การจัดการศึกษารูปแบบทวิศึกษา

การจัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา) คือการจัดการศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ให้แก่ผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีความประสงค์จะเรียนในสายวิชาชีพ เมื่อผู้เรียนสำเร็จการศึกษาครบตามหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองวุฒิการศึกษา ทั้งในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพพร้อมกัน

การจัดการศึกษารูปแบบทวิศึกษา เป็นแนวคิดใหม่และเป็นการสร้างนวัตกรรมในการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ที่เป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้ผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) ในการศึกษาทางด้านวิชาชีพ เพื่อเพิ่มทักษะและความรู้ความสามารถต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการประกอบอาชีพ

รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการมีงานทำมากกว่าการมีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) เพียงอย่างเดียว เป็นความร่วมมือการจัดการศึกษาระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสถานประกอบการต่างๆ ในการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกัน การเทียบโอนหน่วยกิต รวมทั้งการฝึกงานในสถานประกอบการ

แนวคิดในการจัดการศึกษารูปแบบคู่ขนาน เริ่มต้นเมื่อปี 2553 ภายใต้โครงการ “ร้อยเอ็ดโมเดล” โดยหลังจากได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการกำหนดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2553

Advertisement

ปรากฏว่ามีสถานศึกษาขนาดเล็ก ซึ่งมีนักเรียนไม่เกิน 120 คนอยู่เป็นจำนวนมาก คณะผู้แทนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 27 (ร้อยเอ็ด) พร้อมด้วยผู้อำนวยการและครูโรงเรียนสุวรรณภูมิวิทยาลัย จึงเข้าหารือกับผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพเกษตรพิสัย จ.ร้อยเอ็ด เพื่อหาแนวทางเพิ่มจำนวนนักเรียนภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ โดยทำความร่วมมือในการจัดการศึกษาร่วมกัน

และเริ่มมีการจัดการศึกษารูปแบบทวิศึกษาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และกระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศเรื่องการจัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา) เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558

หลังจากมีโครงการนำร่องของการจัดการเรียนการสอนรูปแบบทวิศึกษา พบว่าจำนวนผู้เรียนสายสามัญที่สมัครเข้าร่วมโครงการเรียนในรูปแบบดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้คือ

Advertisement

-เมื่อเปรียบเทียบแผนการเรียนของหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ.2551 กับแผนการเรียนของหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พ.ศ.2556 จะพบว่าชื่อของวิชาบางส่วนจะคล้ายกัน เช่น ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ ฯลฯ แต่เมื่อศึกษาในรายละเอียดของสาระ (Contents) ของแต่ละวิชาจะพบความแตกต่างในรายละเอียดและวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้

ดังนั้น สถานศึกษาทั้งสองสายที่เข้าร่วมโครงการทวิศึกษา จึงต้องร่วมมือกันปรับปรุงสาระในแผนการเรียนและสาระในแผนการสอนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อรักษาคุณภาพการศึกษาให้ได้ตามมาตรฐาน

-การจัดการศึกษารูปแบบทวิศึกษา เป็นมิติใหม่ของการจัดการศึกษา เนื่องจากผู้เรียนส่วนใหญ่ต้องการเรียนอยู่ในพื้นที่ใกล้บ้าน เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในการให้การศึกษาแก่ผู้เรียน และผู้สำเร็จการศึกษามีโอกาสหางานทำได้มากขึ้นในภูมิลำเนาของตน

ในการนี้รัฐบาลควรมอบหมายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่สถานศึกษาตั้งอยู่ว่ามีศักยภาพที่จะสร้างงานสาขาวิชาใดบ้าง และจะทำให้เกิดการจ้างงานจำนวนเท่าใด
หลังจากนั้นจึงกำหนดแผนการผลิตกำลังคนให้ตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าว ที่สำคัญการจัดการศึกษารูปแบบทวิศึกษาควรสอดคล้องกับนโยบายการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ตามแผนปฏิรูปการอาชีวศึกษาของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา

-หลักการสำคัญในการจัดการศึกษารูปแบบทวิศึกษาคือ การส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้เรียนในสถานศึกษาสายสามัญที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือไม่มีสถานศึกษาอาชีวศึกษาในบริเวณใกล้เคียง ได้เข้าสู่ระบบการอาชีวศึกษาที่เป็นการปูพื้นฐานเพื่อการประกอบอาชีพในสาขาอาชีพต่างๆ

