คลี่ครอบครัวไทยไม่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดย:สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน – กมลวรรณ พลับจีน

เมื่อกล่าวถึงพื้นที่ของสังคมคุณภาพที่เล็กที่สุด สำคัญที่สุด ซึ่งเป็นพื้นที่แรกที่ทำหน้าที่หล่อหลอมกล่อมเกลา พัฒนาคุณภาพมนุษย์ทั้งทางด้านสมอง ด้านร่างกาย และด้านจิตใจ ตลอดจนคุณลักษณะอันดีงาม และยังเป็นพื้นที่ที่มนุษย์ใช้เวลามากที่สุด คงไม่ใช่พื้นที่อื่นใด นอกจากพื้นที่ที่เรียกว่า “ครอบครัว” จนกล่าวได้ว่าถ้าสถาบันครอบครัวเข้มแข็ง ก็จะทำให้สถาบันที่มีขนาดใหญ่ในระดับชุมชน และระดับประเทศเข้มแข็งตามไปด้วย ซึ่งนั่นคือคาดหวังที่สังคมต้องการให้เกิดขึ้น
หากมองย้อนไปในอดีตภาพของครอบครัวที่ทุกคนถูกปลูกฝังให้เห็นเป็นภาพเดียวกัน ก็คือ ครอบครัวต้องประกอบด้วย พ่อ แม่ พี่ น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย อยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตา มีความรัก ความสัมพันธ์อันดีต่อกัน มอบความอบอุ่นซึ่งกันและกัน ถึงจะเป็นครอบครัวเข้มแข็งที่สังคมต้องการ นำไปสู่สังคมที่สงบสุข เมื่อมองกลับมาในยุคปัจจุบัน จึงเกิดคำถามชวนคิดที่ว่าภาพของครอบครัวไทยยังคงเหมือนกับในอดีตหรือไม่

ปัจจุบันสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ด้วยความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี วิทยาการใหม่ๆ ทำให้วิถีชีวิตของคนในสังคมมีความแตกต่างจากอดีตเป็นอย่างมาก โดยผลของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับครอบครัว ดังนี้

ประการแรก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร กล่าวคือ ประชากรวัยเด็ก (อายุ 0-14 ปี)

ประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15-59 ปี) มีจำนวนและสัดส่วนลดลง และประชากรสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (สำนักคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2555) ทำให้รูปแบบของการพึ่งพิงกันระหว่างกลุ่มประชากรในช่วงอายุต่างๆ เปลี่ยนไป สมาชิกวัยแรงงานต้องแบกรับ

Advertisement

การเลี้ยงดูเด็กและผู้สุงอายุมากขึ้น เนื่องจากจำนวนสมาชิกวัยแรงงานต่อครอบครัวลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างและรูปแบบของครอบครัว และต้องเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ประการที่ 2 การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และการเปิดประเทศสู่ Thailand 4.0 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อโครงสร้างอาชีพ พื้นที่ทำการเกษตรจะน้อยลง เนื่องจากการนำเครื่องจักรกลมาใช้เป็นเครื่องทุ่นแรงมากยิ่งขึ้น แนวโน้มการเคลื่อนย้ายของแรงงานจากชนบทเข้าเขตเมืองเพิ่มมากขึ้น เพราะรายได้สูง ทำให้สมาชิกครอบครัวต้นทางโดยเฉพาะเด็กและคนชราถูกทอดทิ้งให้อยู่กันตามลำพัง

ประการที่ 3 การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม การดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมที่มีวิถีชีวิตการอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน เป็นสังคมอุตสาหกรรมหรือสังคมเมืองดำเนินชีวิตแบบตัวใครตัวมัน สังคมวัตถุนิยม บริโภคนิยม ใช้ชีวิตตามวิถีสุขนิยม

