บทนำมติชน ‘อย่าซ้ำรอยเดิม’

เชื่อว่า ณ บัดนี้ ทุกฝ่ายคงตระหนักร่วมกันแล้วว่าความร้อนแล้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกำลังเป็นภัยคุกคาม เนื่องจากปีนี้น้ำในเขื่อนมีน้อยกว่าปกติ การระบายน้ำจากเหนือลงสู่ภาคกลางจึงต้องจำกัดจำเขี่ย ภาครัฐได้ประชาสัมพันธ์มาสักระยะแล้วว่า ให้งดการทำนาปรัง เพราะปริมาณน้ำที่น้อยจำเป็นต้องจัดสรรให้ใช้อุปโภคและบริโภคก่อน หลังจากนั้นต้องรอให้ฝนตกลงมาเติมน้ำในเขื่อน กระทั่งปริมาณได้จำนวนที่พอแบ่งปันจึงค่อยเปิดโอกาสให้ทำนาปรังได้เพิ่มเติมในโอกาสถัดไป ขณะเดียวกันภัยแล้งยังมีผลอื่นๆ อีก เช่น ทำให้ประปาชุมชนหยุดชะงัก หรือทำให้สัตว์ป่าออกจากป่ามาหาน้ำกินในชุมชน

เมื่อทรัพยากรมีไม่สมดุลกับความต้องการ ปัญหาความขัดแย้งอาจจะตามมาได้ตลอดเวลา อาทิ การห้ามมิให้ปลูกข้าวนาปรังนั้น ปรากฏว่ามีชาวนาหลายจังหวัดปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว และหากฝนไม่ตก น้ำไม่พอ โอกาสที่จะเรียกร้องขอใช้น้ำปลูกข้าวย่อมเกิดขึ้น และเมื่อใดเกิดการร้องขอ แต่รัฐบาลให้ไม่ได้ โอกาสเกิดการกระทบกระทั่งย่อมมีสูง เช่นเดียวกับภัยแล้งที่ทำให้สัตว์ป่าไม่มีน้ำกิน สัตว์บางประเภทอาจออกมาจากป่า เข้าไปในพื้นที่ชุมชนเพื่อหาน้ำ และอาจเกิดการทำร้ายสัตว์ หรือสัตว์ทำร้ายคนได้ ซึ่งความขัดแย้งหรือภัยต่างๆ ที่อาจตามมาเช่นนี้เป็นสิ่งที่ควรป้องกัน

ในการป้องกันผลกระทบอันเกิดจากภัยธรรมชาติ อาทิ น้ำท่วมหรือภัยแล้ง เป็นสิ่งที่ภาครัฐมิอาจปัดไปให้พ้นตัวได้ยาก รัฐบาลจำเป็นต้องจัดการปัญหาเพื่อให้สังคมเกิดความสงบ เมื่อครั้งที่ประเทศไทยประสบมหาอุทกภัยปี 2554 การจัดการปัญหาน้ำท่วมเกิดปัญหาซ้ำซ้อนเรื่องข้อมูลที่จะนำไปสู่การตัดสินใจไม่มีเอกภาพ ไม่ทันสมัย ทำให้ไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด จนเป็นเหตุให้รัฐบาลจัดตั้งศูนย์กลางขึ้นมาจัดการข้อมูล มีโครงสร้างของศูนย์ในระดับต่างๆ จากส่วนกลางสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น มาบัดนี้ภัยธรรมชาติเปลี่ยนจาก “น้ำมาก” เป็น “น้ำน้อย” ข้อมูลที่มีเอกภาพ ทันสมัย และถูกต้อง ยังมีความจำเป็น ดังนั้น หวังว่าการแก้ปัญหาภัยแล้งที่ไทยกำลังเผชิญหน้าจะไม่ประสบกับข้อมูลล้าสมัยหรือข้อมูลที่สับสนจนกลายเป็นปัญหาต่อการจัดการเหมือนดั่งอดีตที่ผ่านมา

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image