ดังนั้น การจัดการศึกษาทางด้านอาชีวศึกษาต้องคำนึงถึงคุณภาพและมาตรฐานการอาชีวศึกษาเป็นหลัก เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะและมีพื้นฐานทางวิชาชีพตามที่หน่วยงานของรัฐและสถานประกอบการของภาคเอกชนต้องการ

เพื่อให้การประเมินมาตรฐานวิชาชีพของผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระบบทวิศึกษาและการประกันคุณภาพหลักสูตรให้เป็นไปโดยถูกต้องตามข้อเท็จจริง ตามเงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้ในหนังสือแนวทางการจัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา)

คณะกรรมการภาครัฐร่วมเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.) และกระทรวงศึกษาธิการ จึงควรกำหนดนโยบายให้สถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการทวิศึกษา ระบุคำว่า “ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ทวิศึกษา) หรือ ปวช. (ทวิศึกษา)” ไว้ในประกาศนียบัตรวิชาชีพที่มอบให้กับผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรดังกล่าวข้างต้น

นอกจากนี้ ในการประเมินผลการศึกษาและมาตรฐานวิชาชีพ กระทรวงศึกษาธิการควรส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายให้มีผู้แทนจากภาคประชาชนและภาคประชาสังคมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการประเมิน นอกเหนือจากการประเมินโดยหน่วยงาน/สถานประกอบการ และองค์กรภายนอกด้วย

-สถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจัดการศึกษารูปแบบทวิศึกษา ควรนำผู้สำเร็จการศึกษาเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน หรือหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่ทดสอบ เพื่อวัดระดับทักษะความรู้ความสามารถและสมรรถนะในสาขาวิชาชีพ ให้เป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงแรงงาน หรือสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)

-รัฐบาลควรเร่งรัดให้กระทรวงศึกษาธิการออกระเบียบเกี่ยวกับการใช้เงินในโครงการทวิศึกษาให้ผู้บริหารสถานศึกษาทั้งสองสายปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
-รัฐบาลควรสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมให้แก่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในการส่งเสริมการจัดการศึกษารูปแบบทวิศึกษา เนื่องจากปัจจุบันภาระค่าใช้จ่ายบางส่วน เช่น ค่าใช้จ่ายในการจัดหายานพาหนะรับ-ส่งนักเรียนจากสถานศึกษาสายสามัญไปยังสถาบันอาชีวศึกษา หรือสถานศึกษาอาชีวศึกษา ยังเป็นภาระของผู้ปกครองนักเรียน รวมทั้งค่าตอบแทนครูอาชีวศึกษาที่มีภาระงานเพิ่มขึ้นในการสอนนักเรียนจากสถานศึกษาสายสามัญที่เข้าร่วมโครงการ

-รัฐบาลควรสนับสนุนให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาของภาคเอกชนได้มีโอกาสร่วมในการจัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา) กับสถานศึกษาในสายสามัญ โดยรัฐเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายส่วนเกินให้แก่สถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนแทนผู้ปกครองนักเรียน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของครูและบุคลากรทางการศึกษาของสถานศึกษาอาชีวศึกษาของภาครัฐที่เข้าร่วมจัดการศึกษารูปแบบทวิศึกษา
และเพื่อเป็นการเยียวยาผลกระทบต่อสถานศึกษาอาชีวศึกษาของภาคเอกชนที่มีจำนวนนักศึกษาลดน้อยลง

การขยายผลการจัดการศึกษารูปแบบทวิศึกษาให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ กระทรวงศึกษาธิการควรพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยอาจจัดให้มีโครงการนำร่องในแต่ละพื้นที่เพื่อประเมินผลโครงการ ปรับปรุงและพัฒนาโครงการ แล้วจึงค่อยขยายผล โดยต้องคำนึงถึงความพร้อมและความเหมาะสม ในการดำเนินการทั้งในส่วนของสถานที่ งบประมาณ ครู บุคลากรอาชีวศึกษา วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ รวมทั้งสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมด้วย

และตัวชี้วัดที่สำคัญที่สุดคือ สภาวะการมีงานทำของผู้ที่สำเร็จการศึกษา ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยกระดับมาตรฐานการศึกษา รวมถึงการผลิตและการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ

 

คณะอนุกรรมาธิการการอาชีวศึกษา
คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image