Advertisement

คือการมุ่งเน้นการบริโภคเพื่อความสุขของตนเท่านั้น เกิดค่านิยมความเป็นปัจเจกชนอยู่ตามลำพัง ดำเนินชีวิตแบบโดดเดี่ยว เชื่อมั่นในตัวเองสูง คนเห็นแก่ตัวมากขึ้น อีกทั้งความเสื่อมถอยด้านศีลธรรมจริยธรรม เกิดสังคมแห่งการใช้ความรุนแรงทั้งในระดับ

ครอบครัวและระดับสังคม ส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว สมาชิกในครอบครัวขาดการปฏิสัมพันธ์กัน ใช้เวลาร่วมกันน้อยลง

ประการสุดท้าย อิทธิพลของสื่อ เทคโนโลยี และสารสนเทศ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบต่อสื่อมากที่สุด คือ กลุ่มเด็กและเยาวชน เนื่องจากยังไม่มีประสบการณ์หรือวิจารณญาณเพียงพอ ทำให้ตกเป็นเหยื่อของสื่อโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ก้าวร้าว ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบข้าง หมกหมุ่นอยู่กับการดูโทรทัศน์ เล่นเกม และโลกออนไลน์ ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวลดลง เกิดช่องว่างในครอบครัวมากขึ้น ทั้งที่เป็นช่องว่างระหว่างวัยและช่องว่างที่เกิดจากความสามารถในการใช้และการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่

ดังนั้นครอบครัวจึงต้องสร้างภูมิต้านทานที่เรียกว่า “การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (Media Information and Digital Literacy: MILD)” ให้แก่สมาชิก

หมายถึงการเพิ่มความสามารถให้แก่สมาชิกของครอบครัวในการเข้าถึงสื่อ แหล่งสารสนเทศและดิจิทัล เทคโนโลยีที่หลากหลาย สามารถวิเคราะห์ประเมินคุณภาพ คุณค่า ความน่าเชื่อถือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ กลั่นกรอง เลือกสรร ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและ

ครอบครัว และเรียกร้องให้มีการแก้ไขเมื่อได้รับผลกระทบโดยตรง มีความรับผิดชอบ เคารพ กฎระเบียบในการใช้ข้อมูลข่าวสาร รู้และตัดสินใจได้ในเรื่องความปลอดภัย การใช้เวลา รวมไปถึงสิทธิส่วนบุคคล (สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน และศูนย์ประสานงานเครือข่ายเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย, 2559)

จากสถานการณ์และปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รวมไปถึงอิทธิพลของสื่อ เทคโนโลยี และสารสนเทศ สังคม ล้วนส่งผลกระทบต่อครอบครัวทั้งสิ้น จึงทำให้เกิดรูปแบบของครอบครัวไทยที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต 7 รูปแบบ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2556; กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nations Population Fund: UNFPA), 2558) ดังนี้

1.ครอบครัวสามรุ่น เป็นรูปแบบของครอบครัวที่มีสมาชิกในครอบครัว ประกอบด้วย พ่อ แม่ และปู่ย่าตายาย อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน คิดเป็นร้อยละ 33.6 ของครอบครัวไทย

2.ครอบครัว พ่อ แม่ ลูก เป็นรูปแบบของครอบครัวที่มีสมาชิกในครอบครัว ประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูก อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน คิดเป็นร้อยละ 26.6 ของครอบครัวไทย

3.ครอบครัวคู่สามี-ภรรยา ไม่มีลูก เป็นรูปแบบของครอบครัวที่มีสมาชิกในครอบครัว ประกอบด้วย สามีและภรรยา อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน คิดเป็นร้อยละ 16.2 ของครอบครัวไทย

4.ครอบครัวอยู่คนเดียว เป็นรูปแบบของครอบครัวที่อาศัยอยู่คนเดียว ในหอพัก บ้านเช่า หรือคอนโด คิดเป็นร้อยละ 13.9 ของครอบครัวไทย

5.ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว เป็นรูปแบบของครอบครัวที่ลูกอาศัยอยู่บ้านหลังเดียวกับพ่อ หรืออยู่กับแม่ คนใดคนหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 7.1 ของครอบครัวไทย

