พลิกร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ กลไกปฏิรูประยะเปลี่ยนผ่าน

หมายเหตุ – บันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. … ที่คณะกรรมาธิการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน (กมธ.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จัดทำเพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในขั้นตอนต่อไป

1. หลักการและเหตุผล

ในยุคโลกาภิวัตน์ การพัฒนาประเทศสู่ความเป็นเลิศ มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน สามารถแข่งขันได้ระดับสากล จำเป็นต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับชาติที่เป็นระบบ มีการใช้ข้อมูลความรู้ที่เกิดจากการศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ มีการกำหนดวัตถุประสงค์หลักของการพัฒนาที่ชัดเจน ทันสมัย และเหมาะสม เป็นยุทธศาสตร์ชาติที่มีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันตามการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก และที่สำคัญ การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติต้องสะท้อนถึงความต้องการของประเทศชาติและประชาชน เพื่อนำการพัฒนาประเทศที่ดำรงความเป็นธรรมและคำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชนอย่างยั่งยืน

ดังนั้น การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและการจัดตั้งกลไกเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินยุทธศาสตร์ชาติ จึงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ

2. สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

(1) กำหนดนิยามของคำว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ” ว่าเป็นแม่บทหลักที่เป็นกรอบชี้นำการกำหนดนโยบายและแผนต่างๆ สำหรับการพัฒนาประเทศ การบริหารราชการ การจัดสรรงบประมาณ และการจัดสรรทรัพยากร ตามร่างมาตรา 4 ระบุว่า ยุทธศาสตร์ชาติ หมายความว่า แม่บทหลักที่เป็นกรอบกำหนดนโยบายและแผนต่างๆ สำหรับการพัฒนาประเทศ กำหนดทิศทาง เป้าหมาย หรือแนวทางการพัฒนาประเทศ การบริหารราชการแผ่นดิน การจัดสรรงบประมาณ การจัดสรรทรัพยากร และเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาของภาคเอกชนและภาคประชาชน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน รวมทั้งมีอธิปไตยและเข้มแข็งในประชาคมโลก อย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญครอบคลุมด้านความมั่นคงทางทหาร การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เศรษฐกิจ การเกษตร การอุตสาหกรรม การบริการ การเงิน การคลัง และงบประมาณ พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การผังเมือง สาธารณสุข การคมนาคมและเทคโนโลยีการสื่อสาร สังคม ศิลปะ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม

Advertisement

(2) กำหนดสาระสำคัญที่ต้องกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ (ร่างมาตรา 6)

(3) กำหนดให้คณะกรรมการประชุมร่วมกันเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอรัฐสภา (ร่างมาตรา 7)

(4) ยุทธศาสตร์ชาติส่วนใดเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางทหารหรืออธิปไตยหรือประโยชน์สำคัญของชาติ คณะกรรมการยุทธศาสตร์จะเสนอให้ไม่เปิดเผย ร่างมาตรา 8 วรรคสี่ ระบุว่า ในกรณียุทธศาสตร์ชาติส่วนใดเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางทหารหรืออธิปไตยหรือผลประโยชน์สำคัญแห่งชาติที่คณะกรรมการเห็นว่าไม่พึงเปิดเผย ให้ประธานรัฐสภามีอำนาจไม่ส่งยุทธศาสตร์ชาติส่วนนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษา และสั่งให้สำนักงานไม่ดำเนินการเผยแพร่ ทั้งนี้ ให้ยุทธศาสตร์ชาติส่วนนั้นมีผลใช้บังคับตามความในวรรคสาม

Advertisement

(5) ยุทธศาสตร์ชาติมีผลบังคับใช้ยี่สิบปี และอาจทบทวนทุกห้าปี หรือเมื่อมีสถานการณ์กระทบต่อวัตถุประสงค์หลักอย่างมีนัยสำคัญ ร่างมาตรา 9 ระบุว่า ยุทธศาสตร์ชาติให้มีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลายี่สิบปี และอาจพิจารณาทบทวนทุกห้าปีหรือเมื่อมีสถานการณ์กระทบต่อวัตถุประสงค์หลักตามยุทธศาสตร์อย่างเป็นนัยสำคัญ

(6) กำหนดให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรี รวมทั้ง

องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐต้องดำเนินนโยบายหรือแผนหรือแผนงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ร่างมาตรา 10 ระบุว่า การจัดทำและการดำเนินนโยบายหรือแผน หรือแผนงานของรัฐสภา คณะรัฐมนตรีรวมทั้งองค์กรและหน่วยงานของรัฐต้องอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติตามพระราชบัญญัตินี้

ยุทธศาสตร์ชาติมีผลผูกพันรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีทุกสมัย แม้จะมิใช่รัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีที่ได้ให้ความเห็นชอบหรือถือว่าได้ให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์ชาติตามมาตรา 8 ก็ตาม

ยุทธศาสตร์ชาติไม่ใช้บังคับกับแผน หรือแผนงาน หรือโครงการ และกิจการอื่นที่เกี่ยวข้องตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ในองค์กรหรือหน่วยงานตามวรรคหนึ่งจัดทำนโยบายหรือแผนหรือแผนงานขึ้นก่อนวันที่ยุทธศาสตร์ชาติมีผลบังคับใช้ หากนโยบายหรือแผนหรือแผนงานขององค์กรหรือหน่วยงานนั้นขัดหรือแย้งกับยุทธศาสตร์ชาติ ให้ดำเนินการทบทวนหรือแก้ไขเพิ่มเติมนโยบายแผนหรือแผนงานของตนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ยุทธศาสตร์ชาติมีผลใช้บังคับ เว้นแต่เป็นนโยบายหรือแผนหรือแผนงานที่หากมีการทบทวนหรือแก้ไขเพิ่มเติมภายในระยะเวลาดังกล่าว จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ประเทศชาติหรือประชาชน ให้องค์กรหรือหน่วยงานนั้นเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา ในกรณียุทธศาสตร์ชาติยังไม่มีผลบังคับให้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

(7) กำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ทำหน้าที่จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เสนอต่อรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ และต้องมีผลผูกพันกับรัฐสภา คณะรัฐมนตรี รวมทั้งองค์กรและหน่วยงานของรัฐ (ร่างมาตรา 11)

(8) ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดเป้าหมายการพัฒนาด้านต่างๆ ตัวชี้วัด ผลสัมฤทธิ์และระยะเวลาดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ (ร่างมาตรา 13 (2))

(9) ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติกำหนดแนวทางการบูรณาการ การจัดลำดับความสำคัญ การใช้งบประมาณ และทรัพยากรของประเทศขององค์กรหรือหน่วยงานของรัฐเพื่อสนับสนุนผลสัมฤทธิ์ของเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติแต่ละห้วงเวลา (ร่างมาตรา 13 (2) และ 3))

(10) คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีอำนาจตรวจสอบการไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติของรัฐสภาคณะรัฐมนตรี องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ และเปิดเผยผลต่อสาธารณะ (ร่างมาตรา 13 (9))

(11) กรณีไม่ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์หากเป็นฝ่ายการเมืองทำให้เสียหายร้ายแรง แต่ไม่ปรากฏว่าทุจริต ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเสนอวุฒิสภาเพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ หากเป็นข้าราชการต้องมีบทกำหนดโทษทางวินัย หากดำเนินการส่อไปในทางทุจริตหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ให้ส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตามกฎหมาย (ร่างมาตรา 37)

(12) กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ชาติ ทำหน้าที่กำกับดูแลและผลักดันให้มีการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ รวบรวมข้อมูลความเห็นและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาทิศทางยุทธศาสตร์ชาติให้สะท้อนความต้องการของประเทศและประชาชน (ร่างมาตรา 39 และร่างมาตรา 41)

(13) กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น โดยมีฐานะเป็นนิติบุคคล เพื่อให้มีหน้าที่รับผิดชอบกิจการทั่วไปเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ

(ร่างมาตรา 44 และร่างมาตรา 45)

(14) กำหนดบทเฉพาะกาล ให้ในวาระเริ่มแรกการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติมีคณะกรรมการจำนวนยี่สิบห้าคน ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศโดยตำแหน่ง และบุคคลซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติดำเนินการสรรหาและคัดเลือกให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนยี่สิบสองคน เป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีหน้าที่จัดทำยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกเพื่อเสนอต่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบและใช้บังคับ (ร่างมาตรา 55)

(15) กำหนดให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติภายในเก้าสิบวันนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้ (ร่างมาตรา 57)

(16) กำหนดให้ระหว่างที่สำนักงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติยังไม่จัดตั้ง ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และส่วนราชการอื่นตามมติคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ชาติ และสำนักงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไปพลางก่อน (ร่างมาตรา 58)

(17) กำหนดให้นำข้อมูลวาระปฏิรูป

และวาระพัฒนาของสภาปฏิรูปแห่งชาติและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ และข้อมูลอื่นๆ ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อผลประโยชน์ของชาติใช้ประกอบการทำยุทธศาสตร์ชาติ (ร่างมาตรา 59)

(18) กำหนดให้คณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีสั่งการให้ใช้งบประมาณ ทรัพย์สิน สถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ช่วยปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 60 และร่างมาตรา 61)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image