ภาคประชาสังคม-นักวิชาการรุมสับร่างรธน.’มีชัย’ ฉบับรัฐเป็นใหญ่-ไร้เสรีภาพ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เว็บไซต์ประชามติ จัดเสวนา “รัฐธรรมนูญใหม่เอายังไงดีจ๊ะ?” วิทยากรโดย น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล FTA Watch, เคท ครั้งพิบูลย์ นักกิจกรรมทางสังคม, นายโคทม อารียา สถาบันสิทธิมนุษยชนศึกษา ม.มหิดล, น.ส.จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์, น.ส.บุญยืน ศิริธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภา, นายปกรณ์ อารีกุล นักกิจกรรม, น.ส.ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, นายยุทธพร อิสรชัย คณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช, นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ, นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ดำเนินรายการโดย น.ส.ณาตยา แวววีรคุปต์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เดิมงานเสวนามีกำหนดการจัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แต่เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้แจ้งทางหอศิลป์ฯว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมทางการเมืองและไม่ได้ขออนุญาตก่อน ผู้จัดงานจึงย้ายมาจัดกิจกรรมที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เนื่องจากไทยพีบีเอสมีกำหนดการบันทึกเทปงานเสวนาเพื่อออกอากาศผ่านทางรายการเวทีสาธารณะอยู่แล้ว

นอกจากนี้เครือข่ายเว็บไซต์ประชามติยังมีกำหนดแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กรณีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้ากดดันไม่ให้มีการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ และแถลงการณ์ถึงจุดยืนของเครือข่ายเว็บไซต์ประชามติ ต่อกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญภายใต้บรรยากาศที่เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นที่ถูกปิดกั้นที่ ห้องบรรยายโครงการปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

น.ส.บุญยืน ศิริธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า อ่านรัฐธรรมนูญแล้วตกใจมากว่าเป็นไปได้ขนาดนี้ สิทธิผู้บริโภคเคยอยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพ แต่ฉบับปัจจุบันเขียนเหมือนไม่เขียน นอกจากไม่อยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพ แต่ย้ายไปอยู่หมวดหน้าที่ของรัฐ เขียนว่ารัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกการคุ้มครองผู้บริโภค ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการคุ้มครองผู้บริโภค เหมือนดูดี สามารถไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้ถ้าไม่ได้รับการคุ้มครองผู้บริโภค แต่เขียนเหมือนไม่เขียน เพราะเราไม่สามารถผลักดันให้มีการปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภค และมีการกำหนดหน้าที่รัฐไว้บางประการ สงสัยว่าแล้วหน่วยงานของรัฐไม่ต้องทำตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นใช่หรือไม่

Advertisement

น.ส.จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ กล่าวว่า ไม่แปลกใจที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนแบบนี้ เพราะการสรรหาคนร่างนั้น คนใช้รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วม พอนำไปใช้ก็เป็นปัญหา ถ้าอยากเห็นรัฐธรรมนูญที่ดีต้องเน้นการมีส่วนร่วม เมื่อเป็นอย่างนี้ขั้นตอนถัดไปทำอย่างไรจะให้คนมีส่วนร่วมมากกว่านี้ ถ้าตั้งใจจริงจะทำให้รัฐธรรมนูญใช้ได้จริง

ด้านเคท ครั้งพิบูลย์ นักกิจกรรมทางสังคม กล่าวว่า สิ่งที่ขาดหายในรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือเรื่องสิทธิเสรีภาพ และกลุ่มคนชายขอบ นอกจากเรื่องความหลากหลายทางเพศแล้ว จะถูกทำให้มองไม่เห็น เรื่องคนชายขอบจึงอาจถูกทำในลำดับหลังสุด ต้องมองปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนี้ เสรีภาพต้องอยู่ในขอบเขตที่ไม่กระทบความมั่นคง ตรงข้ามกับการทำหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เราต้องทำเรื่องการส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์มากกว่าเรื่องความมั่นคงของรัฐหรือไม่

