บทนำมติชน : แก้เกียร์ว่าง

รัฐบาลเตรียมนำระบบการวัดผลปฏิบัติงานของข้าราชการมาใช้กระตุ้นการทำงาน เป็นเกณฑ์การให้คุณให้โทษ นายกรัฐมนตรีสั่งการนำระบบการประเมินรูปแบบใหม่มาใช้โดยเร็วที่สุด เพื่อตรวจสอบข้าราชการตั้งแต่เดือนเมษายนนี้ และจะเห็นผลช่วงการแต่งตั้ง โยกย้ายวันที่ 1 ตุลาคม หน่วยงานร่วมดำเนินการ อาทิ สำนักงาน ก.พ., ก.พ.ร., สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การประเมินผลการทำงานตามระบบใหม่นี้จะครอบคลุมผู้นำขององค์กรรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ผู้บริหารท้องถิ่น ทูตไทย ในระดับซี 10-11 ในขณะที่ระดับต่ำกว่าซี 10-11 เป็นหน้าที่ของอธิบดี โดยประเมินตามหลักเกณฑ์ที่ส่วนกลางกำหนด

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การประเมินแบบใหม่นี้ยึดหลัก 3 ข้อ 1.ประเมินจากภาระหน้าที่ปกติ 2.ประเมินตามยุทธศาสตร์-ภารกิจพิเศษ เนื่องจากแต่ละคนมีภารกิจแตกต่างกัน เช่น การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง การบินระหว่างประเทศ ประมงผิดกฎหมาย 3.ประเมินจากพื้นที่ตามภารกิจพิเศษ เช่น การกำชับประชาชนเกี่ยวกับการปล่อยโคมลอยเทศกาลลอยกระทง เป้าหมายการประเมินผล มุ่งเน้นให้ข้าราชการกระฉับกระเฉง ว่องไว ไม่เข้าเกียร์ว่าง ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล และเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูประบบราชการ การที่รัฐบาลออกมาตรการขันน็อตข้าราชการนี้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าส่วนหนึ่งมาจากการทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนนโยบาย ผลงานไม่ปรากฏเท่าที่ควร

การมีระบบวัดผลประเมินการทำงานของข้าราชการ ผู้นำองค์กรรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ เป็นเรื่องดี การมีมาตรฐานกลาง วัดผลที่ชัดเจน ย่อมจะช่วยให้การประเมินผลการทำงานเป็นระบบมากขึ้น แทนที่ให้ต้นสังกัดดำเนินการเอง แต่เมื่อมีแบบประเมินแล้ว ทุกฝ่ายต้องนำมาใช้อย่างจริงจังและยึดเป็นพื้นฐานประกอบการพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย เนื่องจากที่ผ่านมาการแต่งตั้ง โยกย้ายไม่มีกฎเกณฑ์ชัดเจน อ้างเรื่องอาวุโสบ้าง ความเหมาะสมบ้าง การใช้หลักกว้างๆ เปิดช่องให้ฝ่ายนโยบายเลือกตัดสินใจตามใจชอบ หากมีระบบที่เป็นมาตรฐาน ได้รับการปฏิบัติจริงจัง น่าจะช่วยให้การทำงานของข้าราชการมีประสิทธิภาพ ลดระบบวิ่งเต้น เส้นสายได้ อย่างไรก็ตามรัฐบาลจำเป็นต้องศึกษาหาคำตอบเช่นกันว่า เหตุที่ข้าราชการเฉื่อยชายังมีเรื่องอื่นอีกหรือไม่ เพราะที่มีการแลกเปลี่ยนในหมู่ข้าราชการนั้น จำนวนไม่น้อยหวั่นเกรงได้รับผลกระทบจากการต่อสู้การเมืองอย่างรุนแรง การปฏิบัติตามนโยบายในเรื่องเดียวกันของข้าราชการ ยุคหนึ่งทำได้ แต่บางสมัยกลับถูกลงโทษ ดังนั้นนอกจากระบบประเมินที่มีมาตรฐาน บรรทัดฐานการปฏิบัติตามนโยบายก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีความชัดเจน เพื่อเป็นหลักประกันให้กับข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตมิให้ได้รับผลกระทบภายหลังจากเรื่องการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image