ขอโทษพี่หมอ!

มองเหตุผลปลดกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (บอร์ด สสส.) 7 คนอย่างผิวเผิน พอเข้าใจได้ในข้ออ้างหลักธรรมาภิบาล และเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

แต่ถ้ามองลึกลงไปถึงข้อเท็จจริงหลายประการแล้ว เห็นชัดเจนว่าการปลดบอร์ดนั้นมีเหตุผลเบามาก

ประการแรก บอร์ด สสส.หลายคนลาออกจากตำแหน่งในมูลนิธิทันทีที่รับงานใน สสส. เช่น สงกรานต์ ภาคโชคดี และวิเชียร พงศธร ลาออกก่อนรับตำแหน่งบอร์ด สสส. แต่ทั้งสองโดนปลดด้วยข้อหาผลประโยชน์ทับซ้อน?

ประการที่สอง บอร์ดไม่มีส่วนพิจารณาหรืออนุมัติโครงการ มีเพียงแค่ต้นทุนในมูลนิธิซึ่งอาจมีผลต่อการพิจารณาโครงการอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ทว่าจนบัดนี้ คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ก็ยังไม่สามารถหาหลักฐานการทุจริตมาแบให้สังคมเห็น

Advertisement

เมื่อไม่มีหลักฐานชัดเจนเรื่องทุจริต ข้อหาผลระโยชน์ทับซ้อนจึงเป็นข้ออ้างที่ดูดีเท่าที่รัฐบาลจะหามาใช้กำราบ สสส.ไม่ให้ล้ำกรอบ “อำนาจ” ที่ตัวเองขีดไว้

สาเหตุหลักที่ต้องควบคุม สสส.ผ่าน 3 ขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็น 1.เล็งแก้ไขรัฐธรรมนูญเลิกจ่ายภาษีบาป 2% ให้ สสส. 2.แก้ไขระเบียบการอนุมัติโครงการ 3.ปลด 7 บอร์ด สสส. ทั้งสามขั้นตอนล้วนแล้วเป็นไปเพื่อกำราบ สสส.มิให้เป็น “องค์กรอิสระที่ควบคุมไม่ได้”

หลังจากรัฐบาลทหาร “เชื่อและรู้สึก” ว่าบิ๊กๆ ใน สสส.มีเจตนาปล่อยให้เครือข่ายทำงานขัดหูขัดตา และปัดแข้งปัดขาตัวเอง

Advertisement

เช่น ความไม่พอใจในเนื้อหาข่าวเชิงลึกของสำนักข่าวอิศรา สังกัดสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งรับทุนจาก สสส.จัดหลักสูตรอบรมด้านสื่อ

เช่น ความไม่พอใจกรณีบางมูลนิธิรับงบ สสส.แล้วจัดสรรให้เครือข่ายส่งต่อไปยังนักศึกษากลุ่มหนึ่งจัดกิจกรรมสร้างเสริมประชาธิปไตยกระแทกใจทหาร

หรือกรณีอื่นๆ ที่ฝ่ายเสนาธิการพิจารณาแล้วเชื่อและรู้สึกว่ามีพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล

“เชื่อและรู้สึกว่า” ไม่จำเป็นต้องประมวลจาก “ฐานความจริง” เป็นแค่ “ข่าวกรอง” เป็นแค่ “เขาเล่าว่า” ก็ได้ “เขา” อาจหมายถึงผู้เสียประโยชน์จากการมี สสส.ก็ได้

เมื่อรัฐบาลใช้ความเชื่อและความรู้สึกเข้าควบคุม สสส.มากกว่าจะใช้ “ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ” จึงทำให้งาน สสส.หยุดชะงัก มิหนำซ้ำยังหมางใจกับเครือข่ายภาคประชาสังคมทั่วประเทศ

 

ในที่สุด นายกรัฐมนตรีต้องยอมรับผิด “ขอโทษพี่หมอ” และออกคำสั่งใหม่ให้บอร์ด สสส.ทำงานต่อไปได้ โดยเฉพาะการอนุมัติระเบียบใหม่ก่อนปลดล็อกงบโครงการเพื่อคลี่คลายปัญหาภาคีและผู้เกี่ยวข้องกว่า 4,600 คน ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากโครงการชะงัก เจ้าหน้าที่ไม่ได้รับเงินเดือน

อย่างไรก็ดี เรายังต้องจับตาดูอีกเรื่องที่จะเป็นตัวบ่งชี้ว่า รัฐบาลทหารต้องการสร้างธรรมาภิบาล หรือต้องการควบคุม สสส.กันแน่ นั่นคือกระบวนการคัดเลือกผู้จัดการ สสส. และบอร์ดใหม่ 7 คน

กล่าวเฉพาะผู้จัดการใหม่ กระบวนการสรรหาสิ้นสุดแล้ว มีตัวต็ง 3 คน แต่ไม่มีเด็กเส้นจากฝ่ายรัฐบาล

เหลือที่ต้องจับตาดูคือการสรรหาบอร์ดอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีกระแสข่าวหนาหูว่า บิ๊กสายเศรษฐกิจในรัฐบาลพยายามเสนอชื่อคนจาก 2-3 บริษัทใหญ่ซึ่งมีตำแหน่งในมูลนิธิด้านสังคมเข้ามา เพื่อลดโทนบอร์ดจาก “ฮาร์ดคอร์” ลงเป็น “ซอฟต์คอร์” นัยว่าไม่พิศมัยปฏิบัติการแบบ “เอาเป็นเอาตาย” กับทุนใหญ่

แต่พอข่าวหลุดออกมา แผนนี้จึงชะงักลง เหลือแค่ใครก็ได้ แถมยังไม่ปิดโอกาส 7 คนเดิม

เมื่อพิเคราะห์แผน 3 ขั้นเข้าควบคุม สสส.แล้ว พอเห็นได้ว่ารัฐบาลทหารมิได้มุ่งยึดครอง เพียงแค่ต้องการหวดก้นสั่งสอน 2-3 ที โทษฐานปล่อยปละละเลยให้บางเครือข่ายปัดแข้งปัดขา ก่อนจะปรับแต่งให้เข้ารูปเข้ารอย ลดแรงกดดันจากกลุ่ม “หมั่นไส้คนดี” คลี่คลายข้อกล่าวหา 2 มาตรฐาน จ้องเล่นงานเฉพาะขั้วอำนาจเดิม

และที่สำคัญ ทหารไม่ถนัดงานด้านเสริมสร้างสุขภาวะ ต่างจากเรื่อง “หวย” และ “ยาง” ที่ต้องส่งนายทหารใหญ่มาคุม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image