กสม.วิพากษ์”อำนาจใหม่” ปมร้อนภายใน-ขนานฟ้อง”ยูเอ็น”

เตือนใจ ดีเทศน์

หมายเหตุนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แสดงความเห็นต่อกรณีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) กรณีเห็นว่าการกระทำใดเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้ กสม.บอกรัฐบาลให้รีบแก้ไข โดยทำข้อเสนอแนะจากเดิมทำรายงานต่อต่างประเทศเป็นหลัก ที่นายมีชัยเปรียบเทียบว่าเป็นการเอาเรื่องภายในไปฟ้องต่างชาติ

อันดับแรกต้องเข้าใจก่อนว่า การละเมิดสิทธิ การที่ประชาชนถูกละเมิดสิทธิที่ใดที่หนึ่ง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของโลกนั้นถือว่ามีความสัมพันธ์กัน อาจจะมีคนบางส่วนมองว่าสิทธิมนุษยชนเป็นกลุ่มของชาวต่างชาติ เป็นเรื่องของชาวตะวันตก แต่จริงๆ แล้ว โลกทั้งโลกนั้นเป็นพี่น้องกัน เราจะต้องมีการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เรียนรู้ว่าประเทศใดมีความสำเร็จในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และทำได้ดีโดยวิธีใด กลไกใด หรือประเทศใดยังคงมีการละเมิดสิทธิในประเทศของตนหรือประชาชนพลเมืองต่างชาติมาพำนักอาศัยในถิ่นที่อยู่ก็ควรจะต้องมีการเรียนรู้ด้วยว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร

อย่างไรก็ตาม จากที่ได้เคยประชุมระดับนานาชาติหลายครั้งพบว่า ขณะที่ยูเอ็นได้พยายามเสนอกติกาสากล หรือสัญญาต่างๆ กลับไม่มีการปฏิบัติตาม ส่วนตัวจึงอยากจะเห็นทุกประเทศในโลก รัฐบาลทุกประเทศต้องรวมพลังเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของมนุษย์ทุกคนบนโลก และปฏิบัติตามกติกาของโลกเหมือนกัน ไม่มีการละเว้นว่าประเทศนี้ปกครองแบบนี้ก็จะละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ จะควบคุมประชาชนของตนไม่ให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือการมีส่วนร่วมในการพัฒนา

ตามหลักการแล้ว จะมีสิทธิจะได้รับการยอมรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของมนุษย์แต่ละคน และสิทธิในการมีส่วนร่วมในยุทธศาสตร์ ในแผนการพัฒนา ในการลงทุน ทุกประเทศจะต้องเคารพในสองหลักนี้ คือการเคารพ การตระหนักถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน เป็นเรื่องที่หนึ่งโดยบุคคล และเรื่องที่สองคือสิทธิในการพัฒนา ปัจจุบันมีเรื่องที่น่ายินดีเมื่อสหประชาชาติได้มีการกำหนดว่าให้ตั้งปี 2015-2030 เป็นปีที่ทั้งโลกจะต้องเน้นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ขจัดความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาอย่างสมดุล ไม่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างล้างผลาญ แต่ต้องมีความสมดุลระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การพัฒนาทางธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาทางสังคมวัฒนธรรม

Advertisement

กสม.ถือเป็นคนกลางรับข้อมูลจากทั้งสองด้านทั้งผู้ถูกละเมิดสิทธิและผู้ถูกอ้างว่าละเมิดสิทธิ จากนั้นจะนำเสนอในเชิงข้อกฎหมายว่ากฎหมายนั้นครอบคลุมเรื่องนี้หรือไม่ ถ้ามีแล้วปฏิบัติไม่ได้เพราะด้วยเหตุอะไร หรือจะต้องมีนโยบายไปส่งเสริมให้การปฏิบัติตามกฎหมายนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อยากจะพัฒนาขับเคลื่อนให้เกิดกลไกความร่วมมือ จากประชาชนทุกหมู่เหล่า ทั้งจากภาคธุรกิจ นักวิชาการ จากภาคอุตสาหกรรม และสื่อมวลชนเป็นพหุภาคีทุกคนจะต้องส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางธรรมชาติที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน

ส่วนประเด็นที่มีการเพิ่มอำนาจของ กสม. ให้สามารถแจ้งต่อรัฐบาลได้โดยตรงนั้น ความจริงแต่เดิมก็มีการระบุอำนาจของ กสม.ว่าสามารถรายงานข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลได้แต่จะเป็นลักษณะของรายงานประจำปี เคยปฏิบัติหน้าที่สมาชิกวุฒิสภาอยู่ มีประสบการณ์ว่า กสม.จะมารายงานผลการปฏิบัติงาน หรือรายงานสถานการณ์ประจำปีเรื่องของสิทธิมนุษยชนในประเทศ แต่ส่วนตัวมองว่าวิธีนี้ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าไร เพราะวุฒิสภาเองหรือสภาผู้แทนราษฎรเองต้องรับฟังเรื่องรายงานต่างๆ มากมาย ทั้งจากกรรมาธิการสามัญ กรรมาธิการวิสามัญ

Advertisement

ดังนั้น หากเพิ่มให้แจ้งได้โดยตรงในทันที มองว่าเป็นสิ่งที่ดีเพราะ กสม.กับรัฐบาลควรจะต้องสื่อสารกันโดยตรงในประเด็นละเมิดสิทธิของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นโดยรัฐ ธุรกิจ หรือโดยบุคคล การปรับเปลี่ยนใครครั้งนี้ จึงเป็นการปรับเปลี่ยนที่จะส่งผลดีเป็นอย่างมาก เพราะ กสม.สามารถรายงานต่อรัฐบาลได้โดยตรงจะเป็นการเตือนรัฐบาลได้ทันทีทันใดว่าเกิดการละเมิดสิทธิขึ้นแล้ว รัฐบาลควรจะต้องรีบแก้ไขอย่างไร เพราะการรายงานถือว่าเป็นเครื่องมือของ กสม. ที่จะแสดงให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างเป็นรูปธรรม

ส่วนการนำเสนอประเด็นการนำเสนอปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศต่อสหประชาชาตินั้นจะนำเสนอในลักษณะคู่ขนานกันไปด้วย โดยเฉพาะในกรณีได้รับความสนใจจากสหประชาชาติ หากละเมิดสิทธิอย่างรุนแรงก็จะทำควบคู่กันไป แต่จะเน้นการแจ้งเตือนปัญหาต่อรัฐบาลในประเทศก่อนเป็นลำดับแรก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image