“สิ่งที่ร่างขึ้นมามองปัญหาของประชาชนแบบไม่เข้าใจ ร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นการหลอกตัวเองหรือเปล่าว่าจะแก้ปัญหาและเข้าถึงประชาชนได้ การเน้นรัฐเป็นหลักทำให้ประชาชนต้องตั้งหลักว่าสิ่งที่รัฐจัดให้ประชาชนอาจน้อยกว่าเดิม และคนเข้าถึงสิทธิได้ยากขึ้น”

Advertisement

นายปกรณ์ อารีกุล นักกิจกรรม กล่าวว่า ในฐานะพลเรือนที่เคยขึ้นศาลทหารเรามีความหวังในรัฐธรรมนูญฉบับนี้น้อยมาก กรธ.ไม่เชื่อมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนอีกต่อไป คล้ายเป็นการปกครองที่มีองค์กรต่างๆ มาซ้อนรัฐอีกที สุดท้ายแล้ว กรธ.อยากให้ประเทศนี้มีประชาธิปไตยแบบตัวแทนหรือไม่ เรื่องการศึกษาเดิมอยู่หมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เดิมการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างน้อย 12 ปี ฉบับนี้บอกว่าเด็กต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี สิทธิการศึกษาของประชาชนได้รับน้อยลง การศึกษาควรเป็นเรื่องที่ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม แต่ร่างรัฐธรรมนูญลดสิทธิตรงนี้ ตราบใดที่มี ม.44 การออกมาพูดคุยก่อนการลงประชามติจะเกิดไม่ได้

น.ส.ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กระบวนการการร่างรัฐธรรมนูญมีส่วนร่วมของประชาชนน้อยมาก ตามหลักการรัฐธรรมนูญมีเพื่อกำหนดกรอบความสัมพันธ์เชิงอำนาจของคนในสังคม เมื่อออกมามีรายละเอีดยซับซ้อนจะเปิดโอกาสให้มีการต่อรองทางการเมือง เมื่อถึงประเด็นที่ควรมีการพูดคุยกันมากแค่ไหน ไม่มีพื้นที่ให้ตีความได้ บทที่พูดถึงหน้าที่และแนวนโยบายของรัฐ ก็ทำให้รัฐมีขนาดใหญ่มาก บทบาทของประชาชนถูกถ่ายเทไปยังรัฐ เเละมีบางคำที่เขียนซ้ำๆ คือ ความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชนเพื่อป้องกันความแตกแยก

“เห็นว่าคำว่าศีลธรรมไม่ควรบรรจุในกฎกติกาของรัฐเพราะมีความหมายต่างกันในแต่ละคน เข้าใจว่ามีกระบวนการฟังความเห็นแต่ไม่รู้ว่าฟังความเห็นใคร ขณะนี้เราต้องมีพื้นที่แต่หากต้องไปขออนุญาตก่อนก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงความเห็น เป็นเหตุว่าทำไมเราไม่ไว้วางใจผู้ร่างรัฐธรรมนูญ หรือเกิดความไม่ไว้ว้างใจระหว่างประชาชนกับนักการเมือง เพราะเสียงผู้มีอำนาจดังกว่าเสียงประชาชนเสมอ”

“ความขัดแย้งช่วงสิบปีที่ผ่านมาเป็นความขัดแย้งทางการเมือง ต้องใช้การเมืองแก้ไข ให้ต่อรองผลประโยชน์กัน แต่คนที่เข้ามาแก้ปัญหาที่บอกว่ามีกฎที่จะทำให้ไม่มีการทะเลาะเกิดต่อไปในอนาคต ความเห็นต่างถูกปิดกั้น ปัญหาในอนาคตจะแก้ไม่ได้ถ้าไม่เคยถูกเรียนรู้ สิ่งที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ รัฐจะใหญ่ขึ้นและขยายตัวเรื่อยๆ นโยบายรัฐถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เราจะเดินไปในอนาคตที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image