6.ครอบครัวข้ามรุ่น แหว่งกลาง เป็นรูปแบบของครอบครัวที่ลูกอาศัยอยู่บ้านหลังเดียวกับปู่ ย่า ตา หรือ ยาย ไม่มีพ่อ แม่อยู่ด้วย คิดเป็น
ร้อยละ 2.1 ของครอบครัวไทย

7.ครอบครัวที่ไม่ใช่เครือญาติ เป็นรูปแบบของครอบครัวที่อาศัยอยู่บ้านหลังเดียวกันกับคนอื่นที่ไม่ใช่ญาติ คิดเป็นร้อยละ 0.6 ของครอบครัวไทย
คำถามชวนคิดอีกประการหนึ่ง คือ ปัจจุบันครอบครัวไทยเข้มแข็งแล้วหรือยัง เข้มแข็งพอที่จะนำพาประเทศไปสู่ความสงบสุขหรือไม่ จากสถานการณ์ของครอบครัวไทยในปัจจุบัน พบว่าครอบครัวไทยยังเป็น “ครอบครัวเปราะบาง” เป็นอย่างมาก พิจารณาจากปัญหาครอบครัวที่เกิดขึ้นมากมาย และแพร่หลายไปในครอบครัวทุกรูปแบบ อาทิ

1) ปัญหาการหย่าร้างที่มีสถิติเพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย ปี 2557 มีรายงานข้อมูลการจดทะเบียนหย่าสูงกว่าปี 2547 หรือ 10 ปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 23 สาเหตุการหย่าร้างมาจากความเครียดจากการทำงาน และค่านิยมการพึ่งลำแข้งตนเอง จึงทำให้เกิดความอดทนในการใช้ชีวิตคู่ต่ำ

2) ผลการสำรวจความเข้มแข็งของครอบครัว ตามมาตรฐานครอบครัวเข้มแข็ง ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ปี พ.ศ.2558 พบว่าค่าความเข้มแข็งของครอบครัวในมิติด้านสัมพันธภาพ และด้านบทบาทหน้าที่ของครอบครัว ยังต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (เกณฑ์มาตรฐานเท่ากับร้อยละ 75)

3) ดัชนีชี้วัดความอบอุ่นของครอบครัว พบว่าดัชนีบทบาทหน้าที่ของครอบครัวอยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุง และดัชนีสัมพันธภาพในครอบครัวอยู่ในระดับที่ต้องเร่งแก้ไข (สำนักคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2559)

4) ปัญหาความยากจนและหนี้สิน จากผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พบว่าในปี พ.ศ.2554 สัดส่วนของครอบครัวที่มีหนี้สินเท่ากับร้อยละ 55.8 ของครัวเรือนทั้งหมด ปัญหาดังกล่าวทำให้สมาชิกของครอบครัวต้องทำงานหนัก ส่งผลให้ครอบครัวขาดความอบอุ่น

5) ความรุนแรงในครอบครัว ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยผู้ที่ถูกกระทำมักเป็นเด็กและสตรี ซึ่งส่วนใหญ่การกระทำความรุนแรงมักกระทำโดยสามี และ

6) ปัญหาอบายมุข การพนัน บุหรี่ เหล้า สารเสพติด ในครอบครัว ล้วนส่งผลกระทบต่อความเข้มแข็งของครอบครัว หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นปัญหาที่เป็นจุดเริ่มต้น นำไปสู่ปัญหาครอบครัวอื่นๆ ตามมา

ถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานภาคประชาสังคมทั้งรัฐและเอกชนต้องหันมาสนใจที่จะดูแลสถาบันแรก ซึ่งเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดอย่างจริงจัง แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ที่ทำหน้าที่กำกับ ดูแลสถาบันครอบครัว พยายามที่จะกำหนดนโยบาย ตัวชี้วัดมากมายที่ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาครอบครัว แต่ถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ และไม่เห็นผลเชิงประจักษ์อย่างชัดเจน

