็ผิด โดยสังคมคิดแค่เพียงว่า ถ้านักการเมืองไม่ชอบรัฐธรรมนูญนี้ ก็ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีและปราบโกง โดยไม่ดูบริบท ข้อเท็จจริงและสาเหตุว่าเกิดจากอะไร” นายนิพิฏฐ์กล่าว

นายนิพิฏฐ์ กล่าวต่อว่า น่าแปลกที่ประเทศไทยใช้ตรรกะสวนทางกับหลักรัฐศาสตร์ และปรัชญาการเมืองที่มี เพราะประเทศใดผลิตกฎหมายมาก แสดงถึงความอ่อนแอของรัฐบาลหรือรัฐชาตินั้น แต่ประเทศไทยเรากลับใช้ตรรกะไปแปลความหมายว่า ยิ่งมีกฎหมายมาก ยิ่งแสดงถึงความเข้มแข็ง โดยไม่ดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่า ต้นเหตุเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานนั้นๆ เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นชาติที่มีกฎหมายกำหนดบทลงโทษสูงในระดับต้นๆ ของโลก แต่การบังคับใช้บทลงโทษตามกฎหมาย น้อยมาก สะท้อนผ่านคดีความต่างๆ เช่น โทษประหารชีวิต หรือโทษการยุบพรรคการเมือง หรือตัดสิทธิ์ทางการเมืองที่ปัจจุบันมีใช้ไม่ถึง 10 ประเทศ แต่ยังไม่สามารถป้องกันการโกงในไทยได้ดังนั้น เมื่อเราตั้งโจทย์ผิด คำตอบที่ได้มันก็ผิด เมื่อใช้อำนาจเข้าควบคุม เปรียบเป็นยาแรง มันก็ต้องใช้คุมไปตลอด ที่สุดโรคมันก็จะดื้อยา ขอให้คิดถึงจุดนี้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image