‘มีชัย-แม่น้ำ5สาย’พร้อมแจงประเด็นร้อนร่างรธน.ก่อนประชามติ ‘พีระศักดิ์’หนุนกลไกเปลี่ยนผ่านปท.

‘มีชัย-แม่น้ำ5สาย’พร้อมแจงประเด็นร้อนร่าง รธน.ก่อนประชามติ ‘พีระศักดิ์’หนุนกลไกเปลี่ยนผ่าน ปท. ย้ำ ปชต.ต้องเป็นแบบไทย

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่จังหวัดกระบี่ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 ให้สัมภาษณ์ระหว่างลงพื้นที่ตามโครงการ สนช.พบประชาชน ถึงการปรับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ขณะนี้ กรธ.กำลังอยู่ในช่วงของการปรับแก้ไขเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้แล้วเสร็จในวันที่ 29 มีนาคม นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะ กรธ.ได้หารือเบื้องต้นว่าจะลงพื้นที่ร่วมกับ สนช.เพื่อพบประชาชนชี้แจงรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญว่าทำไม กรธ.จึงร่างรัฐธรรมนูญออกมาแบบนี้ โดยเฉพาะประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ เช่น ในเรื่องบทเฉพาะกาล ที่มาของ ส.ส.และ ส.ว. บัตรเลือกตั้ง ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างต้องรอให้มีการแก้ไขให้เสร็จสิ้นก่อน เพื่อความรอบคอบและรัดกุม เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะมีการส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนศึกษา ซึ่งเป็นไปตามโรดแมปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้พูดคุยกับนานาชาติและประชาชนไว้ โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้ย้ำเสมอว่า จะมีการเลือกตั้งในปลายปี 60 แต่ก่อนจะถึงช่วงนั้นต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เรื่องการทำประชามติ สนช.มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น คาดว่าจะมีการเสนอในการแก้ไขเร็วๆ นี้ จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนการลงประชามติ โดยในระหว่างนี้แม่น้ำ 5 สายจะต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ

นายพีระศักดิ์กล่าวว่า ในเรื่องการปรับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญที่หลายฝ่ายเสนอต่อ กรธ.นั้นต้องรอ กรธ.พิจารณา อย่าเพิ่งไปวิพากษ์วิจารณ์ไปมากกว่านี้ เพราะ กรธ.บอกว่าหลักการในการยกร่างรัฐธรรมนูญจะยึดถือตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 และจะต้องเป็นสากล อีกทั้งตัวของนายมีชัยเองก็ยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญเป็นของคนทั้งประเทศ และต้องให้ใช้ได้ในระยะยาว เพราะที่ผ่านมาประเทศเกิดความขัดแย้งมาตลอด ดังนั้นหลักการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงร่างเพื่อป้องกันบางสิ่งบางอย่างไม่ให้หวนกลับมาก่อนเหตุการณ์วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อย่างไรก็ตามหากมีสิ่งใดที่อาจจะต้องเขียนเพื่อใช้เฉพาะช่วงเวลาหนึ่งในการแก้ไขปัญหา ก็คาดว่าจะมีการเขียนอยู่ในบทเฉพาะกาล ตนเห็นด้วยกับการที่จะมีกลไกในระยะเปลี่ยนผ่านในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ บางเรื่องคงต้องใช้ระยะเวลาก่อนที่ทุกอย่างจะเข้าสู่ระบบปกติ ซึ่งยังไม่รู้ว่าบทเฉพาะกาลจะเขียนมาอย่างไร แต่ในส่วนของที่มาของ ส.ว.ยังเห็นว่าอย่างน้อยควรจะยึดโยงกับประชาชน อาจจะมีการสรรหาและเลือกตั้งผสมกัน ซึ่ง สนช.เสนอสรรหา 200 คนทั้งหมด

เมื่อถามว่าเพจสหประชาชาติในประเทศไทยได้โพสต์ข้อความขอให้มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด นายพีระศักดิ์กล่าวว่า เลือกตั้งจะเกิดขึ้นไม่ได้หากร่างรัฐธรรมนูญยังไม่เสร็จ เพราะการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อกติกาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตนอยากจะถามกลับว่าประชาธิปไตยที่สมบูรณ์คือประชาธิปไตยแบบไหน เพราะแต่ละประเทศรัฐธรรมนูญก็ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา หรือจีนก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นคำว่าประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ก็ต้องสอดคล้องกับบริบทของประชาชนในประเทศนั้นๆ

Advertisement

เมื่อถามต่อว่า มองอย่างไรกับที่มีการระบุว่าจะมีการใช้รัฐธรรมนูญสองขยักจะเป็นการสืบทอดอำนาจของ คสช.หรือไม่ นายพีระศักดิ์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมีบทถาวร และบทเฉพาะกาล เหมือนเช่นกฎหมายก็จะมีบทยกเว้นให้ใช้ในช่วงนั้นช่วงนี้ การที่รัฐธรรมนูญเป็นสองขยักอาจเป็นเรื่องของบทเฉพาะกาล เช่นเรื่องของ ส.ว.ที่มีการเสนอความเห็นไป ให้ช่วงแรกให้มี ส.ว.สรรหา แต่สุดท้ายก็ต้องเข้าสู่บทถาวร ส่วนการสืบทอดอำนาจนั้นนายกฯก็ยืนยันแล้วว่าไม่สืบทอดอำนาจ และจะไม่เป็นนายกฯต่อ การเขียนบทเฉพาะกาลคงไม่เขียนให้บุคคลใด บุคคลหนึ่ง หรือคณะใดคณะหนึ่ง แต่เขียนเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทกับประเทศไทยในช่วงเปลี่ยนผ่าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image