ทั้งนี้อาจเกิดจากการวางนโยบายและยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาครอบครัวที่ยังไม่สอดคล้อง ไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดอย่างแท้จริง ตลอดจนระบบการประเมิน ที่มีลักษะตัวชี้วัดเป็นเชิงปริมาณเท่านั้น ทั้งๆ ที่สถาบันครอบครัวมีลักษณะที่เป็น “พลวัต (dynamic)” มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะเกิดจากความสัมพันธ์ในมิติหลากหลาย คุณลักษณะที่แตกต่างของสมาชิก และมีความลึกซึ้ง ทำให้การกำหนดนโยบายไม่สามารถมองมิติเดียวอย่างกว้างๆ ได้
 

การสร้างตัวชี้วัดเชิงปริมาณ อาจไม่ตอบโจทย์หรือเป็นภาพแทนภาพของครอบครัวไทยได้ทั้งหมด บางตัวขี้วัดอาจต้องมีลักษณะเป็นเชิงคุณภาพเพื่อให้เกิดภาพแทนที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ตลอดจนผู้ที่ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายด้านครอบครัว ต้องพิจารณาว่าได้ฟังเสียงที่เป็นตัวแทนของสมาชิกในครอบครัวเพียงพอหรือไม่

นอกจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม ที่ทำหน้าที่ในการดูแล และพัฒนาคุณภาพของครอบครัวไทย ทุกคนในฐานะที่เป็นสมาชิกของครอบครัว ก็เป็นคนสำคัญที่จะช่วยสร้างครอบครัวเข้มแข็งได้ เพียงแค่เริ่มที่จะปรับ “Mind Set” เปลี่ยน “วิธีคิด” สร้างให้พื้นที่ที่เล็กที่สุดนี้ เป็นพื้นที่เปิดที่ยึดหลักการมีส่วนร่วม และเป็นพื้นที่ที่เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของสมาชิกในครอบครัวอย่างแท้จริง โดยให้สมาชิกของครอบครัวอยู่ร่วมกันโดยยึดหลักการมีส่วนร่วม เรียนรู้ และเข้าใจแตกต่างทั้งวัย และเพศที่หลากหลายอย่างแท้จริง ทำให้ครอบครัวเป็นพื้นที่เปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็น ความรู้สึกของสมาชิกทุกคนอย่างเท่าเทียม เคารพสิทธิในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ลดอคติ

นำไปสู่การสร้างความเข้าใจ การยอมรับข้อตกลงกำหนดข้อปฏิบัติร่วมกัน สมาชิกทุกคนในครอบครัวทราบบทบาทและปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยจิตสำนึกที่ดี คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสมาชิกของครอบครัว ตระหนักถึงความรับผิดรับชอบร่วมกัน รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเป็นสำหรับครอบครัวของตน ซึ่งอาจแตกต่างจากครอบครัวอื่นๆ ทั้งภูมิคุ้มกันด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รวมถึงสื่อเทคโนโลยี และสารสนเทศ สร้างระบบติดตาม เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ซึ่งไม่ใช่การก้าวก่าย คุกคามความเป็นส่วนตัวของสมาชิก แต่เป็นระบบที่ปรึกษา แม้สมาชิกก้าวพลาดก็ให้กำลังใจ ช่วยกันแก้ไขปัญหาร่วมกัน กล้าให้สมาชิกเผชิญสถานการณ์ที่เป็นปัญหา เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ทักษะชีวิต เพื่อฝึกให้สมาชิกใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างรู้เท่าทันต่อสถานการณ์ ทันต่อสังคม และการอยู่ร่วมร่วมกันในสังคมระดับชุมชน ระดับประเทศได้อย่างมีคุณค่า สร้างประโยชน์ สงบสุขต่อไป

ทุกครอบครัวสามารถสร้างนิยามครอบครัวของตนเองได้ มาร่วมกันสร้างพื้นที่เล็กให้เป็นพื้นที่ดีๆ เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของครอบครัวระดับชุมชน และในระดับประเทศต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image